วันจันทร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2557

เรามองทรัพยากรบุคคลว่าสำคัญที่สุดจริงๆ หรือ

empretention 

เมื่อสองวันก่อนได้พบกับญาติห่างๆ คนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กๆ มีพนักงานอยู่ประมาณ 50-60 คน แกมาคุยให้ฟังว่า เพิ่งซื้อรถใหม่มาคันหนึ่ง และมีแผนที่จะต่อเติม โมดิฟายรถคันนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งมีการวางแผนเพื่อที่จะนำรถเข้าตรวจสอบตามระยะอย่างเคร่งครัด เพราะอยากให้รถคันนี้สามารถใช้งานไปได้นานๆ จริงๆ ญาติผมท่านนี้ก็มีรถมาแล้วหลายคัน แต่ละคันแกดูแลอย่างดี เรียกว่ารักรถมากมาย ต้องมีคนล้างรถให้ทุกวัน ฝุ่นต้องไม่ให้มีเลย อีกทั้งยังต้องหมั่นตรวจสอบสภาพของรถในทุกจุด ไม่ให้มีอะไรเสียหายเด็ดขาด เรียกกว่าตรวจเช็คระยะถี่กว่ามาตรฐานปกติที่ต้องทำกันก็คือตามระยะทาง หรือตามระเวลาว่าอย่างไหนถึงก่อน


แต่สิ่งที่ตรงข้ามกับเรื่องรถก็คือ เรื่องของการบริหารคนในธุรกิจของแก แกจะเป็นเจ้าของที่ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับคนมาก แต่พอเอาเข้าจริงๆ กลับไม่เห็นความสำคัญอะไรเลย เรียกว่าเวลาเจอกัน แกมักจะถามถึงเรื่องของการบริหารคน ว่าจะต้องทำอย่างไรดี ตั้งแต่เรื่องของการสรรหาคัดเลือก การพัฒนาพนักงาน การบริหารค่าจ้างเงินเดือน ฯลฯ

