วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

หัวหน้ามาจากดาวอังคาร ลูกน้องมาจากดาวศุกร์ หรือเปล่า

 
เคยอ่านหนังสือเรื่อง Men are from Mars and Women are from Venus ที่เขียนโดย John Grey บ้างหรือเปล่าครับ หนังสือเล่มนี้เคยโด่งดังมากในยุคหนึ่ง เพราะได้เขียนตีแผ่ความแตกต่างระหว่างผู้ชาย กับผู้หญิงได้อย่างลึกซึ้งและถึงแก่นทีเดียว รวมทั้งยังเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตคู่ของอีกหลายคนเช่นกัน ผมมานั่งคิดๆ ดูแล้ว ผมคิดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง ก็น่าจะคล้ายๆ กัน ก็เลยมีความสงสัยว่า จริงๆ แล้วหัวหน้ากับลูกน้องนั้นเขามาจากดาวคนละดวงหรือเปล่า
โดยส่วนใหญ่แล้วมุมมองระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องมักจะไปกันคนละทาง ถ้าลองสอบถามคนที่เป็นหัวหน้าว่าเขามีสไตล์การบริหารจัดการในฐานะที่เป็นหัวหน้าอย่างไรบ้าง เชื่อหรือไม่ครับ สิ่งที่หัวหน้าส่วนใหญ่ตอบก็คือ
  • เป็นหัวหน้าที่มีการวางแผนงานที่ดี
  • ให้ความช่วยเหลือและเอาใจใส่ลูกน้องอยู่เสมอ
  • สอนงานลูกน้องเพื่อให้ลูกน้องเก่งขึ้น
  • สร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับทีมงานทุกวัน
  • ช่วยแก้ไขปัญหาให้กับลูกน้องเวลางานมีปัญหา
  • ฯลฯ
ในมุมมองของหัวหน้านั้นมักจะมองว่าเขาเป็นหัวหน้าที่พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือลูกน้อง และเป็นหัวหน้าที่ดี ให้ความเอาใจใส่แก่ลูกน้องตลอดเวลา พูดง่ายๆ มักจะเชื่อว่าตัวเองนั้นเป็นหัวหน้าที่ดี แต่พอไปสอบถามกลุ่มพนักงานที่มีหัวหน้าเป็นกลุ่มเมื่อสักครู่ว่า หัวหน้าของตนนั้นมีสไตล์ในการบริหารงานอย่างไรบ้าง เชื่อหรือไม่ครับว่า คำตอบที่ได้จากพนักงานส่วนใหญ่นั้นจะไปในทางตรงกันข้ามกับคำตอบของหัวหน้า เช่น
  • ปล่อยให้ลุยงานเอง ไม่เคยที่จะช่วยแก้ปัญหาเลย
  • มีแต่จะทำให้หมดแรงจูงใจในการทำงาน
  • ยิ่งมาทำงานยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่อยากเกิดมาในโลกนี้เลย
  • ที่บอกว่าสอนงานไม่เห็นจะสอนเลย มีแต่ตำหนิ และดุด่า ซะมากกว่า
  • เวลามีปัญหาใหญ่ๆ ทีไร มักจะไม่ค่อยเห็นหัวหน้าอยู่ใกล้ๆ ทุกที
  • ฯลฯ
มุมมองของลูกน้องนั้น โดยส่วนใหญ่มักจะมองหัวหน้าตนเองในแง่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แล้วใครคือฝ่ายถูก ใครคือฝ่ายผิดกันแน่ เรื่องนี้พิสูจน์ยากเหมือนกันนะครับ เพราะว่า หัวหน้าแต่ละคน และลูกน้องแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันเลย

 นั่นก็แปลว่า คนที่เป็นหัวหน้านั้นจะต้องมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนสไตล์ในการบริหารจัดการให้เข้ากับลูกน้องของตนเองแต่ละคนด้วย ไม่ใช่ใช้วิธีเดียวกันกับลูกน้องทุกคน จริงมั้ยครับ

