วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เมื่อพนักงานผลงานไม่ดี หัวหน้าทำอย่างไรกันบ้าง

 

 ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้จัดการแล้ว ย่อมต้องมีลูกน้องที่จะต้องบริหารจัดการ โดยปกติแล้วที่เรามีลูกน้อง หรือผู้ใต้บังคับบัญชานั้น ก็เพื่อที่จะมีคนคอยแบ่งเบาภาระในการทำงานในหน่วยงานของตนเอง เนื่องจากผู้จัดการคนเดียวไม่สามารถที่จะทำได้เองทุกอย่างในหน่วยงาน ดังนั้น สิ่งที่ผู้จัดการทุกคนต้องการก็คือ การที่มีลูกน้องที่สร้างผลงานที่ดีให้กับตนเอง และกับหน่วยงาน ซึ่งจะส่งผลต่อผลงานของผู้จัดการด้วยเช่นกัน แล้วถ้าลูกน้องของเราผลงานออกมาไม่ดีอย่างสม่ำเสมอ เราจะโทษใครดี
โดยปกติผู้จัดการทุกคนย่อมคาดหวังผลงานที่ดีจากลูกน้องของตนเองอยู่แล้ว ไม่มีผู้จัดการคนไหนที่อยากให้ลูกน้องมีผลงานแย่ๆ อย่างแน่นอน แต่ทุกครั้งที่ลูกน้องทำงานออกมาไม่ดี ต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ หรือไม่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ผู้จัดการส่วนใหญ่มักจะ ทำอย่างไรบ้าง
  • ไม่มีการพูดคุยใดๆ กับพนักงาน และแก้ไขงานเอง วิธีนี้เป็นวิธีที่ผู้จัดการหลายคนที่ไม่มีทักษะในการบริหารคนมักจะทำกัน ก็คือ เวลาพนักงานทำงานผิดพลาด สิ่งที่ผู้จัดการจะดำเนินการก็คือ เอางานนั้นมาแก้ไขเอง โดยที่ไม่มีการบอกพนักงานว่างานที่ทำมานั้นถูก หรือ ผิดตรงไหน ผลก็คือ พนักงานไม่เคยรู้เลยว่าตนเองทำอะไรพลาดบ้าง เพราะหัวหน้าแก้ไขให้เรียบร้อย สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ พนักงานก็จะทำงานพลาดมาให้แก้ไขอยู่เสมอ
  • เรียกมาดุด่าว่ากล่าว ตักเตือน นี่เป็นวิธีที่ผู้จัดการส่วนใหญ่ทำกัน กล่าวคือ เมื่อไหร่ที่ลูกน้องของตนเองทำงานออกมาไม่ดีอย่างที่คาดหวังไว้ ก็มักจะเรียกมาตำหนิ เป็นส่วนใหญ่ บ้างก็เรียกมาบ่นๆ หรืออาจจะมีการว่ากล่าวที่รุนแรงใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง โดยที่ไม่สนใจว่าหลังจากที่ด่าแล้วพนักงานจะสามารถทำผลงานได้ดีขึ้นหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ด่าแล้ว ก็บอกว่า ให้ไปแก้ไขมาโดยไม่ได้สอนหรือให้คำแนะนำอะไรเพิ่มเติม คำถามก็คือ แล้วพนักงานคนนั้นจะสามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้จริงๆ หรือ เพราะถ้าเขารู้วิธีการตั้งแต่แรก เขาก็คงไม่ทำผิดส่งมาให้เราหรอกครับ
  • เรียกมาตำหนิ แจ้งข้อผิดพลาด แต่มีการสอนงานเพิ่มเติม วิธีที่ดีขึ้นอีกหน่อยก็คือ หลังจากตำหนิแล้ว ก็มีการให้คำแนะนำเพิ่มเติม เพื่อให้ไปแก้ไขงานมาให้ถูกต้อง แต่วิธีนี้อาจจะมีปัญหาก็คือ ถ้าเราตำหนิลูกน้องด้วยความรุนแรง ด้วยอารมณ์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ ลูกน้องจะตั้งกำแพงขึ้นมาปกป้องตนเอง หรือไม่ก็รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ซึ่งส่งผลให้เวลาที่ผู้จัดการเริ่มสอนงานหลังจากตำหนิไปแล้ว ไม่ได้ผล เพราะลูกน้องปิดใจอยู่ หัวหน้าสอนให้ตาย เขาก็ไม่เปิดใจรับฟัง สุดท้ายก็มาบ่นว่า สอนเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักจำ
  • เรียกมาคุย สอบถามสาเหตุ และสอนงาน วิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด กล่าวคือ ผู้จัดการจะไม่ใช้อารมณ์ จะใช้เหตุผลสอบถามถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยไม่มีการดุด่ารุนแรง แต่จะมุ่งเน้นการพิจารณาหาวิธีการป้องกันและแก้ไขมากกว่า วิธีการเหล่านี้ คือการทำความเข้าใจพนักงานว่าทำไมถึงทำงานผิดพลาด จากนั้น เมื่อเข้าใจแล้ว ก็จะเริ่มสอนและให้คำแนะนำ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้พนักงานยินดีรับฟัง และนำเอาสิ่งที่หัวหน้าสอนไปปฏิบัติได้ดีกว่า
ถ้าจะมองวิธีที่ดีที่สุดก็น่าจะเป็นวิธีสุดท้าย เพราะทำให้ผลงานพนักงานดีขึ้นในอนาคต และแรงจูงใจของพนักงานก็ไม่หดหายไปไหน เพราะมีหัวหน้าที่เข้าใจพนักงาน และพร้อมที่จะทำให้พนักงานได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผลงานออกมาดีขึ้นจริงๆ แต่ในบางองค์กรเรากลับเจอหัวหน้าแบบที่ 1 และ 2 เยอะหน่อย เวลาลูกน้องทำงานไม่ดี ก็แก้ไขงานเอง เพราะไม่อยากจะไปทำให้พนักงานรู้สึกไม่ดี ผลก็คือ ต้องแก้ไขไปเรื่อยๆ  หรือไม่ก็มาแนวด่าจนสะใจ แล้วก็โยนงานให้แก้ไข โดยที่ไม่บอกอะไรเลย  

ถ้าเป็นแบบนี้ เราคงไม่มีทางได้ผลงานที่ดีจากพนักงานคนนั้นอย่างแน่นอนครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น