วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ฝ่ายทรัพยากรบุคคล กับบทบาทการเป็นมือขวาของธุรกิจ


เมื่อวานนี้ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับว่าพนักงานขององค์กรคุณรู้สึกชอบ หรือไม่ชอบฝ่ายบุคคลของตนเอง ซึ่งจริงๆ แล้วในปัจจุบัน ก็มีหลายองค์กรที่พนักงานเองมองฝ่ายบุคคลว่าเป็นที่พึ่งที่สำคัญในการทำงาน ในองค์กร เวลาที่นายช่วยเหลืออะไรไม่ได้ ก็จะมาหาฝ่ายบุคคลเพื่อขอคำแนะนำปรึกษา นอกจากนั้น ในหลายองค์กรฝ่ายบุคคลเองก็ยังเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จของ ธุรกิจจริงๆ ไม่ใช่แค่เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น


ระยะหลังๆ มีนักบริหารทรัพยากรบุคคลในระดับโลกที่ถือว่าเป็นกูรูสำคัญๆ หลายคนได้ให้แนวทางในการบริหารทรัพยากรบุคคลไว้ว่าจะต้องเป็น Business Partner ก็คือ เป็นมือขวาของผู้บริหารในการสร้างธุรกิจให้เติบโตแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึงจริงๆ แล้วหน่วยงานที่ดูแลทรัพยากรบุคคลนี้ ถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญมากทีเดียว เนื่องจากธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับคนที่เข้ามาทำงานเป็นส่วนใหญ่เลย