ถ้ามีลูกน้องประเภทที่มีความสามารถ มีความมั่นใจในการทำงาน มีความรับผิดชอบสูง สั่งอะไรก็สามารถเอาไปดำเนินการได้เลย แบบนี้หัวหน้าเองก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปคลุกวงในก็ได้ เพราะลูกน้องมีความรับผิดชอบอยู่แล้ว อาจจะสั่งการแล้วก็คอยดูแล และสนับสนุนอยู่ห่างๆ ด้วยที่ว่าลูกน้องประเภทนี้ก็ไม่ชอบหัวหน้าที่มีสไตล์คลุกวงในอยู่แล้ว ประเภทต้องรู้ทุกเรื่อง ต้องรายงานทุกฝีก้าว

ในทางตรงกันข้าม ถ้าลูกน้องเป็นประเภทที่ยังไม่ชำนาญในการทำงาน ยังต้องได้รับการสอน และการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด แบบนี้หัวหน้าเองก็ปล่อยให้ทำงานเองก็ไม่ได้แน่นอนครับ เพราะลูกน้องก็จะเคว้งคว้าง ไม่มีหลักยึด และจะทำให้เขารู้สึกว่า หัวหน้าเป็นที่พี่งให้เขาไม่ได้เลย ก็จะมองว่าหัวหน้าไม่ดีอีกเช่นกัน

จากตัวอย่างข้างต้น ก็สามารถสรุปได้เลยว่าหัวหน้ากับลูกน้องนั้น มาจากดาวคนละดวง ถึงแม้ว่าจะมาจากดาวคนละดวง แต่ก็สามารถที่จะอยู่ด้วยกัน และทำความเข้าใจกันได้ โดยที่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน แต่เรื่องของการบริหารงานนั้น คนที่เป็นหัวหน้าอาจจะต้องรับบทบาทที่หนักหน่อย เพราะจะต้องเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงตนเองให้สอดคล้องกับสไตล์การทำงานของลูกน้องแต่ละคน ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ง่ายกว่าการที่จะให้ลูกน้องทุกคนเปลี่ยนตัวเองมาให้เข้ากับการทำงานของหัวหน้าคนเดียว

 ลูกน้องเองก็เช่นกันนะครับ คงจะต้องเรียนรู้สไตล์การทำงานของหัวหน้า และคงต้องมีการปรับตัวเองบ้าง เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข

แต่ในทางปฏิบัตินั้น ผมไม่ค่อยเห็นการฝึกอบรมที่จัดให้กับลูกน้องได้เข้าใจสไตล์การทำงานของหัวหน้าเลย เรามักจะปล่อยให้ลูกน้องต้องปรับตัวเอง ต้องอดทน ต้องยอมรับ ในการทำงานของหัวหน้าโดยปริยาย และไม่มีการช่วยเหลือกลุ่มพนักงานที่เป็นลูกน้องให้เรียนรู้ว่า ถ้าเราเจอกับหัวหน้าสไตล์แบบนี้ เราจะต้องรับมืออย่างไร เพื่อที่จะทำงานกันอย่างราบรื่น  

ถ้าเราอยากให้คนที่มาจากดาวคนละดวง อยู่ด้วยกันอย่างผาสุก และทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข ก็คงจะต้องเปิดมุมมองของทั้งสองฝ่ายมากกว่าที่จะอบรมแต่หัวหน้าอย่างเดียว แต่ไม่เคยให้มุมมองกับคนที่เป็นลูกน้องเลย จริงมั้ยครับ  

หมายเหตุ ขณะนี้ผมกำลังศึกษาอยู่ว่า หัวหน้าโดยทั่วไปมักจะมีสไตล์การบริหารงานแบบไหนบ้าง และในแต่ละแบบนั้นคนที่เป็นลูกน้องจะต้องปรับตัวเองอย่างไรให้เข้ากับหัวหน้าแต่ละสไตล์ ถ้าศึกษาจนตกผลึกแล้ว จะมาเขียนให้อ่านกันนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น