วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในการบริหารค่าจ้างเงินเดือน


ประเด็นเรื่องของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนนั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่เรื่องของการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับพนักงานทุกระดับ พนักงานจะต้องมีความรู้สึกว่า การบริหารค่าจ้างเงินเดือนของบริษัทนั้นเป็นธรรม และไม่รู้สึกว่ากำลังถูกบริษัทเอาเปรียบในเรื่องของการจ่ายค่าจ้างเงินเดือน แต่ในทางปฏิบัตินั้น ยังมีองค์กรอีกมากที่ไม่ค่อยใส่ใจในเรื่องของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนให้เป็นธรรม ทำแค่เพียงจ่ายค่าจ้างให้ตามที่ควรจ่าย มองพนักงานว่าเป็นเพียงเครื่องจักรที่เข้ามาใช้แรงงานแลกกับค่าแรงเท่านั้น
ความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนนั้น มีอะไรบ้างลองมาดูกันนะครับ
  • กำหนดค่าจ้างกันเอง กรณีแรกที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนก็คือ การที่บริษัทให้ผู้จัดการแต่ละฝ่ายมีสิทธิในการกำหนดเงินเดือนให้กับพนักงานที่รับเข้ามาได้เองเลย โดยที่ไม่ต้องใช้โครงสร้างเงินเดือนกลางของบริษัท ผู้จัดการแต่ละฝ่ายก็ลุยกันเองเลยครับ ต่างคนต่างกำหนดเงินเดือนให้กับพนักงานตามที่ตนเองเห็นสมควร ผลก็คือ การจ่ายค่าจ้างเงินเดือนของบริษัทก็ไม่มีมาตรฐานกลาง พนักงานที่ทำงานที่มีค่างานใกล้เคียงกันแต่เงินเดือนกลับไม่ค่อยจะใกล้กันเท่าไหร่ เพราะนายเป็นคนกำหนดตามใจนายนั่นเอง
  • ปรับเงินเดือนหลังพ้นทดลองงาน กรณีในการปรับเงินเดือนหลังพ้นทดลองงานนั้น ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ผมเคยพบมา และทำให้พนักงานแต่ละคนรู้สึกถึงการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกันของบริษัท กล่าวคือ บางคนได้ปรับ บางคนก็ไม่ได้ปรับ เหตุผลก็เหมือนกรณีแรกครับ ผู้จัดการบางคนบอกว่าพนักงานคนนี้ผลงานดีมากสมควรได้ปรับหลังพ้นทดลองงาน แต่บางคนก็ไม่ได้รับการปรับแม้ว่าผลงานจะดีพอกันก็ตาม ในความเห็นผมนั้น จะปรับหรือไม่ปรับ ต้องกำหนดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ปฏิบัติเหมือนกัน ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน หรือขึ้นกับใครก็ตาม เพราะเรื่องแค่นี้ ก็มีผลกับแรงจูงใจของพนักงานอย่างมากเลยนะครับ
  • อัตราเริ่มจ้างตำแหน่งเดียวกัน แต่ไม่เท่ากัน กรณีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการรับพนักงานใหม่เข้ามาทำงาน โดยที่องค์กรไปมองเรื่องของสถาบันการศึกษาที่พนักงานจบมา รวมทั้งอาจจะมองเกรดที่เรียนจบมาด้วย เลยทำให้บางองค์กรมีจ่ายค่าสถาบัน และค่าเกรด โดยเฉพาะคนที่จบเกียรตินิยม คนเหล่านี้จะได้รับเงินเดือนสูงกว่าคนอื่น แม้ว่าจะรับเข้ามาทำงานในตำแหน่งเดียวกันก็ตาม ผลก็คือ พนักงานก็จะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในการจ่ายเงินเดือนเลย เชื่อมั้ยครับ เด็กเกียรตินิยมบางคนยังผลงานสู้เด็กที่เรียนเกรดธรรมดายังไม่ได้เลย
