วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2557

การจ้างพนักงานที่มีคุณสมบัติดีกว่าที่กำหนด จะมีผลอย่างไรบ้าง


เวลาที่บริษัทจะสรรหาและคัดเลือกพนักงานเข้ามาทำงานนั้น สิ่งแรกที่ทางฝ่ายบุคคลต้องทำก็คือ การกำหนดคุณสมบัติของคนที่จะมาทำงานในตำแหน่งนั้นๆ ว่าจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ทั้งในด้านการศึกษา ประสบการณ์ และคุณสมบัติอื่นๆ ที่จำเป็นในการทำงานในตำแหน่งนั้นๆ แต่ถ้าเราได้ผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเกินกว่าที่เรากำหนดไว้ ถามว่า เราจะรับไว้ทำงานหรือไม่



เท่าที่ผมได้ยินได้ฟังมา ก็แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ก็คือ

กลุ่มที่มองว่าไม่ควรจ้างคนเกินกว่าคุณสมบัติ (Over Qualification) เหตุผลที่บอกว่าไม่ควรก็เพราะ
  • คนกลุ่มนี้เนื่องจากมีคุณสมบัติที่เกินกว่าที่กำหนด ดังนั้นเรื่องของค่าจ้างเงินเดือนก็จะขอมากกว่าที่เราตั้งไว้เช่นกัน และการที่เราต้องจ้างพนักงานที่เกินคุณสมบัติก็แปลว่าเราต้องใช้อัตราค่า จ้างที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับงานที่เราคาดหวังไว้ แปลง่ายๆ ว่า เราต้องใช้เงินมากกว่าปกติ เพื่อให้ได้พนักงานที่เข้ามาทำงานในแบบปกติที่เราต้องการ
  • อยู่ทำงานกับเราไม่นานก็จะไป อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ถ้าเราจ้างพนักงานที่มีคุณสมบัติเกินกว่าที่กำหนด สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ พนักงานคนนั้นจะอยู่ทำงานกับเราได้ไม่นาน ก็จะไป เนื่องจากสิ่งที่เราให้เขาทำนั้น มันเล็กกว่าสิ่งที่เขามี คือ เขาจะใช้ความรู้ความสามารถไม่เต็มที่ เมื่อเทียบกับงานที่เราต้องการให้พนักงานทำ ผลก็คือ พนักงานจะรู้สึกถึงความไม่ท้าทาย ไม่มีอะไรใหม่ๆ ที่ยากขึ้นให้ทำ และจะทำงานได้ไม่นาน ก็จะลาออกไป ซึ่งต้องทำให้เราต้องเสียเวลา และเสียงบประมาณในการสรรหาคัดเลือกพนักงานใหม่อีก
กลุ่มที่มองว่าการจ้างคนเกินคุณสมบัติก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะว่า
  • เขาจะสร้างสิ่งที่ดีให้กับบริษัทเรา ถ้าพนักงานคนนั้นมีคุณสมบัติที่เกินกว่าที่กำหนด แปลว่าตัวพนักงานคนนั้นก็ต้องมีสิ่งที่ดี มีประสบการณ์ และความสามารถที่ดี และมากกว่าที่เราต้องการ ดังนั้น ความมากกว่าตรงนี้เอง ถ้าพนักงานคนนั้นนำออกมาใช้ในการทำงานจริงๆ ก็จะทำให้องค์กรได้รับในสิ่งที่ดีขึ้นกว่าการที่จะจ้างพนักงานที่ตรงกับ คุณสมบัติที่เราต้องการ
  • ส่วนในเรื่องของค่าตอบแทนที่ต้อง จ่ายแพงกว่าปกติ แต่ถ้าเขาสามารถสร้างผลงานได้ดีกว่า หรือเหนือกว่าที่เราคาดหวังไว้ มันก็คุ้มกับการที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนที่สูงขึ้นว่าปกติไม่ใช่หรือ
ในกลุ่มที่สองเขามองว่า ด้วยคุณสมบัติของคนที่ดีกว่ามาตรฐานที่เรากำหนดไว้นั้น มันคุ้มมากถ้าเขาเข้ามาแล้วสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับองค์กรได้ แม้ว่าจะอยู่กับองค์กรได้ไม่นานก็ตาม แต่ถ้าเราต้องการให้เขาอยู่นานขึ้น ก็คงต้องมีการขยับขยายพนักงานคนนี้ไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นในอนาคต ให้เหมาะสมกับคุณสมบัติของเรา ถ้าเรามองประเด็นนี้ ก็จะทำให้เกิดผลดีกับองค์กรมากกว่าการที่จะจ้างแค่ตามคุณสมบัติที่เราต้องการ

