วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ค่าตอบแทนที่ให้ ตอบแทนผลงานจริงๆ หรือ


เมื่อพูดถึงเครื่องมือในการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ใช้สำหรับที่จะรักษาไว้ซึ่ง พนักงานที่เป็นคนเก่งขององค์กรแล้ว ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องของระบบการบริหารค่าตอบแทนขององค์กร โดยเฉพาะระบบการให้รางวัลตอบแทนผลงานของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบการขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงาน ระบบการให้โบนัสประจำปี หรือ แม้กระทั่งระบบ Incentive ที่ให้ตามผลงานของพนักงาน เคยวิเคราะห์และพิจารณาถึงระบบเหล่านี้ของบริษัทตนเองหรือไม่ครับ ว่ามันตอบแทนผลงานจริงๆ หรือไม่ หรือว่าเป็นการให้โดยที่ไม่รู้ว่าตอบแทนเรื่องอะไร แต่พูดให้ดีหน่อย ก็คือ ตอบแทนผลงานพนักงาน


แทบจะทุกบริษัท จะมีเรื่องของการประเมินผลงานพนักงาน เพื่อใช้เป็นข้อมูลและแนวทางในการให้รางวัลตอบแทนพนักงาน แต่ถามกันจริงๆ นะครับว่า ผลการประเมินแต่ละปีที่เอามาใช้ในการขึ้นเงินเดือน หรือให้โบนัสพนักงานนั้น เป็นการประเมินผลงานที่แสดงถึงผลงานของพนักงานแต่ละคนจริงๆ หรือไม่

เท่าที่ผมเห็นมาจากบริษัทต่างๆ ที่อ้างว่ามีระบบการประเมินผลงานที่ดี และนำเอาผลการประเมินมาใช้ในการให้รางวัลนั้น สุดท้ายก็เอาสิ่งต่อไปนี้เข้ามาใช้ในการพิจารณามากกว่าเรื่องผลงานจริงๆ
  • การมาทำงานของพนักงาน เรื่องของเวลาการมาทำงานของพนักงาน มักจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่บริษัทมักจะเอามาใช้ในการพิจารณาว่าผลงานใครดีกว่าใคร ใครที่มาทำงานมากกว่า ขาด สาย ป่วย น้อยกว่า ก็ถือว่าผลงานดีกว่า และจะใช้สถิติการขาด ลา มาสาย มาเป็นตัวตัดสินว่า ใครควรจะได้ขึ้นเงินเดือน และโบนัสมากกว่ากัน โดยที่แทบไม่ได้ดูผลงานจริงๆ ของพนักงานแต่ละคนเลยด้วยซ้ำไป พนักงานบางคน ไม่เคยขาด ไม่เคยสาย ไม่เคยลาป่วยเลยสักวัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผลงานของพนักงานคนนั้นจะดีไปกว่า พนักงานที่ขาดงาน หรือลาป่วยบ่อยๆ มันไม่ได้ตัดสินกันแค่นี้ แต่ส่วนใหญ่ เรื่องของเวลาการทำงานมันเป็นเรื่องที่มองเห็น และวัดกันได้ชัดเจน และใช้เป็นเหตุผลอ้างได้มากหน่อย
  • อายุงานพนักงาน อีกเรื่องที่ตามมาจากเรื่องของการขาด ลา มาสาย ก็คือ เรื่องอายุงานของพนักงานที่ทำงานกับบริษัท บางครั้งประเมินผลงานกันยุ่งแทบตาย แต่สุดท้าย ก็เอาเรื่องของอายุงานพนักงานมาพิจารณาสุดท้าย ว่าใครควรจะได้รับโบนัสมากกว่าใคร ใครที่อยู่กับบริษัทมานาน ก็ถือว่า มีความซื่อสัตย์ และจะใช้เหตุผลนี้ ในการตัดสินว่าใครควรจะได้รับโบนัสมากกว่าใคร ซึ่งในบางกรณี คนที่ทำงานมานานกว่า ก็ไม่ได้แปลว่าว่าผลงานจะดีกว่าคนที่เพิ่งเข้ามาทำงานได้ไม่นาน จริงมั้ยครับ
  • อายุตัวของพนักงาน อีก ประเด็นที่มักจะเอามาใช้เป็นเหตุผลสำหรับอ้างอิงในการให้รางวัล ก็คือ เรื่องของอายุพนักงาน เรียกว่าเป็นระบบอาวุโสกันจริงๆ ใครที่มีอายุน้อยกว่า ก็ต้องยอมให้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า เนื่องจากมีความอาวุโส และมีความน่าเชื่อถือมากกว่า ซึ่งจริงๆ ก็ไม่เกี่ยวกับผลงานอีกเช่นกัน
การ ที่หลายๆ องค์กรใช้เหตุผล 3 ประการข้างต้นในการตัดสินว่าใครมีผลงานดีกว่าใคร และจะได้ให้ค่าตอบแทนที่แตกต่างกันออกไปได้นั้น แปลกันง่ายๆ ได้เลยว่า บริษัทนั้นขาดระบบการประเมินผลงานที่ดีอย่างแน่นอน เพราะถ้าองค์กรใดที่มีระบบประเมินผลงานที่ดีแล้วนั้น เรื่องของ เวลาทำงาน อายุงาน อายุตัว จะไม่นำมาใช้ในการพิจารณาผลงานเป็นหลักอย่างแน่นอน สิ่งที่ต้องพิจารณากันจริงๆ ก็คือ ผลงานที่แท้จริงของพนักงานมากกว่า

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าองค์กรใดที่ใช้เหตุผลเหล่านี้ในการพิจารณาให้รางวัลพนักงาน ก็จะขัดแย้งกับหลักการที่บริษัทพร่ำบอกพนักงานว่า เราจะพิจารณาจากผลงานของพนักงาน แต่เอาเข้าจริงๆ กลับมองผลงานไม่ออก ผู้จัดการและหัวหน้างานส่วนใหญ่ไม่สามารถมองผลงานของพนักงานตัวเองออกเลย ว่าใครทำงานดีกว่าใคร ถ้าเป็นแบบนี้จริงๆ พนักงานเก่งๆ ที่มีความสามารถสูงๆ และสร้างผลงานที่ดีให้กับองค์กร ก็จะไม่มีแรงจูงใจที่จะทำงานที่องค์กรแบบนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากทุ่มเททำงาน สร้างผลงานให้อย่างมากมาย แต่สุดท้าย คนที่ได้รางวัลสูงกว่า กลับเป็นคนที่ไม่ได้สร้างผลงานให้กับบริษัทเลย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ก็เลยทำให้ระบบการให้รางวัล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงาน และการให้โบนัสพนักงานตามผลงาน ไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจูงใจพนักงานให้สร้างผลงานที่ดีอย่างต่อ เนื่องได้ ในทางตรงกันข้าม เงินที่บริษัทจ่ายเพื่อเป็นรางวัลแก่พนักงานนั้น กลับกลายเป็นว่า ทำให้พนักงานที่มีผลงานดี ขาดแรงจูงใจในการทำงาน รู้สึกผิดหวังต่อการบริหารงาน และไม่สามารถรักษาพนักงานกลุ่มนี้ไว้ได้เลย

กลายเป็นว่าองค์กรกำลังจูงใจ และรักษาพนักงานที่ไม่สร้างผลงาน และเป็นการบอกใบ้ทางอ้อมว่า พนักงานที่มีผลงานดี ให้ลาออกไปอยู่กับองค์กรอื่นดีกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น