ในการสรรหาและคัดเลือกพนักงานใหม่เข้าทำงานกับบริษัทนั้น โดยปกติเราจะพิจารณาจากอะไรกันบ้างครับ โดยทั่วไปก็มักจะมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งไว้อย่าง ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ประสบการณ์ในการทำงาน และคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ ที่ตรงกับการทำงานในตำแหน่งงานนั้นๆ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ท่านเองเคยมองลงไปลึกๆ หรือไม่ว่า เราต้องการพนักงานใหม่แบบไหนกันแน่ ใช่ตามคุณสมบัติที่เราตั้งไว้จริงหรือเปล่า
เรื่องของคุณสมบัติของตำแหน่งงานต่างๆ นั้น เป็นสิ่งดีนะครับ ถ้าเราสามารถกำหนดไว้อย่างชัดเจน เพราะอย่างน้อยมันก็เป็นเกณฑ์ในการช่วยให้เราสามารถที่จะพิจารณาเปรียบเทียบ ว่า คนที่มาสมัครงานกับเรานั้นอย่างน้อยต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง
คำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าผู้สมัครมีคุณสมบัติตรงกับที่เราต้องการแบบว่า 100% เลย คำถามก็คือ เราจะรับทันทีเลยหรือไม่ เราจะพิจารณาอะไรเพิ่มเติมอีกหรือเปล่า หรืออีกในกรณีหนึ่งที่มีผู้สมัครที่มีคุณสมบัติตรงเป๊ะกับสิ่งที่เรากำหนด ไว้ 2 คน แล้วเราจะเลือกคนไหนเข้าทำงานถ้าเรามีแค่ 1 อัตรา
คำตอบที่ผมมักจะได้รับก็คือ “ดูว่าพนักงานคนไหนที่เหมาะสมมากกว่ากัน” แล้วคำว่า ความเหมาะสมนั้น แปลว่าอะไรกันแน่
ส่วนใหญ่ก็มักจะตอบว่า เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรเราได้อย่างดี คำถามก็คือ เรารู้เลยหรือว่า พนักงานคนไหนเข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรเราได้จริงๆ จากการสัมภาษณ์แค่เพียงประมาณ 1 ชั่วโมง หรือน้อยกว่านั้น
มานั่งพิจารณากันลึกๆ แล้ว ผมคิดว่านอกจากคุณสมบัติที่ตรงกับสิ่งที่เรากำหนดไว้แล้ว คนที่เลือกพนักงานใหม่เข้าทำงานจะมองหาสิ่งต่อไปนี้มากกว่าการมองแค่ คุณสมบัติที่กำหนดไว้ของตำแหน่งงาน ซึ่งนั่นก็คือ
- เรากำลังดูว่า ผู้สมัครคนนั้นๆ มีความสามารถและมีศักยภาพมากเพียงพอที่จะเรียนรู้งานของเราได้หรือไม่ และได้เร็วสักแค่ไหน รวมทั้งสามารถที่จะมาเรียนรู้งานและนำสิ่งที่เรียนรู้นั้นไปต่อยอดในการ สร้างผลงานที่ดีขึ้นได้สักแค่ไหน
- เรากำลังดูว่า ผู้สมัครคนนั้นๆ จะมีความรับผิดชอบในการทำงานมากน้อยแค่ไหน เขาจะทำงานแบบขอไปที หรือทำงานแบบรับผิดชอบจริงๆ ไม่ทิ้งงาน ไม่ปล่อยปละละเลย และทำงานโดยไม่ที่ไม่ต้องมามีข้ออ้าง หรือข้อแก้ตัวมากมายว่าทำไมงานถึงไม่เสร็จ
- เรากำลังดูว่า ผู้สมัครคนนั้นจะมีความสามารถและศักยภาพมากพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับองค์กรเราได้สักแค่ไหน มีพลัง และความมุ่งมั่นในการทำงานมากน้อยสักแค่ไหน
- เรากำลังดูว่า ผู้สมัครคนนั้นจะสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นในบริษัทของเราได้ดีสักแค่ไหน เข้ามาแล้วจะกลายเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งในการทำงานภายในของเราเองหรือ เปล่า หรือเข้ามาแล้วจะไปขัดแข้งขัดขาคนอื่น ทำให้ทีมงานเสียหายหรือไม่
ดังนั้นในการที่เราจะเลือกพนักงานเข้ามาทำงานในบริษัท ก็คงต้องมองกันให้ลึกในประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น มากกว่าจะเป็นแค่เพียงการ Matching ผู้สมัครกับคุณสมบัติให้ตรงกัน
นั่นแปลว่า ในการสัมภาษณ์ เราจะต้องสัมภาษณ์กันแบบมีโครงสร้างคำถามที่ชัดเจน คำถามที่ถามผู้สมัครทุกคำถามจะต้องมีความหมาย และรู้ว่าถามแล้วเราจะรู้อะไรมากขึ้นบ้าง ไม่ใช่สักแค่ว่าถามไปเรื่อยๆ พอถามจบแล้ว ได้รับคำตอบมาแล้ว กลับไม่สามารถทำให้เรารู้อะไรจากผู้สมัครมากขึ้นไปจากเดิมเลย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น