เรื่องของความเป็นธรรมในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนนั้น ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย ก็ยังคงพูดถึงเรื่องนี้กันอย่างไม่มีทางสิ้นสุด แม้ว่าจะมีการอบรม และให้ความรู้ในเรื่องการบริหารค่าจ้างเงินเดือนมากสักแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ยังมีเรื่องราวของความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นอยู่เสมอมา ส่วนใหญ่ในเรื่องของความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นนั้น มักจะมาจากแนวคิดการบริหารมากกกว่า
เช่น เมื่อเดือน เมษายนที่ผ่านมา มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ 300 บาท ผลก็คือ นายจ้างก็มีการปรับค่าจ้างให้กับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้าง หรือเงินเดือนที่น้อยกว่า 300 หรือ 9,000 บาท ให้ได้เท่ากับที่กฎหมายกำหนด จากนั้นก็ไม่มีการปรับผลกระทบใดๆ เลย ให้กับพนักงานที่เดิมที่เคยได้อยู่ที่ 9,000 บาทอยู่แล้ว ซึ่งส่งผลทำให้พนักงานใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงาน ได้รับค่าจ้างเงินเดือนเท่ากับพนักงานเก่าที่ทำงานมานาน อีกทั้งบางคนก็เป็นพนักงานที่ทำผลงานดีมาตลอด ถ้าถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ผิดเลยครับ แต่ถ้าถามว่า ผิดหลักการบริหารค่าจ้างเงินเดือนหรือไม่ คำตอบก็คือ “ผิดแน่นอนครับ” หลักในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนนั้น มีหลักง่ายๆ แค่เพียง ให้เกิดความเป็นธรรมในการให้ค่าจ้างและเงินเดือนเท่านั้น ซึ่งในลักษณะของความเป็นธรรมนั้น จะประกอบไปด้วยดังนี้
- ความเป็นธรรมภายในองค์กร ความเป็นธรรมภายในองค์กรนี้ก็หมายถึง การสร้างความเป็นธรรมในการจ่ายค่าจ้างเงินเดือน โดยพิจารณาว่า การที่เราจะให้เงินเดือนมากน้อยนั้น จะต้องพิจารณาจากหลักเกณฑ์อะไรบ้าง ซึ่งโดยปกติก็จะพิจารณาจากค่างาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากความยากง่ายของงาน และขอบเขตความรับผิดชอบของแต่ละตำแหน่งงานนั่นเอง เรื่องของการสร้างความเป็นธรรมภายในองค์กร โดยอาศัยหลักในการประเมินค่างานนั้น เป็นพื้นฐานในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนที่สำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่สามารถกำหนดค่างานให้ถูกต้องเหมาะสม และเป็นธรรมแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ โครงสร้างเงินเดือนก็จะไม่เป็นธรรมไปด้วยครับ
- ความเป็นธรรมภายนอกองค์กร หลังจากที่มีการจัดความเป็นธรรมภายในโดยใช้ค่างานเป็นเครื่องมือแล้ว ความเป็นธรรมที่จะตามมาอีกตัวหนึ่งก็คือ ความเป็นธรรมเมื่อเทียบกับบริษัทภายนอก ในส่วนนี้ก็คือ การพิจารณาว่า งานของเราที่มีการประเมินค่างานไว้นั้น เทียบกับบริษัทอื่นๆ ที่มีงานใกล้เคียงกับเราแล้ว เขาจ่ายกันอยู่ที่เท่าไหร่ แล้วเราถึงนำเอาตัวเลขจากการสำรวจนั้นมากำหนดเป็นโครงสร้างเงินเดือนขึ้นมา เมื่อทำได้ดังนี้ เราถึงจะมีโครงสร้างเงินเดือนที่เป็นธรรม ทั้งจากภายในองค์กร และจากภายนอกองค์กร
สิ่งที่เขียนในวันนี้ก็คือ การสร้างความเป็นธรรมในพื้นฐานการกำหนดอัตราค่าจ้างเงินเดือน โดยอาศัยค่างาน และอัตราตลาดมากำหนดว่าเราควรจ่ายเท่าไหร่ อย่างไร แต่ยังมีความเป็นธรรมอีกด้านหนึ่งก็คือ ความเป็นธรรมในเรื่องของการให้รางวัลผลงาน จะทำอย่างไรที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของรางวัลผลงาน ไว้มาอ่านต่อในวันพรุ่งนี้นะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น