วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สิ่งที่ผู้จัดการบอกว่ารู้แล้ว แต่ไม่ทำ


ได้มีโอกาสไปพูดคุยและให้ความรู้กับลูกค้าในเรื่องของทักษะในการบังคับบัญชา ก็ได้เจอกับคนที่ดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการทั้งหลายที่ถูกส่งมาเรียนและพัฒนาทักษะในการบังคับบัญชาพนักงาน ซึ่งเวลาที่ทำ workshop ผมก็สังเกตเห็นผู้จัดการอยู่กลุ่มหนึ่ง ที่มักจะมีพฤติกรรมที่แสดงออกบางอย่าง เพื่อทำให้คนอื่นรู้ว่า ตนเองรู้เรื่องเหล่านี้มาหมดแล้ว เรียกได้ว่า อีโก้แรงทีเดียวครับ พอดีได้คุยกับผู้บริหาร ซึ่งเป็นหัวหน้าของผู้จัดการกลุ่มนี้ผมก็ถามว่า ผู้จัดการกลุ่มนี้ มีการนำเอาสิ่งที่เขารู้แล้วไปปฏิบัติจริงๆ ในการทำงานแต่ละวันหรือไม่ คำตอบที่ผมได้จากผู้บริหารก็คือ “ไม่เคยทำอะไรเลย”


