วันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2557

เชื่อหรือไม่ว่า การให้ Feedback สามารถสร้างแรงจูงใจได้


ทุกคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ล้วนต้องการ Feedback จากใครบางคน ท่านผู้อ่านเชื่ออย่างนั้นหรือไม่ครับ คนเราทุกคนต้องการการตอบรับ ต้องการการตอบสนอง และ Feedback สะท้อนกับจากคนอื่นเสมอ ลองพิจารณาตัวเองลึกๆ ดูก็ได้ครับ ว่าจริงๆแล้ว เราไม่ต้องการ Feedback จากใครเลยหรือ เราทำงานคนเดียว และอยู่คนเดียว โดยไม่ต้องมีใครมาให้ผลสะท้อนกลับ ได้จริงๆ หรือ


ใคร ที่มีลูกเล็กๆ สัก 3-4 ขวบ ลองดูแบบนี้ก็ได้ครับ ลองไม่สนใจในสิ่งที่ลูกทำดูสิครับ แกทำอะไร เราก็ไม่สนใจ แกเรียกร้องอะไร เราก็ทำเป็นไม่เห็น ไม่รู้ไม่ชี้อะไรเลย แรกๆ เด็กก็จะทำดี เพื่อที่จะทำให้เราสนใจ พยายามที่จะบอกว่าแกทำดีแล้วนะ แต่ถ้าเรายังไม่ใส่ใจ ไม่สนใจในสิ่งที่แกทำ ไม่นานหรอกครับ เด็กจะเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ จะเริ่มแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดี ขว้างปาของเล่น ตะโกนโวยวายเสียงดัง ทำของเสียหาย ฯลฯ เขาทำไปเพื่ออะไรรู้มั้ยครับ สิ่งที่เด็กต้องการก็คือ Feedback จากพ่อแม่ แม้ว่า Feedback นั้นจะเป็น Feedback ในทางลบก็ตาม กล่าวคือ เด็กอาจจะรู้ว่า ทำแบบนี้จะต้องโดนลงโทษ แต่แกก็ยอม เพราะอย่างน้อยยังมี Feedback มาจากพ่อแม่ว่ายังสนใจแกอยู่ แม้ว่าจะเป็น Feedback ในเชิงลบเด็กก็ยอม ดีกว่าที่จะไม่ได้ Feedback อะไรเลยจากพ่อแม่ เพราะนั่นทำให้เด็กรู้สึกแย่มากๆ เพราะเหมือนถูกทอดทิ้งให้โดดเดี่ยว

ท่านผู้อ่านอาจจะเถียงว่านั่นคือ เด็กๆ แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ล่ะ เอาเข้าจริงๆ แล้ว ผู้ใหญ่เองก็ไม่แตกต่างกันหรอกครับ เวลาเราทำงาน เรามักจะต้องการคนมาตรวจสอบ และคอยบอกเราว่า ที่ทำไปนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร อยากให้คนอื่นมี Feedback กลับมาบ้าง เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าสิ่งที่เราทำไปนั้นมันต้องปรับปรุงหรือพัฒนาอะไรอีกบ้าง

มีการทดลองของนักจิตวิทยาอยู่หลายงานที่พิสูจน์ว่า คนเราล้วนต้องการ Feedback ในสิ่งที่ตนเองทำไป ซึ่ง Feedback เหล่านี้ ก็รวมถึงเรื่องของ Recognition ที่หัวหน้าให้กับลูกน้องของตนเองด้วยเช่นกัน มีการแยกกลุ่มเพื่อทำการทดลองว่า
  • ให้พนักงานกลุ่มหนึ่งแก้ไข ปริศนาอักษรไขว้ โดยให้มีการเขียนชื่อตนเอง และทำเสร็จส่งให้กรรมการและจะมีคนตรวจรวมทั้งแจ้งผลของการแก้ปริศนานั้นว่า เป็นอย่างไร กลุ่มนี้พนักงานทุกคนล้วนต้องการที่จะรับทราบว่าตนเองทำผลงานออกมาได้ดีสัก แค่ไหน โดยดูจากคะแนนที่กรรมการประกาศออกมา พร้อมทั้งตอนประกาศยังมีคำพูดเช่น “ทำได้ดี ทำได้ดีมาก ยังต้องปรับปรุง ฯลฯ” ซึ่งผลก็คือ พนักงานในกลุ่มทดลองนี้ ต่างก็อยากที่จะทำงานให้ดีขึ้น อยากที่จะแก้ปริศนาให้ถูกต้องทั้งหมด โดยทำซ้ำกันต่อไปอีก 10 ครั้ง จึงเลิกทำ
  • พนักงานอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ต้องเขียนชื่อตนเองลงในแบบทดสอบ จากนั้นก็ให้ทำปริศนาอักษรไขว้อันเดียวกัน พอทำเสร็จ กรรมการไม่ตรวจอะไรใดๆ ทั้งสิ้น แต่กลับเอากระดาษแผ่นนั้นหย่อนลงในเครื่องย่อยกระดาษต่อหน้าต่อตาพนักงานแต่ ละคนที่นำมาส่ง ผลคืออะไรทราบมั้ยครับ พนักงานกลุ่มนี้รู้สึกแย่มากๆ เพราะไม่ได้ Feedback อะไรกลับมาเลย อีกทั้งยังไม่ได้รับการสนใจใดๆ จากกรรมการอีกด้วย ผลก็คือ เขาทำได้แค่เพียง 3 ครั้งก็เลิกทำ
จากการทดลองคล้ายๆ แบบนี้ในอีกหลายเรื่อง ก็เป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า คนเราทุกคนล้วนต้องการผลสะท้อนกลับจากใครบางคน ซึ่งอาจจะเป็น สามี ภรรยา ลูก พี่ น้อง นาย หัวหน้า ลูกน้อง ฯลฯ แล้วแต่ว่าเราอยู่กับใคร และทำอะไรอยู่