  • ปรับอัตราแรกจ้างใหม่ แต่ไม่ปรับคนเก่า ในกรณีของการปรับอัตราแรกจ้างพนักงานใหม่ตามวุฒิการศึกษานั้น บางบริษัทปรับอัตราใหม่ให้ทัดเทียมกับตลาดมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้เราสามารถดึงดูดและรักษาพนักงานได้ดีขึ้น แต่บริษัทกลับไม่มีการปรับอัตราเงินเดือนให้กับพนักงานเก่าที่เข้ามาทำงาน ผลก็คือ พนักงานใหม่เข้ามาทำงานได้รับเงินเดือนที่สูงกว่าพนักงานเก่าที่ทำงานกับบริษัทมาได้หลายปี ตัวอย่างเช่น เดิมเรารับวิศวกรจบใหม่อยู่ที่ 18,000 บาท วันดีคืนดี ตลาดบอกว่า อัตรานี้ไม่สามารถที่จะดึงดูดวิศวกรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็เลยตัดสินใจปรับอัตราแรกจ้างเป็น 20,000 บาท แต่กลับไม่ปรับคนเก่าที่เคยรับเข้ามาที่ 18,000 บาทก่อน ผลก็คือ เด็กใหม่ที่เข้ามาใหม่ จะได้รับเงินเดือน 20,000 บาท โดยที่พนักงานเก่าได้รับไม่ถึงอัตราแรกจ้างใหม่ นี่ก็คืออีกกรณีของความไม่เป็นธรรมในการบริหารเงินเดือน
  • ขึ้นเงินเดือนตามผลงานแบบเท่าๆ กัน บางบริษัทไม่รู้ว่าจะใช้วิธีไหนในการขึ้นเงินเดือนพนักงานดี ก็เลยตัดสินใจขึ้นเงินเดือนพนักงานให้แบบเท่าๆ กันไป เพราะคิดว่า การให้เท่าๆ กันนั้นเป็นการให้ที่เป็นธรรม เพราะพนักงานทุกคนได้เท่ากัน แต่พนักงานกลับมองว่าวิธีการให้เท่าๆ กันนั้นไม่เป็นธรรม เพราะพนักงานเองเขามองว่าตัวเองทำผลงานได้ดีกว่าคนอื่น แต่ทำไมกลับได้รับการขึ้นเงินเดือนในอัตราที่เท่ากับคนที่ไม่มีผลงาน การทำแบบนี้จะส่งผลในระยะยาวนะครับ กล่าวคือ พนักงานที่มีผลงานดีจะค่อยๆ หายไปจากบริษัท จะเหลือแต่พนักงานที่อยู่ไปวันๆ ไม่ค่อยสร้างผลงานอะไร
  • บริหารเงินเดือนด้วยการเลือกปฏิบัติ ในกรณีนี้ บริษัทบริหารเงินเดือนพนักงานโดยไม่อิงกับมาตรฐานและหลักการบริหารเงินเดือน แต่กลับเลือกปฏิบัติ ให้กับพนักงานแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น มีพนักงานสองคน เงินเดือนชนเพดานทั้งคู่ แต่คนหนึ่งกลับได้รับการขึ้นเงินเดือนตามปกติเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่อีกคนหนึ่งไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนเพราะเหตุผลว่าเงินเดือนตันกระบอกแล้ว การเลือกปฏิบัติสองมาตรฐานแบบนี้มีแต่จะทำให้ระบบบริหารเงินเดือนของบริษัทเสียหาย อีกทั้งยังทำให้พนักงานมองว่าบริษัทไม่มีความเป็นธรรมในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนเลย
  • ขอก็ให้ ไม่ขอก็ไม่ให้ กรณีนี้เกิดขึ้นกับพนักงานบางคนที่เรียกร้องขอเงินเดือนขึ้นเยอะ และพยายามที่จะเข้าหาผู้บริหาร และหัวหน้างานของเงินเดือนขึ้น โดยที่บอกว่าถ้าไม่ขึ้นให้เท่านั้น ก็จะลาออกไปทำงานที่อื่น สาเหตุก็เพราะเชื่อว่าตนเองมีผลงานที่ดี และไม่มีใครที่สามารถทำงานแทนตนเองได้ ในกรณีแบบนี้ถ้าฝ่ายบุคคล หรือนายจ้างขึ้นเงินเดือนให้พนักงานคนนี้ตามที่เขาขอ ก็จะยิ่งทำให้ระบบการบริหารเงินเดือนเราขาดมาตรฐานทันที ถ้าพนักงานคนอื่นรู้ว่าขอแบบนี้แล้วจะได้รับการขึ้นเงินเดือนมากกว่าปกติ พนักงานก็จะแห่กันเข้ามาขอ และขู่ว่าถ้าไม่ได้ก็จะลาออกกันไปตามๆ กัน ถ้าเป็นพนักงานที่ไม่มีผลงานก็ดีไปอย่างเพราะให้ออกไปเลย แต่ถ้าเกิดกับพนักงานที่เป็น Star ของบริษัทแบบนี้ก็จะทำให้บริษัทขาดคนเก่งไปได้นะครับ
ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ผมคิดว่ายังคงมีอีกมากที่ผมอาจจะไม่เคยเจอ หรือไม่เคยพบมาก่อนก็เป็นได้ แนวทางในการแก้ไขปัญหาก็คงต้องอาศัยหลักการบริหารค่าจ้างเงินเดือน รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงจะต้องปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่กำหนดไว้ด้วย ไม่ใช่กำหนดมาตรฐานการบริหารเงินเดือนไว้อย่างดี แต่ผู้บริหารปฏิบัติออกนอกตัวมาตรฐานที่กำหนดไว้ซะเอง แบบนี้ระบบก็จะไม่ศักดิ์สิทธิ์ และจะเกิดความยุ่งยาก และความไม่เป็นธรรมในการบริหารเงินเดือน ผลสุดท้ายก็คือ ระบบเงินเดือนบริษัทไม่สามารถที่จะดึงดูดและรักษาคนเก่ง คนดีไว้ได้เลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น