วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การปรับค่าจ้างขั้นต่ำกับแรงจูงใจพนักงาน

 
ในระยะเดือนสองเดือนที่ผ่านมานี้ ผมสัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีนักของกลุ่มพนักงานกลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ที่เพิ่งบังคับใช้ไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สิ่งที่ผมได้รับก็คือคำถามและข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการปรับค่าจ้างของนายจ้าง ซึ่งทำให้พนักงานรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม และไม่เพียงแค่นั้น ยังได้รับคำบ่น ตัดพ้อ และความไม่พอใจ ที่มีต่อการปรับค่าจ้างที่ผ่านมาด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นกับพนักงานกลุ่มนี้ก็คือ เขาเริ่มขาดแรงจูงใจในการทำงาน เพราะด้วยเหตุผลเดียวก็คือ เขาไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปรับค่าจ้างในครั้งนี้นั่นเอง มีนักวิชาการหลายคนที่พยายามพิสูจน์ว่า ค่าจ้างกับแรงจูงใจนั้น จริงๆ ไม่ได้ไปด้วยกัน การที่พนักงานมีแรงจูงใจในการทำงานนั้นมาจากปัจจัยอื่นๆ มากกว่าเรื่องของเงินเดือนค่าจ้าง ซึ่งก็มีบทความและงานวิจัยเยอะครับ ที่พิสูจน์แล้วว่าเงินเดือนนั้น ไม่ได้สร้างแรงจูงใจในการทำงานให้ดีขึ้นจริงๆ แต่การที่พนักงานได้รับค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นสามารถที่จะสร้างความไม่พึงพอใจ และตามมาด้วยการไม่อยากทำงาน และเริ่มหมดแรงในการทำงาน บางคนเคยขยัน และมีความตั้งใจ พอได้รับการปรับค่าจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ความรู้สึกอยากทำงานก็หายไปในพริบตา กลับกลายเป็นความไม่พึงพอใจ ความเจ็บช้ำน้ำใจ ความน้อยใจ ฯลฯ ผุดขึ้นมา ซึ่งผลกระทบนั้นรุนแรงกว่าที่คิดไว้มากนะครับ การที่พนักงานกลุ่มหนึ่งไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในการปรับค่าจ้างนอกจากตัวเขาเองที่ไม่ทำงานแล้ว เขายังสามารถไปสร้างอิทธิพลต่อพนักงานคนอื่นในองค์กรให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมของบริษัทได้อีกด้วย โดยการยุยงส่งเสริม ปั้นแต่งเรื่องราวต่างๆ ที่เกินจริงขึ้นมาอีก สุดท้ายพนักงานทั้งองค์กรก็จะหมดแรงทำงานในที่สุด ลองมาดูสิ่งที่ผมได้รับคำบ่นจากท่านผู้อ่านที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ว่ามีอะไรบ้าง ผมสรุปมาจากข้อคิดเห็นและอีเมล์ที่ผมได้รับมานะครับ มีดังนี้ครับ
  • ปรับให้คนใหม่เป็น 9,000 ส่วนคนเก่าที่ได้ 9,000 อยู่แล้ว ก็ไม่มีการปรับ เพราะถือว่าได้ไม่ต่ำกว่ากฎหมายแล้ว
  • เอาค่าครองชีพ ค่าตำแหน่ง ค่าวิชาชีพ ฯลฯ ที่บริษัทเคยให้แยกไว้ รวมเข้าไปในเงินเดือนก่อนที่จะปรับเงินเดือนให้ใหม่ ซึ่งทำให้คนใหม่ เงินเดือนเข้ามาใกล้เคียงกับคนเก่าอีกเช่นกัน
  • เปลี่ยนสภาพการจ้างพนักงานจากรายเดือนเป็นรายวัน (กรณีนี้ผมเพิ่งจะเคยเห็นเหมือนกัน) ทำให้พนักงานรู้สึกแย่ลงไปกว่าเดิมอีก เพราะสภาพการจ้างนั้นเปลี่ยนมาเป็นแบบเดียวกับแรงงานระดับล่าง
  • ให้ค่าจ้างแบบเหมาไปเลยว่า 9,000 ที่ปรับให้นั้น ให้รวมเวลาล่วงเวลาไปด้วยอีก 2 ชั่วโมง และพนักงานทุกคนจะต้องทำงานเป็นวันละ 10 ชั่วโมง โดยไม่ได้ค่าล่วงเวลา
