เมื่อวานนี้ได้เขียนถึงวิธีการบริหารจัดการของผู้จัดการที่มีต่อลูกน้องที่ผลงาน ไม่ดีว่าทำกันอย่างไรบ้าง วันนี้จะมาต่อในเรื่องที่ว่า ถ้าลูกน้องของเราผลงานออกมาไม่ดี ไม่ได้ตามมาตรฐาน หรือไม่ได้ตามเป้าหมายที่เราต้องการนั้น อะไร และ ใครที่เป็นสาเหตุให้เกิดขึ้นได้บ้าง
โดยปกติแล้ว พนักงานที่เข้ามาทำงานในองค์กร 90% มักจะมีความตั้งใจในการทำงาน และอยากสร้างผลงานที่ดีอยู่แล้ว ถ้าลูกน้องของท่าน ทำงานไปสักพัก แล้วผลงานไม่ออก หรือออกมาไม่ได้ตามเป้าหมาย สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ ตัวผู้จัดการเองที่เป็นหัวหน้าโดยตรงนี่แหละครับว่า มีวิธีการบริหารจัดการอย่างไร ถึงทำให้ลูกน้องตนเองผลงานออกมาไม่ดีได้
- ชี้แจงเป้าหมาย และความคาดหวังหรือไม่ ผู้ จัดการมีการชี้แจงและบอกถึงความคาดหวังในผลงานของพนักงานหรือไม่ ผู้จัดการและหัวหน้างานถึง 75% มักจะไม่ค่อยบอกให้ลูกน้องทราบถึงผลงานที่คาดหวังว่า อยากให้ลูกน้องทำผลงานอะไร อย่างไร แบบไหนที่เรียกว่าดี แบบไหนที่เรียกกว่าไม่ดี พอพนักงานเข้ามาทำงานใหม่ ก็แค่อธิบายงานว่าต้องทำอะไรบ้างเท่านั้น แต่ไม่ได้อธิบายว่า ต้องการให้ทำผลงานออกมาเป็นอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี 2 ปี ฯลฯ พนักงานก็ยังไม่เคยรู้เลยว่า หัวหน้าคาดหวังผลงานอย่างไรกันแน่ การที่เราไม่ได้ชี้แจง หรือบอกความคาดหวังในผลงานพนักงาน ย่อมจะทำให้พนักงานไม่ทราบว่าจะต้องทำผลงานอย่างไร ที่เรียกว่าดี ดีมาก หรือแบบไหนที่เรียกว่าไม่ดี เพื่อที่จะได้ไม่ทำมันต่อไป เมื่อไม่รู้ ก็ย่อมทำงานออกมาได้ไม่ตรงกับที่หัวหน้าคาดหวังอยู่แล้ว
- เคยบอกพนักงานถึงงานที่ผิดพลาดหรือไม่ หัว หน้าถึง 60% ไม่เคยบอกพนักงานเลยว่า ผลงานที่ออกมานั้นเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดีแค่ไหน เวลาผลงานดี ก็ไม่เคยชื่นชม เวลาผลงานไม่ดี ก็ไม่เคยบอก หรือชี้แจงว่าไม่ดี ทำให้พนักเองก็เข้าใจผิดคิดไปเองว่า เมื่อหัวหน้าไม่เคยบอกอะไร ก็แปลว่าตนเองทำงานออกมาได้ดีแน่นอน
- เคยสอนพนักงานหรือไม่ หัว หน้าจำนวนประมาณ 70% ไม่เคยสอนงานพนักงานเลย พนักงานบางคนเข้ามาทำงานวันแรก ก็ไม่เคยพบกับหัวหน้างานของตนเองเลยด้วยซ้ำไป มีแต่ฝ่ายบุคคลที่เข้ามาชี้แจงเกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับ จากนั้นก็พาไปส่งที่หน่วยงาน แล้วก็ปล่อยให้ลุยงานไปตามยถากรรม โดยที่หัวหน้าไม่เคยสอนงาน ไม่เคยบอกวิธีการในการทำงานที่ถูกต้องเลย แต่กลับคาดหวังว่าลูกน้องจะต้องทำผลงานได้ดีอย่างที่ตนเองคาดหวังไว้
- เคยสร้างแรงจูงใจที่ดีให้กับลูกน้องหรือไม่ หัว หน้างานส่วนมากไม่ค่อยอยากจะให้คำชมลูกน้องของตนเอง ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน บางคนก็บอกว่าชมไปแล้วก็กลัวลูกน้องจะเหลิง แต่ส่วนใหญ่เท่าที่สอบถามมาก็คือ ไม่รู้วิธีการชมเชยที่ดี อีกทั้งบางคนก็ปากหนักมาก เพราะพูดชมแล้วรู้สึกเขินๆ ก็เลยไม่พูดดีกว่า แต่เมื่อไหร่ที่ต้องด่า กลับไม่รู้สึกเขิน ด่าออกมาได้ทันที ลักษณะนี้จะทำให้พนักงานขาดแรงจูงใจในการทำงาน เนื่องจากพนักงานเองต้องการแรงจูงใจ และการยอมรับในผลงานจากหัวหน้าของตนเอง พอรู้ว่าทำดีไม่เคยได้ดี ก็เริ่มคิดที่จะไม่ทำดีอีกต่อไป ทำแค่พอประมาณก็พอ แบบนี้ผลงานที่ดีก็ไม่เกิดขึ้นอีกเช่นกันครับ
ดังนั้นคราวหน้าที่พบว่าลูกน้องของตนผลงานออกมาไม่ได้ดั่งใจเรา ให้ถามตัวเองก่อนเลยว่า เราไม่ได้ทำอะไรใน 4 ข้อข้างต้นบ้าง ก่อนที่จะไปโทษว่าลูกน้องผิดเพียงอย่างเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น