วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อัตราการลาออกของพนักงาน แค่ไหนที่เรียกว่ามีปัญหา


เรื่องของอัตราการลาออกของพนักงานนั้น เป็นตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งที่เกือบทุกบริษัทจะนำมาใช้วัด เพื่อดูว่าพนักงานของบริษัทตนเองนั้นมีอัตราการลาออกอยู่ที่เท่าไหร่ โดยไปเทียบกับอัตราการลาออกของกลุ่มธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน แทบจะทุกบริษัทจะมีการกำหนดเป้าหมายอัตราการลาออกของบริษัทไว้ ว่าจะต้องไม่เกินเท่าไหร่ จากนั้นก็ต้องมีการวางแผนว่าจะต้องทำอย่างไรที่จะให้พนักงานไม่คิดที่จะลา ออกจากการทำงานกับบริษัท


โดยเอาไปเชื่อมโยงกับระบบการธำรงรักษาพนักงานของบริษัท ซึ่งในระยะหลัง ก็มักจะเป็นการสำรวจในเรื่องของความผูกพันของพนักงานที่มีต่อบริษัท เพื่อดูว่า พนักงานรู้สึกผูกพันกับบริษัทหรือไม่ หรือบางแห่งก็สำรวจความพึงพอใจของพนักงานที่มีต่อการทำงานกับบริษัท เพื่อที่จะได้วางแผนและกำหนดแนวทางในการเก็บรักษาพนักงานไว้

บริษัทที่มีความเข้าใจเรื่องของอัตราการลาออกนั้น ย่อมที่จะรู้ดีว่า การที่พนักงานลาออกไป 1 คน มันทำให้ต้นทุนในการบริหารคนนั้นสูงขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนในการสรรหาพนักงานทดแทน ต้นทุนที่จะต้องพัฒนาพนักงาน แถมยังมีเรื่องของค่าเสียโอกาส และความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ บริษัทส่วนใหญ่ก็เลยไม่อยากให้พนักงานของตนเองลาออกจากองค์กร

แต่อย่างไรก็ดี ตัวเลขอัตราการลาออกที่เราคำนวณอยู่ทุกๆ เดือนนั้น บางเดือนสูง บางเดือนต่ำ จนเป็นตัวเลขที่หลายบริษัทรู้สึกกลัวกัน แต่ถ้าเราวิเคราะห์กันให้ลึกๆ แล้ว อัตราการลาออกของพนักงานบางประเภทก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากกว่า จริงมั้ยครับ

ดังนั้นสิ่งแรกที่ทุกบริษัทที่คำนวณอัตราการลาออกนั้น ก็คือ ต้องแบ่งแยกให้ชัดเจนว่า พนักงานที่ขอลาออกไปนั้น เป็นพนักงานแบบไหนกันแน่ เพราะในองค์กรทั่วๆ ไปก็จะมีทั้งพนักงานมือดี โดดเด่น ที่เป็นคนที่มีศักยภาพสูง พนักงานแบบกลางๆ และพนักงานแบบที่ไม่สร้างผลงานอะไรให้กับองค์กรอีกแล้ว พนักงานกลุ่มไหนที่เป็นเป้าหมายของการเก็บรักษาไว้ แล้วเราเก็บรักษาได้ถูกกลุ่มหรือไม่ สิ่งนี้ต่างหากที่ต้องพิจารณาให้ชัดเจน

แล้วแบบไหนที่เรียกว่าเป็นอัตราการลาออกที่มีปัญหา
  • พนักงานส่วนใหญ่ที่ลาออกเป็นพนักงานมือดีของบริษัท ใน กรณีที่อัตราการลาออกของบริษัทไม่สูงเท่ากับที่ตลาดเป็น แต่กลับเป็นว่า พนักงานมือดีของบริษัทค่อยๆ ทยอยกันลาออกไป แบบนี้ แม้ว่าอัตราการลาออกจะไม่สูง แต่ผลกระทบต่อองค์กรนั้นสูงมากทีเดียวครับ ในองค์กรของเราเกิดกรณีแบบนี้ ผมคิดว่าคงต้องรีบหาสาเหตุว่าอะไรเป็นเหตุที่ทำให้พนักงานมือดีพร้อมใจกับตบ เท้าลาออกจากบริษัทกันไปหมด
  • พนักงานลาออกก่อนที่จะได้เริ่มทำงานจริงจัง พนักงานที่เรารับเข้ามาใหม่นั้น เป็นพนักงานที่ผ่านการคัดเลือกและทดสอบจากบริษัท ซึ่งบริษัทเองก็มั่นใจว่านี่เป็นพนักงานมือดีที่เราหาได้มา แต่ถ้าพนักงานใหม่กลุ่มนี้ ทำงานได้ยังไม่ทันไร ก็ขอลาออกกันไป นั่นแสดงว่า จะต้องมีปัญหาอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในองค์กรของเราอย่างแน่นอน
  • พนักงานที่ลาออกเป็นพนักงานที่ถูกพัฒนามาอย่างดี อีกกรณีหนึ่งก็คือ ถ้าพนักงานที่ลาออกนั้นเป็นพนักงานที่บริษัทตั้งใจที่จะปั้น พัฒนา และทำให้เป็นพนักงานที่มีฝีมือ โดยการฝึกอบรม และให้ไปเรียนหนังสือตามที่ต่างๆ อย่างเต็มที่ แต่พอเรียนจบก็พร้อมใจกันขอลาออก (โดยอาจจะยินดีใช้ทุนคืนเป็นเงิน หรืออาจจะมีบุคคลที่สามยินดีใช้ทุนคืนให้)
ทุกบริษัทมีการคำนวณ อัตราการลาออกกันอยู่แล้ว ขอแค่อย่าให้เป็นแค่การคำนวณ โดยไม่ได้พิจารณาถึงกลุ่มพนักงานที่ลาออกว่าเป็นกลุ่มไหนเลยนะครับ อัตราการลาออกที่สูงหน่อย แต่ถ้าเป็นพนักงานที่สมควรจะให้ลาออกไป ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะได้พนักงานใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาบริษัทกันต่อไป
แต่ ถ้าอัตราการลาออกไม่สูงมากนัก แต่คนที่ออกนั้นเป็นกลุ่มคนเก่งของบริษัท ผมว่าแบบนี้น่ากลัวกว่าเยอะครับ คงต้องมาหาสาเหตุกันอย่างเร่งด่วนเลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น