ทุกวันนี้ เรื่องของ Employee Engagement เป็นเรื่องที่องค์กรขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งจะต้องมีการทำสำรวจความผูกพันของ พนักงานที่มีต่อองค์กร เพื่อที่จะดูว่า พนักงานคิด และรู้สึกอย่างไรต่อองค์กร ต่อผู้นำ และต่อการทำงานในองค์กร ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะได้นำเอาข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาวิธี การในการเก็บรักษาพนักงานมือดีๆ ให้ทำงานกับองค์กรให้ได้นานที่สุด
ผู้บริหาร และผู้จัดการส่วนใหญ่ในองค์กร มักจะมองว่า เรื่องของการสร้างความผูกพันของพนักงานนั้น เป็นหน้าที่ของหน่วยงาน HR และมักจะบอกว่าตนเองไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แต่อย่างใด และเมื่อไหร่ที่มีพนักงานรู้สึกไม่พอใจ และขอลาออกจากองค์กร ก็มักจะมองว่านี่คือความรับผิดชอบของ HR
แต่ในปัจจุบัน ความคิดดังกล่าวได้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป ผู้นำ ผู้บริหาร และผู้จัดการส่วนใหญ่ในองค์กรต่างก็ยอมรับว่า ตนเองมีส่วนในการสร้าง และทำลายความผูกพันของพนักงานในหน่วยงานของตนเองได้ตลอดเวลา (เพียงแต่บางท่านอาจจะไม่ค่อยยอมรับเท่าไหร่) และในการสร้างความรู้สึกผูกพันให้เกิดขึ้นกับพนักงานนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องไปวางระบบอะไรให้ใหญ่โต ส่วนหนึ่งอาศัยการทำงานร่วมกันในแต่ละวัน และการที่หัวหน้ายอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการทำงานบางอย่างบ้าง ก็จะช่วยสร้างความรู้สึกผูกพันของพนักงานได้ไม่ยาก เราลองมาดูวิธีง่ายๆ เหล่านั้นกันว่ามีอะไรบ้าง
- ทำดีก็ต้องชม พฤติกรรมแรกที่จะต้องสร้าง และเปลี่ยนแปลงให้ได้ก็คือ เวลาที่พนักงานทำงานได้ดี มีผลงานที่ยอดเยี่ยม คนที่เป็นหัวหน้าก็ต้องมีการชื่นชมอย่างจริงใจ ไม่ใช่ปล่อยให้พนักงานคิดกันไปเอง หรือบางคนทำดีแทบตายไม่เคยได้คำชมอะไรแต่พอทำไม่ดีเข้าแค่เพียงเรื่องเดียว กลับถูกด่าเสียยกใหญ่
- ให้พนักงานรับทราบว่า เราให้ความสำคัญกับเขา อย่า ลืมให้ความสำคัญกับพนักงานแต่ละคนด้วย ทำให้พนักงานรับทราบว่า ในฐานะที่เราเป็นนายนั้น เราให้การยอมรับและชื่นชมในสิ่งที่เขาทำ บางครั้งอาจจะต้องมีการประกาศ หรืออาจจะเป็นอีเมล์ประกาศให้ทุกคนรับทราบว่า เราในฐานะผู้บริหารนั้น รับทราบว่าพนักงานทุ่มเทเพียงใดในการทำงาน ทั้งนี้ก็เพื่อให้พนักงานรับรู้ว่า ผู้บริหารไม่เคยทิ้งเขา แต่อยู่เคียงข้างเขาเสมอ
- จดจำเหตุการณ์สำคัญๆ ของพนักงาน เรื่อง เล็กๆ แต่เป็นเรื่องที่มีผลต่อจิตใจพนักงานมาก ก็คือ การที่นายสามารถจำวันสำคัญของพนักงานได้ เช่น วันเกิดพนักงาน วันครบรอบปีในการทำงาน วันเกิดลูก ฯลฯ และมีการเตรียมของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ให้
- ฉลองความสำเร็จเป็นระยะๆ ใน การทำงานที่ดี ผู้จัดการมักจะมีการตั้งเป้าหมายเล็กๆ เป็นระยะๆ ไว้ เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายใหญ่ ซึ่งเมื่อไหร่ที่เป้าหมายเล็กๆ นั้นบรรลุ ก็สามารถที่จะจัดฉลองความสำเร็จเป็นระยะๆ ไปได้ เพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าที่เขาได้ลงมือทำงานไปนั้น ตอนนี้มันเริ่มเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้นทุกวันๆ แล้ว พนักงานก็จะรู้สึกถึงแรงจูงใจ และมีพลังที่จะสร้างผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมที่ส่งเสริมความสำเร็จก็เช่น ไปดูหนังด้วยกัน ไปทานข้าวมื้อพิเศษ ไปร้องเพลง ฯลฯ
- สร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน ใน บางครั้งผู้จัดการหรือหัวหน้างานเองก็อาจจะต้องยอมที่จะสร้างความยืดหยุ่นใน กฎระเบียบข้อบังคับการทำงานบ้าง เช่น ถ้าพนักงานทำงานกันดึกดื่นติดๆ กันเพื่อให้งานเสร็จตามแผนงาน พอถึงเวลาที่ส่งงานแล้ว ก็อาจจะให้พนักงานได้หยุดพักในวันรุ่งขึ้น เพื่อตอบแทนความทุ่มเทที่ผ่านมาเป็นต้น หรือยอมให้เข้างานสายกว่าปกติได้เป็นบางครั้งเป็นต้น
- ส่งเสริมการสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี การที่เราส่งเสริมให้พนักงานแต่ละคนจัดสถานที่ทำงาน โต๊ะทำงานได้ตามใจชอบ โดยอนุญาตให้ทำสิ่งที่พนักงานชอบมาตกแต่งให้สวยงาม ทั้งนี้ก็เพื่อให้พนักงานรู้สึกว่ามาทำงานก็ไม่ได้ต่างกับอยู่บ้าน จะได้สบายใจ และมีบรรยากาศที่ดี และสนุกสนานในการทำงานมากขึ้น
- ให้ความเป็นกันเองกับพนักงาน การ ที่ผู้จัดการ หรือหัวหน้างาน สามารถที่จะสร้างความเป็นกันเองกับพนักงานแต่ละคนได้นั้น ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่สามารถสร้างความรู้สึกผูกพันของพนักงานได้อย่างดี เช่น การเดินมาทักทายพนักงานอย่างเป็นกันเอง การมาร่วมทานข้าวกับพนักงาน การเดินแวะเยี่ยมเยียนพนักงานในแต่ละฝ่าย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกถึงความเป็นกันเอง ไม่เครียด และยังสามารถที่จะสร้างทีมงานที่ดีได้อีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น