ถ้าในการทำงาน พนักงานเองก็ต้องการ Feedback จากหัวหน้า จากเพื่อนร่วมงาน จากลูกน้อง ของตนเอง ฯลฯ เพื่อที่จะทำให้ตนเองรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าอยู่ มีคนที่คอยบอกว่าเราทำอะไรได้ดี หรือไม่ดี ซึ่งจากจุดนี้เอง ถ้าเราสามารถให้ Feedback แบบสร้างสรรค์กับลูกน้องของเราเองได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ลูกน้องจะมีพลังใจในการทำงานมากกว่า การที่หัวหน้าปล่อยปละละเลย หรือไม่สนใจ ไม่ใส่ใจอะไรเลย จริงมั้ยครับ

การที่หัวหน้าไม่พูดด้วย ไม่สนใจ ไม่คิดที่จะคุยอะไร บอกอะไร หนักไปกว่านั้นยังทำเหมือนกับว่า ตัวเราเองนั้นไม่มีตัวตนอยู่ในบริษัท แบบนี้ผมคิดว่า พลังในการทำงานของพนักงานคนนั้นคงไม่เหลือแน่นอน และในที่สุดพนักงานคนนั้นก็จะไปอยู่ที่อื่น และถ้าพนักงานคนนั้นคือคนที่มีคุณค่าต่อองค์กรล่ะครับ แปลว่า เรากำลังทำให้คนดี มีฝีมือหลุดออกไปจากองค์กรของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายมาก
สิ่งที่เขียนมาทั้งหมด ก็เพื่อจะบอกว่าคนเราทุกคนล้วนต้องการ Feedback ทั้งสิ้น และ Feedback เองก็เป็นสิ่งที่หัวหน้าและผู้จัดการทุกคนสามารถที่จะใช้เป็นเครื่องมือใน การสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานได้ ปกติ ก็จะมี Feedback อยู่ 3 กรณี คือ
  • Positive Feedback หรือ Feedback เชิงบวก ซึ่งเป็นสุดยอดปรารถนาของพนักงานทุกคน ถ้าเราทำงานแล้วเราได้รับคำชม ได้รับคำนิยมชมชอบจากหัวหน้า และจากเพื่อนร่วมงาน พลังในการทำงานก็จะเกิดขึ้นทันที ยิ่งไปกว่านั้น เราจะยิ่งอยากทำงานให้ดีมากขึ้นไปอีก
  • Negative Feedback หรือ Feedback ในเชิงลบ เป็น Feedback ที่โดยปกติแล้ว พนักงานไม่ค่อยอยากจะได้รับเท่าไหร่ ยิ่งถ้า Feedback นั้นมีอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวด้วย ดังนั้นการที่เราจะให้ Feedback ในเชิงลบ สิ่งที่ต้องระวังก็คือเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกที่ไม่ดีต้องไปเข้าไป ปะปนมากนัก แต่ให้เพื่อที่จะทำให้พนักงานของเราได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นไปอีก และถ้าพนักงานรับทราบและเข้าใจว่า การให้ Feedback ในเชิงลบนั้นทำให้เขาได้รับการพัฒนามากขึ้น พนักงานเองก็จะเข้าใจและต้องการ Feedback ทั้งบวก และลบ ในคราวเดียวกัน ซึ่งก็จะทำให้พนักงานรู้สึกถึงความใส่ใจของหัวหน้าของตน แรงจูงใจในการทำงานก็จะเกิดขึ้นได้
  • Ignorance ก็ คือการไม่ให้ Feedback อะไรเลย พนักงานทำงานดี ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำงานไม่ดี ก็ไม่เคยพูดอะไรบอกอะไรใดๆ ทำเหมือนกับว่าพนักงานไม่มีตัวตนอยู่ในบริษัท ลักษณะ Feedback แบบนี้ไม่มีใครต้องการเลยครับ มันเหมือนกับการที่เราถูกทิ้งให้เคว้งคว้างอยู่คนเดียว โดยไม่มีที่พึ่งใดๆ แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ พนักงานคนนั้นก็จะเริ่มทำในสิ่งที่ผิดมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลก็คือ ทำผิดก็ไม่มีใครมาว่ากล่าวอะไร ก็ทำต่อไป เพราะทำผิดทำง่ายกว่าการทำถูก หรืออีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ทำผิดให้มากขึ้นเพื่อให้นายหันมามองบ้าง ดุด่าก็ยังดี เพราะยังดีกว่าการที่ถูกปล่อยเกาะแบบนี้ (เหมือนกรณีของเด็ก 3 ขวบไงครับ)
แล้วท่านเองล่ะครับ จะเลือกให้ Feedback พนักงานแบบไหนดีครับ ฝากประโยคนี้ไว้หน่อยนะครับ

Any feedback, even negative feedback, is better than no feedback.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น