ผมได้เขียนเรื่องราวของการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปหลายมุมมองมาก
พร้อมกับให้สูตรในการคำนวณเพื่อให้มีการปรับที่เป็นธรรมกับพนักงานและบริษัท
เองก็สามารถควบคุมงบประมาณที่ตนเองพอจะมีอยู่ได้ ลองค้นหาดูในบทความเก่าๆ
เกี่ยวกับเรื่องของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนนะครับ
แต่สิ่งที่ผมได้รับทราบมาจากหลายๆ บริษัทก็คือ
มีหลายบริษัทที่ใช้วิธีการที่ไม่ค่อยเหมาะสม และทำการปรับโดยไม่ค่อยถูกต้องนัก ทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรม มีอะไรบ้างลองมาดูกันนะครับ
- ปรับพนักงานรายวันไปที่ 300 บาท โดยปรับให้เฉพาะพนักงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 300 ให้เป็น 300 ส่วนคนที่ได้ 300 บาทขึ้นไป ก็จะไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องถูกปรับ ผลก็คือ พนักงานใหม่ได้รับค่าจ้างที่สูงทัดเทียมกับพนักงานเก่าที่อยู่ทำงานมานาน ซึ่งทำให้หมดแรงจูงใจในการทำงาน เหมือนกับที่ผ่านมาที่อุตส่าห์สร้างผลงานไว้และได้รับการขึ้นค่าจ้างมา เรื่อยๆ ก็มาหมดความหมายกันก็วันนี้
- ปรับรายเดือนโดยใช้จำนวนวัน 26 วันเป็น ตัวคูณให้เป็นรายเดือน วิธีนี้ก็ไม่ถูกต้องอีกเช่นกัน พนักงานรายเดือนกฎหมายมีกำหนดชัดเจนว่าเวลาที่จะคำนวณค่าจ้างรายวันจากอัตรา เงินเดือนที่พนักงานได้รับอยู่นั้น ให้หารด้วย 30 ซึ่งก็แปลง่ายๆ ว่ารายเดือนนั้นจะต้องใช้ 30 วันเป็นฐานในการคูณครับ ไม่ใช่ 26 วัน ดังนั้นเขตกรุงเทพ และอีก 7 จังหวัดที่ปรับขั้นต่ำเป็น 300 บาท ถ้าเป็นพนักงานรายเดือน ต่ำสุดที่ต้องได้รับก็คือ 9,000 บาทต่อเดือนครับ
- เอาค่าจ้างอื่นๆ เข้ามารวม จนครบ 300 บาท หลายบริษัท มีการจ่ายค่าจ้างรายวันที่ 250 บาท และมีจ่ายค่าอาหารอีก 20 บาทต่อวัน มีค่าครองชีพให้อีก 30 บาทต่อวัน พอรวมทั้งหมดแล้วก็คือ 300 บาท ก็เลยไม่ปรับอะไรให้กับพนักงานเลย เพราะถือว่ารวมแล้วครบ 300 บาทต่อวันพอดี ซึ่งวิธีนี้ก็เป็นอีกวิธีที่ไม่ถูกต้อง เพราะกฎหมายเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นค่าจ้างขั้นต่ำสุด ซึ่งก็คือ ค่าจ้างมูลฐานที่ไม่ได้มีเงินได้อย่างอื่นเข้ามาปะปน ในทางปฏิบัติถ้าจะเอาค่าจ้างอื่นเข้ามารวมเพื่อคำนวณนั้น ก็คงจะต้องได้รับการยินยอมจากพนักงานเหมือนกันนะครับว่า เงินค่าอาหารจากนี้ต่อไปเราจะยกเลิก และเอาเข้ามารวมในฐานค่าจ้างเลย ซึ่งผลก็คือ จะทำให้ค่าจ้างต่อวันสูงขึ้น และทำให้นายจ้างปรับค่าจ้างในส่วนต่างที่น้อยลงเมื่อเทียบกับการไม่ได้เอา เงินได้อื่นเข้ามารวม จริงๆ แล้วกรณีนี้เป็นกรณีที่ทำให้ลูกจ้างเสียเปรียบ ซึ่งกฎหมายแรงงานก็ไม่ยอมอยู่แล้วครับ
- ไม่ปรับใครจะทำไม นายจ้างหลายรายก็ไม่มีการปรับอัตราค่าจ้างตามที่รัฐกำหนด ยังคงจ่ายเท่าเดิม และถ้าพนักงานคนไหนอยากจะออก ก็เชิญเลย วิธีนี้ตอนแรกผมก็ไม่เชื่อว่าจะมีคนทำนะครับ แต่ปรากฎว่ามีบริษัทส่วนหนึ่งทำวิธีนี้ครับ โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีเงินปรับ ถ้ารับไม่ได้ก็ลาออกไปทำงานที่อื่น (มองลึกๆ แล้วเหมือนกับวิธีการลดพนักงานในทางอ้อม)
- เอาผลงานพนักงานเข้ามามีส่วนในการปรับฐานครั้งนี้ ซึ่งผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเลยครับ เพราะการปรับครั้งนี้เป็นการปรับฐานเงินเดือนเนื่องจากผลกระทบจากอัตราค่า จ้างขั้นต่ำที่รัฐกำหนดไว้ บางบริษัทก็เอาผลงานของพนักงานมาเป็นเครื่องมือตัดสินว่าใครจะได้ปรับมาก หรือปรับน้อย เช่น พนักงาน 2 คน ปัจจุบันได้ค่าจ้างเท่ากันที่ 250 บาท ซึ่งถ้าไม่เอาเรื่องผลงานเข้ามาเกี่ยวทั้งสองคนจะได้ปรับ 70 บาทเป็นอัตราใหม่ที่ 320 บาทเท่ากัน แต่พอเอาผลงานเข้ามาพิจารณาด้วยก็เลยเกิดผลว่า คนแรกผลงานดีก็ปรับไปที่ 320 บาทตามเกณฑ์ แต่อีกคนผลงานไม่ดี ก็เลยปรับให้เป็น 300 บาทพอดี ผลก็คือ จากเดิมที่สองคนนี้เคยได้รับค่าจ้างเท่ากัน พอปรับใหม่ ก็กลายเป็นไม่เท่ากันไปเสียแล้ว ผมมองว่าวิธีนี้ไม่ควรใช้ เพราะเหตุผลในการปรับครั้งนี้ ไม่มีเรื่องของผลงานพนักงานเข้ามาเกี่ยวข้องเลย รัฐไม่ได้บอกเลยว่า 215 มาเป็น 300 นั้น ผลงานของพนักงานจะต้องเป็นอย่างไร ดังนั้น ถ้าจะปรับเรื่องผลงานจริงๆ ให้ไปปรับเอาตอนการปรับขึ้นเงินเดือนตามผลงานประจำปีจะดีกว่าครับ การบริหารค่าจ้างก็จะมีเหตุมีผล และมีหลักเกณฑ์มากขึ้น ซึ่งจะทำให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็นธรรมครับ
ผิดกับบางองค์กรมีงบประมาณ น้อยมากในการปรับ แต่เขาคำนึงถึงความเป็นธรรมในการปรับ ผลก็คือ แม้พนักงานจะได้รับการปรับไม่มากนัก แต่ความรู้สึกของพนักงานกลับรู้สึกถึงความเป็นธรรม ซึ่งก็ส่งผลต่อแรงจูงใจในการทำงานตามมาด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น