วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พนักงานที่บริษัท มีพฤติกรรมอย่างนี้บ้างหรือไม่


พนักงานที่ทำงานในองค์กรของเรา ล้วนเป็นคนที่มีความรู้สึกนึกคิด มีความรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว และมีพฤติกรรมในการทำงานในรูปแบบต่างๆ ทั้งในด้านดี และไม่ดี แต่อย่างไรก็ดี ถ้าพนักงานในบริษัทของคุณมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้ ก็ต้องให้พิจารณาให้ดีว่า น่าจะเกิดปัญหาอะไรบางอย่างขึ้นในการบริหารจัดการภายในบริษัท

  • ทำงานยุ่งตลอดเวลา เวลาที่เราเดินผ่านโต๊ะพนักงาน แล้วเห็นพนักงานทำงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หยุดเลย ทำโน่น ทำนี่ พิมพ์งาน รับโทรศัพท์ ง่วนอยู่กับเรื่องราวต่างๆ บนโต๊ะของตัวเอง จนกระทั่งเวลากินข้าวยังแทบจะไม่ได้กินเลย บางครั้งก็ซื้อข้าวขึ้นมากินที่โต๊ะ แต่ก็ไม่ได้กิน วางไว้จนข้าวมันเย็นชืดไปหมด สุดท้ายก็ทิ้ง เพราะงานเยอะจนไม่สามารถปลีกเวลามากินข้าวได้เลย ตอนเย็นก็อยู่ทำงานจนดึกดื่น กว่าจะกลับบ้านก็สี่ห้าทุ่มไปแล้ว ฯลฯ ถ้าพนักงานส่วนใหญ่ในองค์กรของท่านเป็นแบบที่ว่านี้จริงๆ ก็คงต้องระวังเรื่องของความเหนื่อยล้าในการทำงานของพนักงานให้ดีนะครับ เพราะจะมีสักกี่คนที่เป็นมนุษย์เหล็กที่จะทำงานได้โดยไม่ต้องกินอะไร เป็นเวลาหลายๆ วัน ผู้บริหารอาจจะเห็นว่าพนักงานมีความขยันขันแข็ง และอาจจะรู้สึกภูมิใจว่า มีพนักงานที่ดี ทุ่มเททำงานให้กับบริษัท แต่อยากให้มองอีกด้านด้วยนะครับ ก็คือ เขาจะทนได้สักเท่าไหร่ เพราะในระยะยาว การทำงานหามรุ่มหามค่ำแบบนี้ มีแต่จะเกิดผลเสียแก่สุขภาพ และสุดท้ายก็มีผลกระทบต่อผลงานของตนเอง และองค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  • ดูเหมือนงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา อีก กรณีหนึ่ง จะคล้ายๆ กับกรณีแรก แต่จะเป็นในทางตรงกันข้ามเลย ก็คือ พนักงานทำตัวเหมือนกับยุ่งอยู่ตลอดเวลาที่เราเดินผ่านไปแถวๆ โต๊ะทำงาน แต่พอลับตา ก็กลายเป็นดูว่างๆ เดินไปคุยกับคนนั้นที คนนี้ที ทั้งๆ ที่เราเองในฐานะหัวหน้า ก็รู้สึกว่างานของเขาไม่ค่อยจะมากเท่าไหร่ เพราะเราเป็นคนมอบหมายให้ไปเอง แต่ทำไมถึงดูเหมือนยุ่งอยู่ตลอดเวลา ในกรณีแบบนี้ ก็ต้องระวังปัญหาที่ตามมาอีก ที่พนักงานทำพฤติกรรมแบบนั้น อาจจะมีสาเหตุมาจากการที่หัวหน้ามักจะชอบจับผิด และชอบที่บ่นว่าพนักงานว่าไม่มีงานทำหรืออย่างไร พนักงานเองก็ไม่อยากให้หัวหน้าเห็นว่าเขาไม่มีคุณค่า ก็เลยต้องทำตัวเหมือนยุ่งอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้นายมองเห็นว่าเขาทำงานอยู่จริงๆ ไม่ได้ว่าง ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะทำให้องค์กรขาด Productivity ทั้งๆ ที่รู้สึกว่าพนักงานยุ่งมากมาย แต่ทำไม่ผลงานถึงไม่ออกมาสักอย่าง
