วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

คำถามที่ได้รับบ่อยเกี่ยวกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ

 
เดือนเมษายนนี้เป็นเดือนบังคับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นเกือบ 40% ซึ่งทำให้นายจ้างหลายแห่งมีปัญหาในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอย่างมากทีเดียว ในช่วงแรกๆ ก็คือประมาณต้นปีที่ผ่านมา ผมได้เขียนบทความเรื่องวิธีการปรับอยู่หลายบทความ ก็คิดว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่พอถึงเดือนเมษายนเข้าจริงๆ ปรากฎว่า มีหลายบริษัทที่เพิ่งตระหนักว่าจะต้องปรับแล้ว ก็เลยเกิดอาการรีบร้อน และปรับผิดปรับถูกกันอยู่พักใหญ่เลยครับ แต่ก็ยังสามารถทำได้ทันอยู่ แต่ก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้นในอีกหลายๆ แห่ง ที่ยังอาจจะไม่เข้าใจชัดเจนในหลักการการปรับครั้งนี้ ก็เลยขอถือโอกาสเขียนถึงเรื่องนี้อีกครั้งครับ


ประเด็นที่ผมได้รับคำถามมามากหน่อยก็มีดังนี้ครับ
  • พนักงานรายเดือนที่เคยคูณด้วย 30 วัน หลังปรับแล้วจะคูณด้วย 26 วันได้หรือไม่ ประเด็นนี้บอกได้อย่างมั่นใจเลยว่า ไม่ได้ครับ ถ้าพนักงานที่เราจ้างมีเงื่อนไขว่าเป็นพนักงานรายเดือน ได้รับเงินเดือนแล้ว แปลว่า เราจะต้องใช้ 30 วันเป็นตัวคูณเพื่อให้เป็นรายเดือน นั่นแสดงว่า ถ้าอยู่ใน 7 จังหวัดอัตราเงินเดือนขั้นต่ำก็คือ 9,000 บาทครับ ต่ำกว่านี้ไม่ได้ถ้าเป็นรายเดือนครับ ถือว่าผิดกฎหมายครับ
  • ปรับสภาพการจ้างพนักงานรายเดือนเป็นรายวันได้หรือไม่ ประเด็นนี้เกิดจากประเด็นแรกที่กล่าวไป ก็คือ นายจ้างอยากจะจ่ายเงินเดือนให้น้อยกว่า 9,000 บาทนั่นเองครับ ก็เลยมีการปรับสภาพการจ้างของพนักงานรายเดือนให้กลายเป็นรายวัน เพื่อที่จะคูณจำนวนวันที่ทำงานเท่านั้น เช่น ถ้าทำงาน 26 วันในเดือนนั้นก็จะได้คูณด้วย 26 วันก็พอ จริงๆ แล้วประเด็นนี้ก็ผิดกฎหมายอีกเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายแรงงานนั้นถือเป็นกฎหมายมหาชน ซึ่งจะขัดหรือแย้งกับกฎหมายนี้ไม่ได้เลย อีกทั้งถ้าพนักงานได้อะไรที่น้อยลงกว่าเดิมที่เคยได้ ก็ถือว่าผิดอีกเช่นกัน ดังนั้นการที่บริษัทต้องการปรับสภาพการจ้างจากรายเดือนเป็นรายวันนั้น เป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้างด้วย และยังทำให้พนักงานได้ผลประโยชน์น้อยลงด้วย ก็ถือว่าไม่ได้ครับ
