เรื่องของความเท่าเทียมกัน เป็นเรื่องหลักของการบริหารทรัพยากรบุคคล เพราะเราจ้างพนักงานเข้ามาทำงาน ก็ต้องปฏิบัติต่อพนักงานให้เกิดความเท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อพนักงาน และคำว่าเป็นธรรมนั้น ก็ถูกนำมาใช้ในการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างกว้างขวาง และโดยทั่วไป การที่จะมองอะไรว่าเป็นธรรม หรือ เท่าเทียมกันนั้น ก็มักจะต้องมาจากการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งโดยความคิดของคนทั่วไปนั้น คำว่าเป็นธรรม ก็คือ การที่เราได้อะไรที่พอๆ กัน เท่ากัน ไม่มีใครได้มากกว่า หรือน้อยกว่า
แต่ในบางเรื่องสำหรับการบริหารทรัพยากรบุคคล การที่ได้เท่าๆ กัน กลับทำให้พนักงานรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมได้เช่นกัน มีเรื่องอะไรบ้างที่เวลาที่พนักงานได้เท่าๆ กันแล้ว ทำให้รู้สึกว่าถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
- เงินเดือนที่เท่ากัน ถ้าพนักงานทุกคนในองค์กรได้รับเงินเดือนที่เท่ากันทุกคน ผมเชื่อว่า พนักงานแต่ละคนย่อมจะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมแน่นอนครับ เพราะต่างก็ต้องมีเหตุผลที่บอกว่าตนเองควรจะได้เงินเดือนที่มากกว่าอีกคน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เงินเดือนพนักงานก็จะแตกต่างกันไปตามค่างานของตำแหน่งงาน และผลงานของพนักงานที่ทำได้ในแต่ละปี
- การขึ้นเงินเดือนเท่ากัน ถ้า พนักงานแต่ละคนได้รับเงินเดือนขึ้นที่เท่ากันทุกคน นี่ก็เป็นอีกประเด็นที่พนักงานคงรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียม และไม่เป็นธรรม ทั้งๆ ที่คนให้เงินเดือนขึ้น ก็บอกว่า ทุกคนได้เท่ากันนี่แหละเป็นธรรมที่สุดแล้ว
- โบนัสที่เท่ากัน เรื่อง ของการให้โบนัสพนักงานในอดีต พนักงานส่วนใหญ่ยอมรับว่า ทุกคนเท่ากันได้ แต่ปัจจุบัน พนักงานมักจะเชื่อว่า โบนัสที่ได้นั้น ควรจะสะท้อนผลงานของพนักงานด้วย ดังนั้นการที่ทุกคนได้โบนัสที่เท่ากันนั้น ก็จะทำให้พนักงานรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมด้วยเช่นกัน
- ตำแหน่งเดียวกัน แปลว่า ระดับงานต้องเท่ากัน อีก เรื่องที่ปัจจุบันนี้ เริ่มเกิดความเห็นที่แตกต่างกันในแต่ละองค์กรก็คือ เรื่องของค่างาน Line Manager ในยุคนี้มีความรู้เรื่องของค่างานมากกว่าในอดีตมาก การที่พนักงานในระดับตำแหน่งเดียวกัน เช่นอยู่ในระดับผู้จัดการเหมือนกัน แต่ได้ระดับงานที่เท่ากันนั้น ก็มีกลุ่มผู้บริหารบางคนที่มองว่านี่คือสิ่งที่ไม่เป็นธรรมตามค่างาน เพราะตำแหน่งผู้จัดการเหมือนกัน แต่หน้าที่และความรับผิดชอบ รวมทั้งผลกระทบต่อธุรกิจของตำแหน่งผู้จัดการแต่ละตำแหน่งก็ไม่เท่ากัน บางตำแหน่งรับผิดชอบแค่งาน Admin ธรรมดา บางตำแหน่งต้องดูแลโรงงานทั้งโรงงาน ซึ่งถ้ามีระดับงานเท่ากัน ก็จะทำให้พนักงานรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมได้เช่นกัน
- ผลงานเท่ากัน ถ้า พนักงานทุกคนในองค์กรมีผลงานเท่ากันทุกคน จะรู้สึกอย่างไรครับ ผมคิดว่าสำหรับองค์กรที่เน้นไปที่เรื่องของผลงานจริงๆ พนักงานในองค์กรนี้คงจะรับไม่ได้ เพราะในทางปฏิบัตินั้น มันแทบจะเป็นไปได้น้อยมากที่ผลงานของพนักงานแต่ละคนจะออกมาเท่ากันทุกคน ซึ่งจริงๆ แล้วพนักงานแต่ละคนก็ทำงานต่างกัน มีเป้าหมายการทำงานที่แตกต่างกัน และมี Competency ที่แตกต่างกัน ถึงเวลาทำงาน แต่ละคนก็มีพฤติกรรมในการทำงานที่แตกต่างกันอีกเช่นกัน แต่สุดท้าย หัวหน้างานกลับบอกว่า ทุกคนในฝ่ายได้ผลงานเท่ากันทุกคน แบบนี้พนักงานที่ทำผลงานได้ดีจริงๆ ก็จะรับไม่ได้อีกเช่นกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น