  • พนักงานเริ่มมาสายมากขึ้นเรื่อยๆ พฤติกรรม นี้มีประเด็นจากพนักงานเดิมที่มาทำงานตรงเวลา หรือก่อนเวลาการทำงาน แต่เริ่มที่จะมาสายมากขึ้นเรื่อย โดยที่ไม่รู้สึกสะทกสะท้านอะไรมากมาย ไม่สนใจว่าจะทำผิดกฎระเบียบของบริษัทแต่อย่างใด กรณีแบบนี้คงต้องพิจารณาให้ดีว่า พนักงานคนนั้นมีปัญหาอะไรในการทำงานหรือเปล่า เพราะจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น แสดงให้เราเห็นว่า น่าจะมีปัญหาทางด้านแรงจูงใจในการทำงานมากกว่า ดังนั้นถ้าหัวหน้าสังเกต และหาทางในการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ก็จะทำให้พฤติกรรมพนักงานคนนั้นกลับมาเหมือนเดิมได้
  • พนักงานลาป่วยบ่อยมากขึ้น พนักงาน บางคนทำงานแบบไม่ค่อยเห็นว่าจะลาป่วยมากนัก แต่ทำงานได้สักพักก็เริ่มลาป่วยบ่อยขึ้น มีการลาป่วยทุกวันจันทร์ หรือวันศุกร์บ้าง หรือบางครั้งนึกจะป่วยก็โทรบอกว่าวันนี้ป่วยไม่สบาย ปวดหัว ตัวร้อน ลา 1 วัน วันรุ่งขึ้นก็มาทำงาน จากนั้นก็ลาป่วยอีก ฯลฯ กรณีแบบนี้ก็สามารถพิจารณาได้ 2 กรณี ก็คือ กรณีป่วยจริงๆ ถ้าเป็นลักษณะป่วยจริง ก็แสดงว่าสุขภาพของพนักงานเริ่มมีปัญหา และน่าจะมีผลต่อการทำงานของพนักงานและต่อองค์กรในระยะยาวได้ ต้องรีบหาทางแก้ไข และอีกกรณีหนึ่งก็คือ ไม่ได้ป่วยจริง แต่ขอลาป่วยบ่อยๆ เนื่องจากเบื่อ และไม่อยากมาทำงาน ขาดแรงจูงใจในการทำงาน ในกรณีนี้ก็มีผลต่อผลงานเช่นกัน แต่คงต้องแก้ไขโดยการเรียกพนักงานเข้ามาพูดคุยถึงสาเหตุของการลาบ่อยๆ ว่าเกิดจากอะไรกันแน่ เพื่อที่จะได้หาทางแก้ไขปัญหาได้ตรงประเด็นมากขึ้น
ปัญหาเรื่องพฤติกรรมพนักงานนั้น มีมากมายหลายกรณี ซึ่งผู้จัดการ และหัวหน้างาน จะต้องสังเกตให้ดีว่าพนักงานแต่ละคนมีพฤติกรรมในการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปใน ทางที่แย่ลงบ้างหรือเปล่า การที่พนักงานมีพฤติกรรมการทำงานที่แย่ลงนั้น ทั้งๆ ที่เดิมก็ไม่เคยเป็นมาก่อน นั่นแสดงให้เราเห็นว่า จะต้องมีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับพนักงานคนนั้นแน่นอน ไม่เรื่องงาน ก็เรื่องส่วนตัว หรือไม่ก็เรื่องของหัวหน้า ซึ่งทำให้เขาขาดแรงจูงใจในการทำงานที่ดีแบบเดิม

ดังนั้นหัวหน้าเองจะ ต้องรีบเข้าไปแก้ไขปัญหา โดยการเป็นที่ปรึกษาแก่พนักงาน รับฟังพนักงานอย่างเปิดใจ ทำความเข้าใจปัญหาของพนักงานคนนั้น และช่วยพนักงานแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้พนักงานเกิดความรู้สึกที่ดีในการทำงาน เกิดแรงจูงใจในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อผลงานของพนักงาน และผลงานขององค์กรในทางที่ดีขึ้นด้วย

แต่ในทางปฏิบัติจริง ก็ยังมีหัวหน้า และผู้จัดการอีกหลายคนที่เพิกเฉยต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ยิ่งไปกว่านั้นบางคน ก็ใช้วิธีการลงโทษพนักงานให้เข็ดหลาบ ซึ่งวิธีการลงโทษนั้นไม่ใช่วิธีการที่จะช่วยแก้ไขพฤติกรรมของพนักงานให้กลับ มาเหมือนเดิมได้เลยครับ

วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดก็คือ เข้าใจพนักงาน และให้ความช่วยเหลือแก่พนักงานอย่างเต็มใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น