มนุษย์เงินเดือนทุกคน ต้องการแค่เพียงงานที่มีเงินเดือนที่เพียงพอที่จะใช้จ่ายในชีวิต แค่นี้จริงๆ หรือ หรือจริงๆ แล้ว เขาต้องการอะไรที่มากกว่านั้น ท่านที่ทำหน้าที่สรรหาคัดเลือกพนักงานเข้ามาทำงานในองค์กร ก็น่าจะพอเห็นภาพว่า ความต้องการของผู้สมัครงานนั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งเท่าที่ผมสอบถามดู ก็หนีไม่พ้นเรื่องของค่าจ้างเงินเดือน สวัสดิการต่างๆ ที่ต้องอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ ไม่น้อยกว่าที่อื่นๆ จึงจะยอมตัดสินใจเข้าทำงาน
แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ ถ้าต้องตัดสินใจเปลี่ยนงานใหม่ อะไรจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ท่านตัดสินใจเลือกบริษัทเข้าทำงาน
จาก งานวิจัยของ LinkedIn’s 2014 report ที่ชื่อว่า Talent Trend ซึ่งสำรวจจากคนทำงานจำนวนกว่า18,000 คนที่ทำงานประจำ ใน 26 ประเทศ เป็นการสำรวจว่าพนักงานที่เป็น Professional Talent ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานนั้นมีอะไรเป็นตัวตัดสินใจว่าจะทำงานกับที่ไหน
- 56% ตอบว่า พิจารณาจากองค์กรที่เป็นองค์กรที่น่าทำงานด้วย (Great Place to work) ก็คือ มีบรรยากาศ สภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมในการทำงานที่น่าทำงานด้วย
- 20% พิจารณาจากตัวสินค้าและบริการ พนักงานอีก 20% ตอบว่าจะพิจารณาจากสินค้าและบริการของบริษัทนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร ดีไม่ดี และมีชื่อเสียงแค่ไหน
- 17% ดูจากพนักงานที่มีชื่อเสียงในองค์กร คือพิจารณาว่าองค์กรนั้นๆ มีใครที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักบ้างหรือเปล่า ถ้ามีก็จะทำงานด้วย
- 7% พิจารณาจากความยิ่งใหญ่ของบริษัทนั้น ๆ ก็คือ ดูจากชื่อเสียง ความมั่นคง และความยิ่งใหญ่ของบริษัทนั้นๆ ยิ่งมีความใหญ่โตมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งน่าทำงานด้วยมากขึ้นเท่านั้น
แต่สิ่งที่พนักงาน พิจารณามากที่สุดก็คือ บริษัทนั้นเป็นที่ที่น่าทำงานด้วยหรือเปล่า หรือที่ภาษาในการสำรวจเขาใช้คำว่า Great Place to work นั่นเอง ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า แล้ว Great place to work นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร เพื่อที่เราจะได้กลับไปพัฒนาองค์กรของเราให้เป็นอย่างนั้นบ้าง
ผมก็เลยนำเอาเรื่องราวในหนังสือชื่อ The Great Workplace เขียนโดย Michael Burchell และ Jennifer Robin ซึ่งได้ทำการวิจัยออกมาและสรุปว่า องค์กรที่น่าทำงานด้วยมากๆ นั้นจะต้องประกอบไปด้วยสิ่งเหล่านี้
- Credibility ผู้ บริหารมีความน่าเชื่อถือ พูดอะไรก็ทำตามที่พูด สัญญาอะไรไว้ ก็ทำตามสัญญา มีความเปิดเผยจริงใจ ไม่มีอะไรปิดบัง หรือมีลับลมคมในระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน และมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการบริหารงานให้องค์กรไปสู่เป้าหมายที่กำหนด เพราะการกระทำเหล่านี้จะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับพนักงาน พอพนักงานมีความเชื่อถือ ก็จะไว้วางใจ พอไว้วางใจ ก็จะเริ่มทำงานอย่างมีความสุข
- Respect มี บรรยากาศของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทั้งผู้บริหารและพนักงาน และหัวหน้างานกับพนักงานต่างก็มีความเชื่อใจกัน ไว้ใจกัน นับถือซึ่งกันและกัน ให้เกียรติซึ่งกันและกันในการทำงาน เข้าใจความคิดของคนอื่น และสามารถที่จะหลอมรวมความคิดของทุกคนเข้าด้วยกันได้ ข้อนี้เป็นผลมาจากข้อแรกด้วยเหมือนกัน ก็คือ เมื่อผู้บริหารมีความน่าเชื่อถือแล้ว พนักงานก็จะเชื่อใจ และให้ความเคารพ รวมทั้งยอมที่จะทำงานให้อย่างเต็มใจ
- Fairness มี บรรยากาศของความยุติธรรมตรงไปตรงมา ไม่ลำเอียง หรือมีพรรคมีพวก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเท่าเทียมกันในเรื่องของการทำงาน การให้ค่าตอบแทน การดูแลพนักงาน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
- Pride มี บรรยากาศของความภาคภูมิใจ ทั้งในงานที่ตนเองทำ และต่อทีมงานที่ตนเองทำงานด้วย อีกทั้งภาคภูมิใจต่อบริษัทที่ตนเองทำงานด้วย ซึ่งการที่จะมีจุดนี้ได้นั้นก็ต้องสร้างมาตั้งแต่ตัวแรกเลยครับ ไม่งั้นความภาคภูมิใจเหล่านี้ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย
- Camaraderie มี บรรยากาศของความเป็นเพื่อน ความอบอุ่นใจที่มาทำงานด้วยกัน มีความสนุกสนานในการทำงาน มีบรรยากาศที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน เป็นพี่เป็นน้องกันในการทำงาน แม้ว่างานอาจจะเครียดบ้าง แต่บรรยากาศเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ซึ่งหลายท่านก็บ่นว่า ก็เรื่องนี้แหละครับที่สร้างยากที่สุดแล้ว แต่อย่างไรก็ดี สร้างยากไม่ได้แปลว่าสร้างไม่ได้เลยนะครับ ก็คงต้องอาศัยเวลา และความมุ่งมั่นตั้งใจของทั้งผู้บริหารและผู้จัดการทุกระดับ ทั้งนี้ก็เพื่อให้องค์กรของเราได้ Talent เข้ามาทำงานเพื่อพัฒนาองค์กรให้ไปสู่อนาคตอันสดใสนั่นเองครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น