  • ปรับให้คนที่ต่ำกว่า 9,000 บาท แต่คนที่ได้ 9,000 อยู่แล้วหรือมากกว่า จะได้ปรับก็ต่อเมื่อทำผลงานที่ดี ถ้าผลงานไม่ดีขึ้น ก็ไม่มีการปรับ คำถามก็คือ ถ้าคนที่ได้ 9,000 อยู่แล้วนั้น เป็นคนที่สร้างผลงานที่ดีมาตลอด เขาจะรู้สึกอย่างไร
ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ยังไม่จบนะครับ ยังมีพนักงานอีกหลายคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปรับค่าจ้างครั้งนี้ ประเด็นก็คือ ทำไมนายจ้างถึงไม่คิดถึงผลกระทบในระยะยาวว่าถ้าเขาทำไม่ถูกต้องแล้วจะเกิดผลกระทบอะไรขึ้นบ้าง
  • พนักงานเก่งๆ ฝีมือดี ลาออกไปอยู่กับองค์กรอื่น ที่ปรับค่าจ้างให้ตามที่กฎหมายกำหนด เพราะเราไม่ได้ปรับเขาหนีขึ้นไปจากคนที่ถูกปรับไล่ขึ้นมา เขาก็รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมแน่นอนครับ เดิมทีเคยห่างกันตั้งหลายพัน พอปรับใหม่ คนใหม่กลับไล่หลังเขามาติดๆ ทั้งๆ ที่เขาอุตสาห์สร้างผลงานแทบตายกว่าจะได้ปรับเงินเดือนมาถึง 9,000 กว่าๆ
  • ปัญหาเรื่องการฟัองร้องทางด้านแรงงาน ปัญหานี้เกิดขึ้นแน่นอน ถ้าพนักงานรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะบริษัทที่พยายามเลี่ยงกฎหมายไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม แล้วมันจะกลายเป็นปัญหาในระยะยาว เพราะไม่ต้องทำงานกันหรอกครับ วันๆ ก็วิ่งขึ้นโรงขึ้นศาลกันตลอดเวลา
  • ปัญหาแรงจูงใจพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานที่ถูกคนอื่นไล่ตามเรื่องเงินเดือนเข้ามาติดๆ บางองค์กรประกาศเลยว่าจะให้ความสำคัญกับพนักงานมาเป็นที่หนึ่ง แต่กลับไม่มีการปรับผลกระทบไล่พนักงานที่ถูกผลกระทบขึ้นไป ทำให้คนใหม่กับคนเก่าเงินเดือนใกล้กันมาก ผลที่จะตามมาในระยะยาวก็คือ พนักงานจะไม่พยายามสร้างผลงานอีกต่อไป แม้ว่านายจ้างจะบอกว่าให้ช่วยๆ กัน เพราะนายจ้างแสดงให้เห็นแล้วว่า เขาเองก็มีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์กับลูกจ้าง ลูกจ้างก็ย่อมเกิดความรู้สึกขาดความเชื่อถือ
สิ่งเหล่านี้เข้าข่ายเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย เพราะมัวแต่คิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดต้นทุนการจ้างที่ต่ำที่สุด โดยไม่มองไปไกลๆ ว่า การทำให้ต้นทุนต่ำในครั้งนี้จะยิ่งทำให้ผลผลิต และผลงานต่ำลงไปในระยะยาวด้วย ในทางตรงกันข้าม ถ้านายจ้างมีการปรับให้อย่างเป็นธรรม มีการปรับผลกระทบไล่พนักงานเก่าขึ้นไป ไม่มีเจตนาที่จะหาทางเลี่ยงกฎหมาย ถึงแม้จะปรับให้ไม่มากนักแต่ก็มีการปรับขยับขึ้นไปให้เห็นว่า ไม่ปล่อยให้คนใหม่ไล่ทันคนเก่า ในช่วงแรกอาจจะทำให้ต้นทุนค่าจ้างสูงขึ้นบ้าง แต่เราก็สามารถบริหารผลงานพนักงานกันใหม่ได้ ซึ่งแบบนี้ในระยะยาวน่าจะทำให้ผลงานขององค์กรดีขึ้นมากกว่าวิธีแรก ผมเชื่อว่าตอนนี้หลายองค์กรที่ปรับค่าจ้างแบบไม่เป็นธรรม คงกำลังปวดหัว และกำลังหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพราะพนักงานเริ่มที่จะถาม และหาคำตอบ ซึ่งช่วงนี้พนักงานปล่อยเกียร์ว่างแน่นอนครับ จนกว่าจะได้รับคำตอบที่น่าพึงพอใจจากผู้บริหารขององค์กร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น