ผมเองก็ให้คำแนะนำไปบ้าง ตามฐานะญาติกัน ก็หวังว่าแกจะนำไปทำให้การบริหารคนในธุรกิจของแกดีขึ้น แต่จริงๆ แล้วแกไม่เคยเอาคำแนะนำที่ได้ ไปใช้จริงๆ เลยสักนิด ตั้งแต่เรื่องของ
  • การสรรหาคัดเลือกพนักงาน ก็ไม่เคยคิดที่จะหาพนักงานเก่งๆ เข้ามาทำงานเลย คิดแต่เพียงกว่า พนักงานเก่งๆ นั้นขอเงินเดือนสูงมาก ไม่อยากให้มีต้นทุนเรื่องค่าจ้างที่สูงเกินไป อีกทั้งพนักงานเก่งๆ นั้นบริหารยากมาก ก็เลยไม่อยากให้เข้ามาทำให้เกิดปัญหาในการทำงานในระยะยาว ผมเองกลับคิดในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ พนักงานเก่งๆ แม้ว่าจะต้องการค่าจ้างสูง แต่ผลงานก็จะสูงไปด้วย ถ้าเราบริหารจัดการเขาดีๆ พนักงานคนนี้จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในการทำงานได้อย่างดี โดยที่เจ้าของกิจการอาจจะเหนื่อยน้อยลงด้วยซ้ำไป
  • การพัฒนาพนักงาน ญาติ ผมคนนี้ ไม่เคยส่งพนักงานไปฝึกอบรม และไม่เคยที่จะคิดจัดฝึกอบรมภายในให้กับพนักงานในเรื่องของการพัฒนาทักษะ ความรู้ในการทำงานอะไรเลย แกเคยสอบถามหลักสูตรจากผม ซึ่งผมก็บอกว่ามีค่าใช้จ่ายในการจ้างอาจารย์ที่รู้เรื่องนั้นๆ เพื่อไปสอน แกบอกว่างั้นคิดดูก่อน เพราะด้วยความคิดแบบนี้เองที่ทำให้แกต้องเหนื่อยอยู่ทุกวัน เพราะพนักงานส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับการพัฒนาอะไรเลย การทำงานก็เลยเหมือนเดิมกับเมื่อสิบปีที่ผ่านมา พนักงานทำงานแบบเดิมๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ดูแล้วก็เหนื่อยแทนแกเหมือนกัน
  • การบริหารค่าจ้างเงินเดือน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พยายามที่จะกดราคาค่าจ้างพนักงานลงเรื่อยๆ เวลามีพนักงานมาสมัครงาน ก็ต้องขอต่อเงินเดือนจากที่ขอมาลงไปอีก เรียกว่าต้องการจ่ายให้ถูกที่สุดเท่าที่จะจ่ายได้นั่นเอง โดยไม่สนใจว่าค่าจ้างที่จ่ายให้นั้น จะจูงใจหรือไม่จูงใจพนักงาน มีแค่ความคิดที่ว่า จ่ายค่าจ้างให้แล้วก็ต้องทำงานให้คุ้มกับค่าจ้างที่ได้รับไป
ส่วนเรื่องของการบริหารทรัพยากรบุคคลในเรื่องอื่นๆ นั้น ก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญ และใส่ใจเท่าไรนัก
แต่ถ้าเป็นเรื่องรถยนต์ที่แกชอบ หรือเรื่องของเครื่องจักรในโรงงานของแก จะตรงกันข้ามเลยครับ
  • จะต้องหารถยนต์ และเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด เวลาจะซื้อ จะต้องเลือก ต้องพิจารณาอย่างดี แพงแค่ไหนก็ไม่ว่า แต่ขอให้ซื้อมาแล้วสามารถใช้งานได้อย่างดี เครื่องจักรในโรงงานก็เช่นกัน ต้องลงทุนไปดูงานการใช้งานเครื่องจักรยี่ห้อนั้นๆ ต้องสอบถามผู้เชี่ยวชาญว่าถ้าซื้อมาแล้วคุ้มค่ากับการผลิตจริงๆ หรือไม่ เรียกกว่าแพงไม่ว่า แต่ขอให้คุ้มค่า ลองเทียบกับการสรรหาคัดเลือกพนักงานดูสิครับ ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง
  • มีการวางแผนซ่อมบำรุงเชิงป้องกันอย่างเข้มงวด เครื่อง จักรทุกเครื่อง และรถทุกคันจะมีการวางแผนการซ่อมบำรุงเชิงป้องกัน ว่าในแต่ละวันนั้นจะต้องทำอะไรบ้าง จะต้องหยุดเครื่องจักรเครื่องไหน เพื่อทำการ Preventive Maintenance บ้าง อย่างเคร่งครัด แผนจะต้องทำให้ได้ทุกแผนห้ามหลุดเด็ดขาด เรียกว่าดูแลเครื่องจักรและรถยนต์ดีกว่าพนักงานในบริษัทด้วยซ้ำไป
  • ลงทุนเพื่อซ่อมเวลาเครื่องจักรเสีย เวลา ที่เครื่องจักรเกิดความเสียหายจริง แกจะเป็นเดือดเป็นร้อนมาก ต้องรีบหาทางซ่อมบำรุงเพื่อให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม ไม่ว่าจะแพงสักเท่าไหร่ อะไหล่จะหายากสักเท่าไหร่ ก็ต้องหามาให้แกให้ได้
พอมาเทียบกับการบริหารคน ดูแล้วก็อดสงสารพนักงานในบริษัทไม่ได้เลย เพราะปากก็บอกว่า ทรัพยากรบุคคลสำคัญที่สุด แต่เชื่อหรือไม่ว่า ไม่มีนโยบายอะไรในการบริหารคนแม้แต่น้อย
  • การรับพนักงานก็รับแบบ ง่ายๆ ไม่ต้องยุ่งยาก สัมภาษณ์สัก 5 นาทีก็พอแล้ว แต่การเลือกเครื่องจักรกลับเลือกกันเป็นเดือนๆ แถมยังต้องไปดูงานให้มั่นใจอีกว่าเครื่องจักรนั้นใช้งานได้จริง
  • พนักงาน ไม่สบาย ก็ไม่ใส่ใจ การตรวจสุขภาพประจำปีของพนักงาน ก็ไม่มีให้ พนักงานป่วย ก็รักษากันแบบขอไปที ไม่เคยดูแลพนักงานให้ดีเลย ตรงข้ามกับเครื่องจักรที่มีการวางแผนการซ่อมบำรุงป้องกัน มีการดูแลกันอย่างดีทุกวัน แต่กับพนักงานกลับเป็นตรงกันข้าม
ถ้าเราเชื่อว่าทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดจริงๆ ผมเชื่อว่าผู้บริหารระดับสูงขององค์กรก็คงไม่ทำอย่างตัวอย่างที่ผมเล่ามานี้ นะครับ คนเป็นผู้ที่เข้ามาใช้และบริหารเครื่องจักรที่ซื้อมา ถ้าเราหาคนที่ไม่เหมาะสม ไม่มีความรู้ อีกทั้งยังไม่เคยคิดที่จะพัฒนาเขา สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ คนก็จะไม่สามารถบริหารจัดการเครื่องจักรที่ว่าดีๆ นั้นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อยู่ดี อีกทั้งยังจะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นอีกด้วยซ้ำไป

วันนี้องค์กรของคุณดูแลเครื่องจักรดีกว่าพนักงานหรือเปล่าครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น