ประเด็น ก็คือ เรื่องราวของทักษะการบริหารจัดการ หลักการที่ดีในการบริหารจัดการต่างๆ ที่เราๆ ได้เรียนรู้กันมานั้น จะมีผู้จัดการสักกี่คนที่นำเอามาใช้อย่างจริงจัง มีเรื่องอะไรบ้างที่ผู้จัดการรู้ แต่ไม่ได้ทำจริง
  • การชื่นชมผลงานของพนักงาน ระยะหลังๆ แม้ว่าจะมีการพูดถึงเรื่องของการชมเชยพนักงานที่มีผลงานที่ดี มีความพยายามที่จะทำให้ผู้จัดการ หรือหัวหน้างานหัดที่จะชมพนักงานบ้าง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว หัวหน้าบางคนก็รับทราบว่าดี แต่ไม่เคยชมเชยพนักงานที่ทำผลงานดีเลย
  • การ Feedback ผลงานพนักงาน ผม เชื่อว่าเวลาที่เราเรียนเรื่องการเป็นหัวหน้างานที่ดีนั้น จะต้องมีเรื่องของการตรวจสอบและควบคุมการทำงานของพนักงานให้เป็นไปตามป้า หมายที่กำหนด โดยที่จะต้องแจ้งความคืบหน้าของงาน และบอกถึงผลของการทำงานที่เขาทำให้พนักงานได้รับทราบเป็นระยะๆ ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี จะได้มีการปรับปรุงผลงานกันอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางปฏิบัติ ก็มีหัวหน้างานน้อยคนมากครับ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ Feedback มักจะปล่อยเงียบๆ โดยไม่คิดจะบอกอะไรกับลูกน้องเลยว่าผลงานออกมาเป็นอย่างไรบ้าง ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่า Feedback นั้นมีประโยชน์ในการพัฒนาผลงานของพนักงาน
  • การสอนงาน นี่ ก็เป็นอีกเรื่องที่เวลาถามหัวหน้า ถึงหน้าที่สำคัญๆ คำตอบที่มักจะได้ก็คือ เรื่องของการสอนงานลูกน้อง ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าเรื่องของการสอนงานมีความสำคัญ แต่ในทางปฏิบัติ ก็นับตัวผู้จัดการได้เลยว่า ใครบ้างที่สอนงาน ใครบ้างที่ไม่เคยสอนงานลูกน้องเลย โดยส่วนใหญ่ก็มักจะมีข้ออ้างว่า งานเยอะ ไม่มีเวลา ก็เลยทำให้การสอนงานนั้นกลายเป็นแค่เพียงหลักการที่เราเรียนรู้กันไป แต่ไม่เคยที่จะเอามาใช้งานจริงในการทำงาน
  • การสื่อความอย่างสร้างสรรค์ เรื่อง ของการสื่อความก็เช่นกัน คนเป็นหัวหน้าจะถูกอบรมเรื่องนี้มาเยอะมาก รู้กันหมดว่าการสื่อความจะต้องสื่ออย่างไร ต้องใช้ภาษาพูดอย่างไร ภาษาท่าทางอย่างไร และน้ำเสียงอย่างไร เพื่อให้การสื่อความมีประสิทธิภาพสูงที่สุด แต่สุดท้าย เวลาสื่อความจริงๆ ก็ยังคงใช้อารมณ์ของตนเองเป็นตัวตั้ง หัวหน้าบางคนเรียนมาแล้วทุกอย่างในเรื่องของการสื่อความ แต่สุดท้ายก็ยังคงสื่อแบบที่ตนเองเป็น โดยที่ไม่สนใจว่าจะส่งผลอย่างไรต่อพนักงานบ้าง ถ้าสื่อดี ก็ดีไป แต่ส่วนใหญ่เรื่องผลงานที่ไม่ค่อยดีของพนักงาน หัวหน้าก็มักจะชอบพูดจากประชดประชัด แดกดัน หรือชอบพูดจาเปรียบเปรย เสียดสี ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ดี แต่ก็ยังทำ เพราะมันสะใจดี
  • การทำงานเป็นทีม เรื่อง นี้ก็มีประเด็นเช่นกัน หน้าที่ของหัวหน้าอีกอย่างก็คือ การสร้างทีมงานที่ดี เพื่อให้พนักงานทำงานร่วมกัน การสร้างทีมงานที่ดีก็คือ การที่หัวหน้าจะต้องสร้างบรรยากาศในการทำงานร่วมกันระหว่างพนักงานภายในทีม โดยที่ต้องไม่สร้างความขัดแย้งในทีมเสียเอง เวลามีปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างพนักงานในทีม ก็ต้องทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย และสลายความขัดแย้งนั้นให้ได้ แต่ในทางปฏิบัติผู้จัดการบางคน ก็ยังมีการยุยง ใส่สี ใส่ไข่ พนักงานในทีมให้คนอื่นฟัง มีการนินทาพนักงาน มีการรับฟังคนอื่นแล้วก็เชื่อตามที่คนอื่นกล่าวไม่ดีต่อเพื่อนร่วมงานในทีม เดียวกัน ซึ่งถ้าคนอื่นในทีมรู้ว่า หัวหน้าของตนเองเป็นแบบนี้ ผมเชื่อว่า การทำงานเป็นทีมรับรองว่าไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน หัวหน้าบางคนก็ทะเลาะกันเอง แต่กลับพยายามบอกให้พนักงานต้องทำงานเป็นทีมกันดีๆ แต่ตนเองกลับไม่สามารถทำงานเป็นทีมกับคนอื่นได้
ผมไม่ได้หมาย ความว่า หัวหน้างานหรือ ผู้จัดการทุกคนจะเป็นแบบนี้นะครับ ผมเชื่อว่า ผู้จัดการที่ดี ก็มีเยอะไปครับ และทำมากกว่าสิ่งที่ผมเขียนไว้ด้วยซ้ำไป ซึ่งถ้าใครเป็นผู้จัดการที่ดี ผมเองก็รู้สึกดี และดีใจไปกับลูกน้องของท่านที่ได้ผู้จัดการที่ดี

ส่วนหัวหน้างานและ ผู้จัดการที่คิดว่าตนเองรู้หมดแล้ว ก็ต้องไม่ลืมว่า แค่รู้อย่างเดียวไม่พอครับ จะต้องเอาสิ่งที่รู้นั้นไปปฏิบัติให้เกิดผลจริงๆ ด้วย มิฉะนั้นแล้ว รู้ก็เหมือนไม่รู้อยู่ดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น