วันอังคารที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2557

สิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ไม่ควรกระทำเวลาสัมภาษณ์พนักงาน


ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านที่เป็นมนุษย์เงินเดือน (รวมถึงตัวผมเองด้วย) ล้วนต้องผ่านการสัมภาษณ์เพื่อเข้าทำงานกันมาทั้งสิ้น และอาจจะเคยผ่านประสบการณ์ทั้งดี และไม่ดี ในการสัมภาษณ์มาแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผู้สัมภาษณ์ไม่เคยคิด หรืออาจจะคิดน้อยไปนิดนึง ก็คือ พฤติกรรมที่แสดงออกของผู้สัมภาษณ์ในห้องสัมภาษณ์นั้น เป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้สมัครงานคิดได้ว่า ควรจะเข้าทำงานในบริษัทนี้หรือไม่ด้วยเช่นกัน


แปลว่าผู้สมัครงานเองก็ดู และพิจารณาบริษัทที่สมัครงานโดยผ่านจากผู้ที่มาสัมภาษณ์เขาด้วย อย่าคิดว่า บริษัทพิจารณาแต่เพียงฝ่ายเดียว สิ่งที่ได้สอบถามจากผู้ถูกสัมภาษณ์ว่าลักษณะของผู้สัมภาษณ์แบบใดที่เขาไม่ ชอบ และไม่คิดจะเข้าทำงานด้วยเลย ถ้าผู้สัมภาษณ์เองยังคงทำพฤติกรรมแบบนี้แสดงว่าที่บริษัทนี้เอง ก็ไม่น่าจะมีวัฒนธรรมการทำงานที่ดี รวมทั้งหัวหน้างานเองก็ไม่น่าจะเป็นหัวหน้างานที่ดีเช่นกัน ลองมาดูกันว่าพฤติกรรมอะไรบ้างที่ผู้ถูกสัมภาษณ์ไม่ชอบ และคิดว่าผู้สัมภาษณ์เองก็ไม่ควรแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
  • มาสายกว่าเวลานัดหมาย พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเรื่องแรกที่ผู้มาสัมภาษณ์มักจะบ่น และไม่ชอบ ก็คือ การที่นัดเรามาเวลา 9.00 น. แต่กว่าผู้สัมภาษณ์จะเข้ามาก็ปาเข้าไปเกือบ 10.00 น. แล้ว ซึ่งต้องให้รอโดยไม่ได้มีประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย คำถามก็คือแล้วจะนัดมาทำไมเก้าโมง ไม่นัดสิบโมงไปเลย ประเด็นก็คือ ทำไมผู้สัมภาษณ์มักจะไม่ค่อยตรงต่อเวลา ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้สมัครมาสัมภาษณ์สาย ผู้สัมภาษณ์จะรู้สึกไม่ดีต่อผู้สมัครท่านนี้ทันที เพราะจะรู้สึกว่านัดไม่เป็นนัด ไม่ตรงต่อเวลา ดังนั้นอย่าลืมนะครับว่า ผู้สัมภาษณ์เขาก็มองท่านอยู่เหมือนกันว่าตรงเวลาหรือเปล่า ผู้สมัครที่เก่ง และมีความสามารถสูง มักจะเห็นคุณค่าของเวลา และมักจะไม่สนใจบริษัทที่มีผู้บริหารที่ไม่ตรงต่อเวลาแบบนี้เช่นกัน
  • ใช้แววตาและน้ำเสียงเหยียดหยาม พฤติกรรมที่สองที่ผู้สมัครมักจะเจอก็คือ ผู้สัมภาษณ์มีการใช้น้ำเสียงที่ดูถูก เหยียดหยามเล็กๆ เวลาที่ได้พบกับคำตอบที่ไม่ตรงกับใจของผู้สัมภาษณ์ หรือทราบว่าเคยทำงาน หรือเคยมีประสบการณ์ในการทำงานที่ไม่ค่อยตรงใจสักเท่าไหร่ จากนั้นก็จะเริ่มใช้คำถาม และใช้น้ำเสียงที่สร้างความไม่สบายใจให้ถูกสมัครอยู่ตลอดการสัมภาษณ์ ผู้สมัครบางคนบอกว่า ถ้าเป็นคนปิดการสัมภาษณ์ได้ จะปิดและเดินออกจากห้องทันทีเช่นกัน เพราะบริษัทที่มีผู้บริหารแบบนี้ ก็ไม่น่าจะทำงานด้วยอยู่แล้ว ดังนั้นก็ไม่อยากคุยให้เสียเวลา และไม่อยากถูกดูถูกเหยียดหยามไปมากกว่านี้