ท่านผู้อ่านเองอ่านแล้วรู้สึกอย่างไรครับ มีแนวโน้มจะเชื่อกลุ่มไหนมากกว่ากันครับ
ผม เองคิดว่าอยู่ที่สถานการณ์และสภาพแวดล้อมในการทำงานขององค์กรด้วยส่วนหนึ่ง เพราะถ้าเราจะจ้างพนักงานแบบเกินกว่าคุณสมบัติที่กำหนดไว้นั้น สิ่งที่องค์กรจะต้องมี หรือต้องเตรียมความพร้อมก่อนก็คือ
  • ระบบการบริหารค่าตอบแทน ที่จะต้องมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะว่าจ้างพนักงานกลุ่มนี้เข้ามาทำงาน เพราะพนักงานขอเงินเดือนสูงแน่ๆ ด้วยคุณสมบัติที่ดีของตัวเขาเอง แล้วเราจะตอบพนักงาน หรือผู้จัดการคนอื่นอย่างไร เกี่ยวกับเรื่องของค่าตอบแทนที่เขาขอมา ทำงานในตำแหน่งที่ต่ำกว่า แต่ทำไมถึงได้เงินเดือนเทียบเท่ากับตำแหน่งที่ค่างานสูงกว่า นี่คือประเด็นแรกที่จะต้องเตรียมคำตอบไว้ให้ได้ มิฉะนั้นแล้ว ระบบบริหารค่าตอบแทนของบริษัทเราก็จะมีปัญหาทันที
  • ระบบ Career Path พนักงานที่มีคุณสมบัติเกินกว่างานที่ต้องทำ ที่เรารับเข้ามาแล้ว ต้องการให้เขาอยู่ทำงานกับองค์กรให้นาน สิ่งที่องค์กรจะต้องมีก็คือ ระบบ Career Path ที่ชัดเจน และสามารถตอบพนักงานคนนั้นว่า ถ้าอยู่ทำงานกับองค์กร แล้วเขาจะเติบโตไปไหนได้บ้างด้วยคุณสมบัติที่เขามีอยู่ เพื่อที่จะเป็นการรักษาเขาไว้ ไม่ให้ออกไปไหนเร็วนัก เพราะเราเองก็ได้คนเก่ง คนที่มีประสบการณ์ และมีความรู้ที่พร้อมจะทำงานได้มากกว่าที่องค์กรคาดหวังไว้ด้วยซ้ำไป
  • ระบบบริหารผลงานที่ดี คนเก่ง ย่อมต้องการสร้างผลงานที่ดี ดังนั้นถ้าเราอยากจะใช้คนที่ over qualify อย่างมีคุณภาพ ก็แปลว่าเราจะต้องมีระบบการบริหารผลงานที่ชัดเจน มีการตั้งเป้าหมายที่ท้าทายมากขึ้นกว่าเดิม และมีการประเมินผลงานที่เป็นธรรมด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้พนักงานคนนี้สร้างผลงานที่โดดเด่นมากขึ้น เพราะเราก็จ้างเขามาสูงกว่าปกติอยู่แล้ว เราไม่คาดหวังให้เขาทำงานน้อยกว่าสิ่งที่เขามีอยู่ แม้ว่าในตัวงานจะต้องการแค่นั้นก็ตาม แต่เราก็ยังสามารถดึงเอาศักยภาพของพนักงานคนนั้นออกมาได้ด้วยระบบบริหารผล งานที่ดี
  • ระบบการพัฒนาพนักงาน คนเก่ง หรือคนที่มีคุณสมบัติดีกว่าที่ต้องการนั้น ไม่ได้แปลว่าไม่ต้องพัฒนาอีกต่อไป ตรงกันข้าม ยิ่งต้องวางแผนในการพัฒนาต่อยอดในสิ่งที่เขามีอยู่นั้นให้ดีขึ้นยิ่งขึ้นไป อีก บางองค์กรรับคนคุณสมบัติเกินมา แล้วก็คิดว่าด้วยคุณสมบัติที่เกินไปแล้ว ก็แปลว่า ไม่ต้องพัฒนาอะไรแล้ว ซึ่งยิ่งทำให้พนักงานคนนั้นออกจากองค์กรเราเร็วขึ้นไปอีก
ดังนั้นการที่เราจ้างเกิน หรือไม่เกินคุณสมบัติที่เรากำหนดไว้นั้น ก็คงต้องดูจากความจำเป็นของการทำงาน และดูจากระบบภายในของบริษัทเองด้วยว่า ระบบของเราเอื้อให้คนกลุ่มนี้อยู่ทำงานกับเราอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ถ้าไม่พร้อมจริงๆ ก็พยายามจ้างคนให้ตรงกับคุณสมบัติที่เราต้องการก็น่าจะดีกว่าครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น