วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สิ่งที่พนักงานกลัวเวลาที่บริษัทจะทำโครงสร้างเงินเดือน

 

เวลาผมไปวางระบบโครงสร้างเงินเดือน และระบบบริหารเงินเดือนให้กับบริษัทลูกค้าต่างๆ ก็จะมีพนักงานกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกกลัว และรู้สึกไม่ค่อยมั่นคงกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนี้ในอนาคต เพราะจากเดิมบริษัทไม่เคยมีระบบอะไรมากำหนดเรื่องของโครงสร้างเงินเดือนเลย พอเริ่มจะมีแนวทาง และระบบเข้ามาจับ ก็เริ่มจะมีเสียงบ่น และบางครั้งก็เลยเถิดกันไปถึงการต่อต้านเลยก็มี
สิ่งที่พนักงานส่วนใหญ่กลัวมากในกรณีที่บริษัทจะเริ่มทำโครงสร้างเงินเดือนขึ้นมาเพื่อบริหารค่าจ้างเงินเดือน เท่าที่ผมรวบรวมได้ก็มีดังนี้ครับ
  • กลัวเงินเดือนตัน หัวข้อนี้เป็นสิ่งที่พนักงานกลัวเป็นอันดับหนึ่งเลย เพราะถ้าเรานึกภาพของโครงสร้างเงินเดือน เราก็จะเห็นกรอบสี่เหลี่ยม ซึ่งมีจุดต่ำสุด ค่ากลาง และจุดสูงสุด พนักงานก็มักจะกลัวว่าเงินเดือนของตนเองจะไปชนเพดานเงินเดือนซึ่งเรียกว่าเงินเดือนตันกระบอกนั่นเอง ผมเองก็แปลกใจนะครับว่า ทำไมพนักงานถึงกลัวเงินเดือนตันกันนัก เพราะถ้าเขาเป็นพนักงานที่มีผลงานที่ดี มีฝีมือในการทำงานดี องค์กรย่อมต้องการพนักงานคนนี้ทำงาน ซึ่งก็แปลว่า พนักงานคนนี้จะมีทางที่จะก้าวหน้าในบริษัทได้อยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องของเงินเดือนตัน ก็ไม่น่าจะเกิดกับพนักงานที่เก่งๆ ถ้าอย่างนั้นก็แปลว่า พนักงานที่กลัวเงินเดือนตันก็คือพนักงานที่รู้ตัวว่าตนเองทำงานไม่คุ้มกับเงินเดือนอยู่แล้ว ก็เลยกลัวว่าระบบจะเข้ามามีส่วนทำให้เขาได้ในสิ่งที่ไม่ควรจะได้น้อยลงไปอีก ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ ผมคิดว่าระบบนี้น่าจะช่วยให้บริษัทได้ผลงานพนักงาน และพนักงานเองก็จะต้องพัฒนาตนเองให้ทำงานได้ดีขึ้น เพื่อที่จะได้ทำให้ตนเองเงินเดือนไม่ตันง่ายๆ นั่นเอง
  • กลัวค่างานจะต่ำกว่าคนอื่น เวลาที่จะวางโครงสร้างเงินเดือนนั้น สิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือ การประเมินค่างาน ซึ่งการประเมินค่างานนั้น จะเป็นการประเมินความยากง่ายของตำแหน่งงานต่างๆ ที่อยู่ในองค์กร ซึ่งพนักงานเองก็จะกลัวว่า ตนเองจะถูกประเมินค่างานออกมาต่ำกว่าตำแหน่งงานอื่นๆ จริงๆ แล้วการประเมินค่างานนั้นเป็นการประเมินที่ตำแหน่งงาน โดยไม่ได้ดูตัวคนเลย และเวลาประเมินค่างานก็จะมีตำแหน่งที่ออกมาต่ำกว่า และสูงกว่า แต่ก็ไม่ได้แปลว่าถ้าเราถูกประเมินต่ำแล้วเราจะต่ำตลอดไปสักหน่อย เพราะระบบนี้จะสร้างความก้าวหน้าทางสายอาชีพ โดยเชื่อมกับค่างานได้อยู่แล้ว
  • กลัวจะถูกลดเงินเดือน ประเด็นนี้มีพนักงานหลายคนกลัวมาก เพราะคิดว่า การที่มีการวางโครงสร้างเงินเดือนนั้นเป็นการที่นายจ้างพยายามจะลดเงินเดือนพนักงานลง เพื่อที่จะลดภาระทางด้านการต้นทุนแรงงาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การมีโครงสร้างเงินเดือนเป็นการสร้างแนวทางในการบริหารค่าตอบแทนที่เป็นธรรมมากขึ้น และเมื่อโครงสร้างเงินเดือนเสร็จแล้ว ก็ไม่เคยที่จะมีพนักงานคนไหนที่ถูกลดเงินเดือนลงสักคนเดียว
  • กลัวว่าจะไม่ได้ขึ้นเงินเดือนอีก นี่ก็เป็นอีกหนึ่งในความกลัวของพนักงานว่าเมื่อบริษัทมีโครงสร้างเงินเดือนแปลว่าบริษัทจะไม่มีการขึ้นเงินเดือน หรือ ขึ้นเงินเดือนให้พนักงานน้อยลงกว่าเดิมที่เคยเป็นมา ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น การมีโครงสร้างเงินเดือนจะยิ่งทำให้การบริหารการขึ้นเงินเดือนเป็นธรรมตามผลงานมากขึ้นด้วยซ้ำไป คนที่ทำผลงานได้ดี จะมีโอกาสขึ้นเงินเดือนในอัตราที่มากกว่าคนผลงานแย่กว่า และการมีโครงสร้างเงินเดือนที่ดี จะทำให้การบริหารการขึ้นเงินเดือนมีความเป็นธรรมมากขึ้นด้วย
นี่คือความกลัวของพนักงานที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของโครงสร้างเงินเดือน ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกตินะครับ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ต้องกังวัลแต่อย่างใด เพราะผมมักจะย้ำว่า การสื่อสารในเรื่องของระบบที่จะเปลี่ยนแปลงไปนั้นมีความสำคัญมาก สื่อให้พนักงานเข้าใจถึงข้อดี ข้อเสีย อย่างตรงไปตรงมา และบอกว่าทำไมถึงต้องมีโครงสร้างเงินเดือนโดยไม่มีการปิดบังอะไร ก็จะทำให้พนักงานเกิดความเข้าใจมากขึ้น และแรงต้านก็จะน้อยลงครับ ในทางตรงกันข้าม พนักงานอีกส่วนหนึ่งก็เกิดความคาดหวังว่า เมื่อบริษัทมีการจัดทำโครงสร้างเงินเดือนก็น่าจะมีการปรับเงินเดือนให้กับพนักงานมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในความเป็นจริง ก็ไม่เสมอไปอีกเช่นกัน ดังนั้นเรื่องเงินๆ ทองๆ แบบนี้ ผมคิดว่าควรจะสื่อความให้พนักงานทราบอย่างเข้าใจถึงที่มาที่ไปจะดีกว่าให้พนักงานไปคิดเอาเอง เพราะพนักงานมักจะคิดเข้าข้างตัวเองเสมอครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น