  • ถามเรื่องส่วนตัวมากเกินไป ใน การสัมภาษณ์นั้น โดยมากเรามักจะสอบถาม เพื่อให้แน่ใจว่าผู้สมัครมีความเหมาะสมกับงานที่เปิดรับเพียงใด ดังนั้นคำถาม ก็มักจะประกอบไปด้วยเรื่องของความรู้ ประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมา รวมทั้งพิจารณาเรื่องของคุณสมบัติต่างๆ ที่เหมาะสมกับงาน แต่คงไม่ใช่เป็นคำถามที่ลงลึกในเรื่องส่วนตัวมากจนเกินไป เช่น “หย่าแล้วหรอ ทำไมถึงหย่า” “เป็นเกย์หรือเปล่า” “ได้ข่าวว่ามีกิ๊กเยอะจริงหรือเปล่า” ฯลฯ คำถามที่ลงลึกส่วนตัวมากเกิน และไม่เกี่ยวกับงาน เป็นสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ไม่ควรจะถาม เพราะจะกระทบต่อความรู้สึกของผู้สมัครอย่างแน่นอน อีกทั้งผู้สมัครก็จะรู้สึกว่า ที่นี่เลือกปฏิบัติต่อพนักงานที่แตกต่างกันออกไป
  • ขอขยับเวลานัดหมายบ่อยๆ ประเด็น นี้ส่วนใหญ่มักจะเกิดก่อนที่จะถึงวันสัมภาษณ์ ก็คือ มีการโทรมาเพื่อขยับวันนัดหมายบ่อยๆ โดยให้เหตุผลว่าผู้บริหารไม่ว่างแล้ว และไม่สะดวกในวันที่เคยนัดไว้ อยากให้มีการเปลี่ยนเวลานัดหมายใหม่ ซึ่งบางครั้งเปลี่ยนแปลงประมาณ 1 ครั้งก็คงไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมาก แต่บางแห่งเปลี่ยนแปลงบ่อยมาก บ่อยจนผู้สมัครรู้สึกถึงการขาดการวางแผนงานที่ดี และรู้สึกถึงการไม่ให้ความสำคัญของผู้บริหารต่อการสัมภาษณ์งานด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าเกิดกรณีแบบนี้ คนเก่งๆ ที่มีความสามารถก็จะไม่สนใจบริษัทนี้อีกต่อไป เพราะรู้สึกว่าถ้าเข้าไปทำงานด้วยก็คงจะเป็นการทำงานที่ไม่มีการวางแผนงาน กันล่วงหน้าอย่างแน่นอน
นี่คือประเด็นที่ผู้สมัครมักจะบ่นให้ ฟังอยู่บ่อยๆ ว่า ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับบริษัทที่ต้องการรับสมัครพนักงาน บริษัทท่านเองก็เช่นกันครับ ลองพิจารณาดูว่าผู้สัมภาษณ์ของบริษัทเราที่เราเลือกไว้นั้น เป็นและมีพฤติกรรมอย่างที่เล่าให้ฟังข้างต้นหรือไม่ ถ้ามีก็คงต้องแก้ไขกัน

เพราะในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่แค่เราในฐานะบริษัทที่เลือกผู้สมัครแต่เพียงฝ่ายเดียวแล้วนะครับ ในทางตรงกันข้าม ผู้สมัครงานเองก็เลือกบริษัทที่จะทำงานด้วยเช่นกัน และสิ่งที่ช่วยให้ผู้สมัครตัดสินใจได้เร็วขึ้นว่าไม่เอาบริษัทนี้แน่นนอน ก็คือ พฤติกรรมของผู้สัมภาษณ์ที่เขาประสบเจอนั่นเองครับ

ถ้าท่านต้องการคนเก่ง และคนที่เหมาะสมกับบริษัทจริงๆ ก็คงต้องมีการแก้ไขในเรื่องเหล่านี้ มิฉะนั้นบริษัท่านเองจะเป็นผู้ที่เสียโอกาสที่จะได้คนเก่งเข้ามาทำงานอีกมาก ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น