วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การสร้างระบบการทำงานแบบยืดหยุ่น

 

ปัจจุบันนี้การบริหารบุคคลมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากมาย การบริหารแบบเดิมๆ ที่เน้นกฎระเบียบข้อบังคับอย่างเคร่งครัดนั้น เริ่มใช้ไม่ได้แล้วในยุคปัจจุบัน เนื่องจากความต้องการของพนักงานรุ่นใหม่ๆ นั้นมีความต้องการที่แตกต่างไปจากพนักงานรุ่นเดิมๆ สิ่งที่พนักงานรุ่นใหม่ต้องการในการบริหารบุคคลนั้น ก็คือ “ความยืดหยุ่น” (Workforce Flexibility) ในการบริหารทรัพยากรบุคคลนั่นเอง
ในต่างประเทศได้มีการทำวิจัยและเก็บข้อมูลเรื่องของการบริหารทรัพยากรบุคคลและการสร้างบรรยากาศในการทำงานแบบยืดหยุ่น ซึ่งจัดทำโดย Worldatwork ซึ่งได้ระบุว่ามีอะไรบ้างที่สามารถบริหารแบบยืดหยุ่นได้บ้าง ซึ่งก็มีดังต่อไปนี้ครับ
  • Flex Time เรื่องแรกที่บริษัทส่วนใหญ่กำหนดให้มีความยืดหยุ่น และเป็นที่นิยมกันมากก็คือ การกำหนดเวลาการทำงานแบบยืดหยุ่น โดยให้มีการเข้าออกงานในแต่ละวันที่แตกต่างกันได้ ตามแต่พนักงานจะสะดวก โดยมีการกำหนดช่วงเวลาเข้างาน และเลิกงานที่แตกต่างกันออกไป เพียงแต่ให้แต่ละวันครบตามจำนวนชั่วโมงที่กำหนดไว้
  • Telework ก็คือ สามารถทำงานที่อื่นได้ โดยไม่ต้องเข้าบริษัท โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการติดต่อ และทำงานให้สำเร็จตามที่ได้รับมอบหมาย ที่เป็นที่นิยมมากหน่อยก็คือ การให้พนักงานสามารถ Telework ได้ 1 วันในสัปดาห์ โดยที่ไม่ต้องเข้ามาทำงานที่บริษัท แต่จะทำงานที่ไหนก็ได้ เพียงแต่ต้อง login เข้ามาในระบบของบริษัทเพื่อทำงาน ก็จะมีบางบริษัทที่กำหนดให้มีเวลาทำงานที่อื่นๆ แบบนี้ได้มากกว่า 1 วัน แต่ก็ยังไม่มากนัก
  • Benefits program tailored to fit employee’s needs ก็คือ การจัดสวัสดิการโดยสามารถกำหนดลักษณะของสวัสดิการได้ตามความต้องการของพนักงานแต่ละคน เรื่องนี้มีการพูดกันมายาวนานแล้วเหมือนกัน แต่ดูเหมือนกับว่าในบ้านเรานั้นยังไม่ค่อยมีบริษัทไหนที่ทำออกมาอย่างชัดเจน แต่ของฟากอเมริการนั้น มีจำนวนบริษัทถึง 63% ที่จัดสวัสดิการแบบยืดหยุ่นให้กับพนักงาน โดยให้พนักงานแต่ละคนสามารถที่จะเลือกสวัสดิการที่เหมาะสมกับลักษณะการใช้ชีวิตของตนเอง
  • Compressed workweek เป็นการนับเวลาการทำงานรวมต่อสัปดาห์ให้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ เช่น สัปดาห์หนึ่งๆ จะต้องทำงาน 40 ชั่วโมง โดยที่บริษัทให้สิทธิพนักงานในการกำหนดเวลาทำงานของตนเองในแต่ละวันได้ เช่น บางคนอาจจะอยากทำงานวันละ 10 ชั่วโมง และทำแต่ 4 วันต่อสัปดาห์ ก็จะมีวันหยุดมากขึ้นกว่าเดิมอีก 1 วันต่อสัปดาห์ แต่รวมเวลาทำงานแล้วก็ครบถ้วนตามที่บริษัทกำหนดนั่นเอง ซึ่งวิธีนี้ก็ทำให้พนักงานสามารถที่จะบริหารเวลาการทำงานของตนเองให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
