วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ผลงาน กับพฤติกรรม


เมื่อวานนี้ผมได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับผลงานขององค์กรกับผลงานของพนักงานว่าถ้าจะให้ดีแล้วควรจะต้องไปในทางเดียวกัน เพื่อที่จะได้บริหารผลงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างแท้จริง แต่ในการบริหารผลงานที่ดีนั้น แค่ตัวผลงานด้านเดียวนั้นไม่พอครับ ยังมีอีกด้านหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของผลงาน ก็คือ เรื่องของพฤติกรรมพนักงานนั่นเองครับ
เรื่องของผลงานที่มีหลายองค์กรแยกระหว่างผลงานขององค์กรกับผลงานของพนักงานออกจากกัน ซึ่งทำให้การประเมินผลงาน และการบริหารผลงานแยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก

ในเรื่องของพฤติกรรมก็เป็นเช่นเดียวกับเรื่องของผลงานเลยครับ เราประเมินผลงานทางด้านพฤติกรรมของพนักงานแยกออกจากพฤติกรรมที่องค์กรต้องการจากพนักงานจริงๆ กล่าวคือ บางองค์กรต้องการให้พนักงานมีพฤติกรรมหลักในการทำงานชุดหนึ่ง บางองค์กรอาจจะสร้างขึ้นมาเป็นค่านิยมขององค์กร ยิ่งไปกว่านั้นบางองค์กรพยายามสร้างค่านิยมให้ฝังลงไปในตัวพนักงานให้ได้ เพื่อที่จะให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร แต่กลับจับสิ่งเหล่านี้แยกออกจากกันเป็นส่วนๆ  

มีค่านิยมองค์กร 1 ชุด มี Core competency อีก 1 ชุด ยิ่งไปกว่านั้นในแบบฟอร์มการประเมินผลงานก็มีชุดพฤติกรรมพนักงานที่แยกออกอีก 1 ชุด

พนักงานและผู้บริหารต่างก็งงกันไปหมดว่า ทำไมต้องมีอะไรเยอะแยะกันขนาดนี้ แล้วมีไปทำไม มีไปแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อไป

ท่านผู้อ่านเองเคยสงสัยมั้ยครับว่า ทำไมต้องมีอะไรเยอะแยะไปหมด สังเกตมั้ยครับว่า ทางด้านผลงานพนักงานเราก็จับแยกออกจากกันจากผลงานขององค์กร เวลาที่จะประเมินผลงานพนักงาน ทางด้านพฤติกรรมก็เช่นกัน เราก็ไปจับมันแยกออกจากกันอีก ทั้งๆ ที่เรื่องเหล่านี้ควรจะเป็นเรื่องเดียวกัน หรือไม่ก็มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมต่อกัน

สิ่งที่องค์กรควรจะทำในเรื่องของพฤติกรรมพนักงานในการสร้างผลงาน (ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ตามนะครับ Competency, Behavior, Core Value ฯลฯ) สิ่งเหล่านี้ผมมักจะเรียกมันง่ายๆ ว่า ชุดความรู้ ทักษะ และพฤติกรรมของพนักงานที่จำเป็นจะต้องมีเพื่อให้เกิดผลงานที่ดีนั่นเอง

ชุดพฤติกรรมเหล่านี้มักจะเริ่มต้นด้วยการพิจารณาจาก พื้นฐานขององค์กรเลยครับ ว่า Mission Vision ขององค์กรเราคืออะไร แล้วเราต้องการพนักงานที่มีพฤติกรรมแบบไหนที่จะทำให้องค์กรของเราไปสู่ Mission Vision ที่เราตั้งไว้ได้ ชุดพฤติกรรมนี้บางองค์กรก็จะเรียกว่า Core Competency นั่นเองครับ บางแห่งก็กำหนดออกมาเป็น Core Value ขององค์กรออกมา ซึ่งการที่จะทำให้องค์กรมี Value อย่างที่กำหนด มันก็ต้องไปสะท้อนออกมาจากพฤติกรรมของพนักงานที่ทำงานอยู่นั่นเองครับ

ทั้งหมดที่กล่าวมา เราควรจะนำมาเชื่อมโยงกับระบบการบริหารผลงาน หรือ การประเมินผลงานด้วย เพื่อให้พนักงานมีการสร้างและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้ไปในแนวทางเดียวกับค่านิยมหลักขององค์กรที่กำหนดไว้

 ดังนั้นแบบฟอร์มในการประเมินผลงานในส่วนของพฤติกรรมของพนักงานนั้น ควรจะมาจากพฤติกรรมชุดเดียวกันนี่แหละครับ ไม่ควรจะกำหนดออกมาให้มากมายหลายชุด เพราะคนที่จะงง ก็คือ คนที่เอาไปใช้นี่แหละครับ

 งงไปงงมา ก็เลยไม่ใช้มันซะเลย แล้วสุดท้ายสิ่งที่อุตสาห์ทำมาทั้งหมด ก็เป็นหมันครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น