  • กฎหมายแรงงานมาตราใดที่บอกว่า 1 เดือนต้องใช้ 30 วัน ประเด็น นี้หลายคนหาไม่เจอนะครับว่าในกฎหมายแรงงานมีกำหนดเรื่องวันทำงานต่อเดือนไว้ ด้วยจริงหรือ จริงๆ แล้วในกฎหมายไม่ได้เขียนตรงๆ แต่ในหมวดที่ 5 เรื่องการคำนวณค่าล่วงเวลา มาตรา 68 เขียนไว้ว่า “เพื่อประโยชน์แก่การ คำนวณค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ในกรณีที่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงใน วันทำงานหมายถึงค่าจ้างรายเดือนหารด้วยผลคูณของสามสิบ และจำนวนชั่วโมงทำงานในวันทำงานต่อวันโดยเฉลี่ย”  เขียนไว้แบบนี้แสดงว่าต้องใช้ 30 เป็นตัวคูณและตัวหารแน่นอนสำหรับพนักงานรายเดือน จะเลี่ยงไม่ได้ครับ
  • เอาเงินได้อื่นมาคำนวณรวมเป็นฐานเงินเดือนได้หรือไม่ ประเด็น นี้ถ้าว่าตามกฎหมายจริงๆ เขาเขียนไว้ชัดเจนมากกว่าเป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คำว่าค่าจ้างก็คือ ไม่ได้รวมเอาค่าอื่นๆ เข้ามาด้วย จะต้องเป็นค่าจ้างที่เป็น Basic ขั้นต่ำสุด ซึ่งก็คือ 300 บาทนั้นจะต้องถือเป็นค่าจ้างขั้นต่ำสุดที่จะต้องได้ ดังนั้นการที่บางบริษัทจ่ายค่าจ้างให้ 250 และมีค่าครองชีพอีก 50 บาท ถามว่าจะเอา 50 บาทมารวมให้เป็นฐานใหม่เพื่อให้กลายเป็น 300 จะได้ไม่ต้องปรับให้กับพนักงานคนนี้ได้หรือไม่ คำตอบที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายก็คือไม่ได้ครับ เท่ากับว่าเราจะต้องปรับค่าจ้างจากเดิม 250 ให้เป็น 300 แล้วก็ยังคงต้องให้ค่าครองชีพอีก 50 บาทต่างหากนั่นเอง จริงๆ ในประเด็นนี้ถ้าจะทำกันจริงๆ เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมายจะต้องทำก่อนล่วงหน้านานหน่อย เช่น ใช้เหตุผลในการรวมเอาค่าครองชีพเข้าไปในค่าจ้างมูลฐานเพื่อจะได้ให้ฐานค่า จ้างของพนักงานสูงขึ้น การขึ้นเงินเดือน และการได้โบนัสก็สูงขึ้นซึ่งการปรับตรงนี้ถือเป็นคุณต่อลูกจ้างก็ไม่ขัดกับ กฎหมาย ปรับตรงนี้ไปก่อนสัก 1 ปี จากนั้นปีนี้ก็ค่อยปรับผลกระทบ 300 บาท ก็จะทำให้บริษัทปรับน้อยลงกว่าเดิมได้ แต่ก็คงไม่มีใครคาดการณ์ได้ไกลขนาดนั้นมั้งครับ แต่ถ้าเรามาปรับรวมค่าจ้างอื่นเข้าไปในเดือนนี้เลย เท่ากับว่าเรากำลังต้องการเลี่ยงการปรับไม่ให้มากเกินไป ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อลูกจ้าง เท่ากับว่าผิดกฎหมายนั่นเองครับ
ผม คิดว่าไหนๆ กฎหมายกำหนดแล้ว สิ่งที่นายจ้างจะต้องทำก็คือ ทำให้ถูกต้องจะดีกว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากรณีพิพาทแรงงานในอนาคตได้ แล้วค่อยมาพัฒนาวิธีการบริหารงาน บริหารคนใหม่ โดยเน้นไปที่การสร้างและพัฒนาคนให้สร้างผลงานได้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้คุ้มค่ากับค่าจ้างที่ให้ไปจะดีกว่าไปหาทางเลี่ยงกฎหมาย เพื่อที่จะให้ระยะสั้นเราจ่ายน้อย แต่ระยะยาวกลับต้องมาแก้ไขปัญหาแรงงานอย่างไม่รู้จบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น