  • Phases return from Leave คือการยืดหยุ่นเรื่องของการลายาวๆ เช่น ลาคลอด ลาศึกษาต่อ ซึ่งมีระยะเวลาในการลาค่อนข้างจะยาวนาน แต่บริษัทก็ให้สิทธิพนักงานที่ต้องการจะกลับเข้ามาทำงานก่อน ก็ได้ โดยมีการคำนวณเงินจ่ายคืนในช่วงวันที่กลับเข้าทำงานก่อนถึงการสิ้นสุดวันลาที่กำหนดไว้
  • Phases Retirement คือ การกำหนดอายุเกษียณที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งในบ้านเราก็เรียกกันว่า การเกษียณอายุก่อนกำหนด ซึ่งก็สามารถให้สิทธิพนักงานทำได้ ถ้าเขาต้องการที่จะเกษียณตัวเองก่อนกำหนด โดยมีการกำหนดเรื่องของค่าตอบแทนที่ได้ไว้อย่างชัดเจน
  • Shift Flexibility คือการกำหนดเวลาทำงานกะที่ยืดหยุ่น พนักงานอาจจะทำงานกะในระยะเวลาที่ยาวขึ้นหรือสั้นลงได้ แต่ก็ต้องไปชดเชยเวลาทำงานในกะอื่นๆ เพิ่มเติมได้
ลักษณะการทำงานที่ยืดหยุ่นในรูปแบบต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นสิ่งที่หลายๆ บริษัทเริ่มมีความนิยมกันมากขึ้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากในยุคปัจจุบัน เราเน้นเรื่องของ การสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัว และชีวิตการทำงานมากขึ้น (Work-Life Balanced) ก็เลยเป็นผลทำให้องค์กรต่างๆ จูงใจพนักงานด้วยการสร้างระบบการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้พนักงานสามารถที่จะออกแบบ และเลือกใช้ชีวิต และเลือกเวลาการทำงานได้ด้วยตนเองมากขึ้น อย่างไรก็ดี การทำให้เกิดความยืดหยุ่นนั้น แม้จะว่าจะมีผลดีมาก ถ้าเรามองโลกกันในแง่ดี ก็จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าสามารถทำงาน และใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกมากขึ้น แต่ถ้าเรามองในมุมกลับกัน สำหรับพนักงานที่ขาดวินัยในตนเอง อาจจะทำให้คนกลุ่มนี้มองในมุมของความสบายอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงประสิทธิภาพในการทำงานให้กับองค์กรเลยก็เป็นได้ เช่น เรื่องของการกำหนดเวลาในการทำงานต่อวันให้มากขึ้น เพื่อที่จะทำให้หยุดได้ 3 วันติดต่อกัน ถ้าเป็นพนักงานที่ไม่มีวินัยในตนเอง ก็จะขอทำงานวันละ 10 ชั่วโมง และเขาก็อยู่ในบริษัท 10 ชั่วโมงจริงๆ แต่ทำงานจริง ๆ แค่เพียง 5 ชั่วโมงเท่านั้น ถ้าเป็นแบบนี้ การกำหนดให้มีความยืดหยุ่น ก็จะไม่ได้ผล ยิ่งจะทำให้บริษัทเสียเปรียบมากขึ้นไปอีก ดังนั้นระบบการทำงานที่ยืดหยุ่นนั้นต้องมาพร้อมกับพนักงานที่มีวินัยในตนเองอย่างสูงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น