ดังนั้นด้วยบทบาทของ HR ในยุคปัจจุบันถึงอนาคต ก็คงจะทำงานแบบเดิมๆ ที่เคยทำมาไม่ได้อีกต่อไป HR ไม่ใช่แค่เพียงทำงานเอกสาร และค่อยต่อต้านพนักงานอีกแล้ว แต่จะต้องเป็นหน่วยงานที่คอยสนับสนุนการทำงานของธุรกิจ และของพนักงาน เพื่อให้ไปด้วยกันได้อย่างดี หน้าที่หลักๆ ของ HR ก็ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากมาย เพียงแต่จะต้องเข้าไปทำความเข้าใจกับธุรกิจมากขึ้น มีการคิดวิเคราะห์ และวางแผนในเชิงกลยุทธ์ทางด้านพนักงานมากขึ้นกว่าเดิม มีอะไรบ้างมาดูกันครับ
  • วางแผนกำลังคน HR ที่ถือว่าเป็นมือขวาของผู้บริหารนั้น จะต้องมองเห็นภาพวิสัยทัศน์ และเป้าหมายของบริษัทอย่างชัดเจน ไม่ใช่แบบสมัยก่อน ที่ HR แทบจะไม่รู้เรื่องอะไรเลย ปัจจุบัน จะต้องมีการวางแผนกำลังคนไปพร้อมกับการวางแผนกลยุทธ์ของธุรกิจเลย ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ถ้าธุรกิจเติบโตไปแบบนี้ เราจะต้องมีกำลังคนเท่าไหร่ ในแต่ละหน่วยงาน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเรื่องของกำลังคนในอนาคตด้วย ไม่เหมือนในอดีตที่ HR เป็นแค่เพียงคนทำงานธุรการ ไม่เคยมองอะไรเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทเลย
  • หาคนเก่งและเหมาะสมเข้ามาทำงาน พอ แผนกำลังคนลงตัวแล้ว สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือ แผนการสรรหาคัดเลือกพนักงานเข้ามาทำงานในองค์กร ซึ่งก็ต้องประกอบไปด้วยแผนตามเป้าหมายในอนาคต และแผนทดแทนตำแหน่งที่สูญเสียไป ในอดีต HR ทำหน้าที่แค่เพียงหาคนให้ได้ ตามวันเวลาที่กำหนดไว้ แต่ปัจจุบันจะต้องมองลึกกว่านั้น กล่าวคือ จะต้องเป็นคนช่วยพิจารณาว่าคนที่หามานั้นมีความเหมาะสมกับธุรกิจของเราหรือ ไม่เพียงใด เพราะถ้าได้คนเก่งแต่ไม่เหมาะสม มันก็ทำงานด้วยกันยาก รังแต่จะสร้างปัญหาในอนาคตมากกว่า ดังในอดีตที่หลายๆ องค์กรเคยประสบกันมาแล้ว ว่าหาแต่คนเก่ง แต่ไม่ดูความเหมาะสมกับวัฒนธรรมขององค์กรเลย สุดท้ายก็ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานร่วมกัน
  • พัฒนาพนักงานให้เป็น Talent นอก จากหาคนเก่งและเหมาะสมแล้ว สิ่งที่ HR จะต้องทำก็คือ ไม่ใช่แค่เพียงหาหลักสูตรฝึกอบรมให้มันครบๆ ตามจำนวนชั่วโมงที่กำหนดไว้ แต่จะต้องลงลึกกว่านั้นว่า เป้าหมายขององค์กรที่กำลังจะมุ่งไปนั้น จะต้องใช้คนที่มีความรู้ และทักษะอะไรใหม่ๆ บ้าง และกำหนดแนวทางในการพัฒนาพนักงานที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้และทักษะด้าน นั้นๆ เพื่อให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดเหตุการณ์ขึ้นก่อน แล้วค่อยมาวางแผนพัฒนา ถ้าเป็นแบบนี้ ยังไงก็ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงแน่นอน HR จะต้องเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้จัดการทุกระดับในองค์กร เพื่อที่จะวางแผนการพัฒนาพนักงานอย่างจริงจัง
  • ดูแลเรื่องของระบบค่าจ้างและสวัสดิการที่เป็นธรรม และแข่งขันได้ เรื่อง นี้ก็เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง ที่จะต้องมีการกำหนดตำแหน่งการจ่ายค่าจ้างของบริษัทให้ชัดเจน ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย และลักษณะของคนที่องค์กรต้องการ ว่าถ้าเราต้องการคนแบบนี้ เราจะต้องไปแข่งขันเรื่องนี้กับองค์กรแบบใด และเรื่องของค่าจ้างและสวัสดิการจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อที่จะสามารถดึงดูด และรักษาคนแบบที่เราต้องการได้ ดังนั้นเรื่องของค้าจ้างเงินเดือน และสวัสดิการ ก็ไม่ใช่แค่เป็นคนทำ Payroll เป็นคนคอยเบิกจ่ายสวัสดิการให้พนักงานอีกต่อไป แต่จะต้องเป็นคนที่สามารถวางแผนและกำหนดนโยบายเรื่องของอัตราค่าจ้างเงิน เดือนและสวัสดิการของบริษัทได้ สามารถที่จะคาดเดาอัตราการเปลี่ยนแปลงเรื่องของค่าจ้างเงินเดือนในตลาดได้ และสามารถที่จะออกแบบระบบค่าจ้างเงินเดือนที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ระบบนี้สามารถที่จะดึงดูด รักษาไว้ และจูงใจพนักงานได้อย่างเต็มที่
  • เป็นตัวกลางในการสร้างความผูกพันของพนักงานในองค์กร เรื่อง นี้ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ กล่าวคือ ในเรื่องของความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรนั้น มีข้อพิสูจน์มาเยอะแล้วว่า ยิ่งพนักงานมีความผูกพันต่อองค์กรมากเท่าไหร่ ผลงานขององค์กรก็จะยิ่งดีขึ้นมากเท่านั้น ฝ่าย HR จะต้องเป็นคนกลาง เพื่อที่จะประสานกับผู้บริหาร และผู้จัดการทุกระดับ ในการที่จะสร้างแนวทางเพื่อสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรให้ได้ จริงๆ แล้วเรื่องของการสร้างความผูกพันของพนักงานในองค์กรนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของ HR แต่เพียงฝ่ายเดียว จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน และผู้บริหารทุกคนในองค์กรอย่างเต็มที่ โดยที่ HR เป็นคนกระตุ้น ส่งเสริม ให้คำปรึกษาหารือ และเก็บข้อมูลเพื่อนำเสนอกับผู้บริหาร
  • เป็นที่พึ่ง และที่ปรึกษาให้กับพนักงานได้ HR ปัจจุบันจะต้องเข้าใจความต้องการของพนักงานมากขึ้น รวมทั้งต้องเข้าใจความต้องการของผู้บริหารและธุรกิจด้วย ดังนั้นจะต้องสร้างความสมดุลในเรื่องเหล่านี้ให้ได้ ไม่ใช่คอยตั้งป้อมกับพนักงานเพียงอย่างเดียว โดยฟังเสียงพนักงานเลย หรือเข้าข้างฝ่ายนายจ้างอย่างเดียว โดยไม่สนว่าลูกจ้างจะเป็นอย่างไร หรือเข้าข้างลูกจ้าง โดยไม่ดูเลยว่า ธุรกิจของบริษัทจะมีผลกระทบสักแค่ไหน ทักษะที่สำคัญมากๆ ในการเป็น HR รุ่นใหม่ก็คือ ทักษะการฟัง ฟังอย่างเข้าใจด้วยนะครับ เพราะด้วยทักษะนี้เอง ที่จะทำให้ HR สามารถที่จะเข้าถึงความรู้สึกของพนักงานได้มากขึ้น และสามารถเอาข้อมูลเหล่านี้ มาใช้ในการปรับปรุงระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลได้อย่างต่อเนื่อง
บทบาทของ HR ในการทำหน้าที่ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จะต้องทำด้วยความเป็นกลางมากที่สุด นอกจากนั้นในปัจจุบันนี้ HR ที่ดีจะต้องมีความยืดหยุ่นในเรื่องต่างๆ มากขึ้น ไม่ใช่ยึดแต่กฎระเบียบข้อบังคับโดยไม่ฟังเหตุผลอะไรใดๆ เลย ระบบงานต่างๆ ในการบริหารจัดการคน ก็ต้องสร้างให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าในอดีต เนื่องจากความต้องการของพนักงานมีความหลากหลายมากขึ้น แตกต่างกันมากขึ้น เราจะสร้างระบบให้สามารถตอบสนองพนักงานที่ต้องการหลากหลายได้อย่างไร ถ้ามัวแต่ยึดระบบแบบเดิมๆ และไม่ยอมให้ยืดหยุ่นได้บ้าง

ถ้าเราสามารถ ทำได้ตามที่เขียนมาข้างต้น ผมเชื่อว่า HR ในองค์กรของเราก็จะเป็นมือขวาของผู้บริหารระดับสูงอย่างแท้จริง และพนักงานเองก็จะมีความเข้าใจบทบาทของฝ่ายบุคคลมากขึ้น และเมื่อเข้าใจกันมากขึ้น ความไม่ชอบ ก็น่าจะน้อยลง และจะกลายเป็นหน่วยงานที่พนักงานทุกคนมักจะเข้ามาปรึกษาหารือทั้งเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัวมากขึ้น เพราะพนักงานรู้ว่า HR เป็นที่พึ่งให้เขาได้นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น