ในปัจจุบันนี้เกือบทุกองค์กรต่างก็มีคำพูดว่า “เราให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคลอย่างที่สุด” แต่ก็มีอีกหลายองค์กรที่เขียนนโยบายที่เน้นความสำคัญกับการบริหารทรัพยากรบุคคล แต่เอาเข้าจริงๆ กลับไม่ค่อยใส่ใจในเรื่องการบริหารคนสักเท่าไหร่ องค์กรของเราเน้นและให้ความสำคัญกับการบริหารทรัพยากรบุคคลสักแค่ไหน ลองพิจารณาประเด็นเหล่านี้ดูนะครับ
- องค์กรมีการวางแผนเพิ่มเครื่องจักรทุกปี แต่ไม่เคยมีการวางแผนกำลังคน เรียกได้ว่า แผนในการเพิ่มกำลังการผลิตโดยใช้เครื่องจักรใหม่นั้น จะมีการวางแผนและกำหนดแผนปฏิบัติการกันอย่างรัดกุม และให้ความสำคัญอย่างมาก แต่ไม่เคยที่จะมีการวางแผนกำลังคนเลยว่า จะต้องหาคนใหม่ ทดแทน หรือ สร้างคนขึ้นมาอย่างไรบ้างในแต่ละปี มีแต่ปล่อยให้พนักงานทำงานกันไปเรื่อยๆ
- ให้ความสำคัญในการสรรหาและคัดเลือกผู้ขายเครื่องจักร มากกว่าการสรรหาคัดเลือกพนักงานเข้ามาทำงาน กรณีนี้ เกิดขึ้นในหลายๆ องค์กรเหมือนกันนะครับ กล่าวคือ ผู้บริหารเน้นไปที่การสรรหาคัดเลือก ผู้ขายเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพ มีการให้บริการหลังการขาย รวมทั้งมีการติดต่อเพื่อให้เข้ามานำเสนอการขาย สอบถามรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่า เครื่องจักรนี้สามารถที่จะใช้งานได้จริง และมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่สำหรับการสรรหาคัดเลือกพนักงาน กลับดูผ่านๆ ไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าไหร่นัก อยากได้คนแบบไหนก็ไม่เคยระบุคุณสมบัติที่ชัดเจนแน่นอน เหมือนกับคุณสมบัติของเครื่องจักร พอถึงเวลาคัดเลือก ก็รีบๆ สัมภาษณ์ไปให้จบๆ เพราะกลัวว่าไม่มีเวลาไปดูแลเครื่องจักรที่เพิ่งซื้อมา
- ให้ความสำคัญกับการดูแลบำรุงรักษาเครื่องจักรมากกว่าการดูแลบำรุงรักษาคนในองค์กร ในประเด็นนี้อีกเช่นกัน องค์กรมักจะมีการวางแผนเพื่อที่จะบำรุงรักษาเครื่องจักรที่ใช้ในการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนอะไหล่ ก็ยอมเสียเงินเพื่อเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่ตามกำหนด โดยไม่รู้สึกเสียดายเงินเลย แต่ในทางตรงกันข้าม การบำรุงรักษาคนไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพื่อที่จะพัฒนาคน ให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น การลงทุนเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล หรือการสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพนักงาน กลับรู้สึกเสียดายเงินที่ต้องจ่ายเพื่อบำรุงรักษาสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวพนักงาน เพราะรู้สึกว่าทำไปก็ไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป
- เวลาที่ผู้ขายขึ้นราคาเครื่องจักรหรืออะไหล่ ก็ยินดีที่จะจ่ายมากกว่าการขึ้นเงินเดือนของพนักงาน ถ้ามองเรื่องนี้เป็นต้นทุน ก็ถือเป็นต้นทุนระยะยาวทั้งคู่ แต่ทำไมบางองค์กรถึงไม่ค่อยรู้สึกอะไรมากในกรณีที่ผู้ขายเครื่องจักรขอขึ้นราคาค่าอะไหล่ หรือค่าบริการ เราก็ทำงบประมาณจ่ายไปได้โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ หรือในกรณีถึงรอบการขึ้นเงินเดือนประจำปี ผู้บริหารมักจะต้องคิดมาก คิดหนัก ยิ่งไปกว่านั้นบางแห่งคิดไปถึงขั้นว่า จะมีวิธีการเลี่ยงอย่างไรให้ขึ้นเงินเดือนน้อยที่สุด เพื่อไม่ต้องการให้ต้นทุนทางด้านพนักงานสูงขึ้น
- ดูผลงานของเครื่องจักรแทบทุกสัปดาห์ แต่ผลงานของพนักงานกับดูไม่ออก เรื่องของผลงานก็เช่นกัน พอให้ประเมินผลงานของเครื่องจักรที่ใช้อยู่กลับสามารถประเมินประสิทธิภาพได้อย่างชัดเจน และถ้าเครื่องจักรไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ก็พยายามหาวิธีการในการเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักรให้ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของการประเมินผลงานพนักงาน กลับทำแบบขอไปที ไม่เคยมองว่าพนักงานคนไหน มีจุดแข็งหรือจุดอ่อนอะไร จะได้เอาไปพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงานให้สูงขึ้นบ้าง กลับบ่อยให้เกิดปัญหากันมากมายในการประเมินผลงานในองค์กร
- เครื่องจักรหมดอายุ กับคนหมดอายุ เครื่องจักรที่เราเอามาใช้นั้น พอครบอายุขัยการทำงานของมัน เรากลับพยายามที่จะหาทาง Modify กันใหม่ ให้สามารถใช้งานต่อไปได้อีก โดยรู้สึกเสียดายและไม่อยากที่จะต้องทิ้งมันไป ก็พยายามหาทางเปลี่ยน แก้ไข หรือเอาสิ่งที่ใช้ได้ ไปใช้งานต่อ แต่ถ้าเป็นเรื่องของคน พอหมดอายุการทำงาน (เกษียณ) นายจ้างก็พยายามที่จะให้รีบๆ ไป โดยบางครั้งไม่เคยคิดถึงประสบการณ์ของคนเหล่านี้เลย มองแค่เพียงว่าเป็นคนที่หมดอายุการทำงานแล้ว และอยากให้ออกจากองค์กรไปเร็วๆ ไม่เคยคิดถึงการให้รางวัล การให้ความสำคัญกับคนคนนี้ว่าเคยสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ให้กับองค์กรมาก่อนหรือไม่ รู้แค่เพียงว่าถึงเวลาแล้วก็ออกไปซะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น