วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

นโยบายการบริหารบุคคลแบบนี้ ดูเหมือนปกติจริงหรือ

Job-Evaluation

มีหลายองค์กรที่มีนโยบายในการบริหารทรัพยากรบุคคลในบางเรื่องที่อาจจะดูแล้ว เป็นเรื่องธรรมดา และบางองค์กรอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ และจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และมีความเป็นธรรมหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องที่ยากจะตัดสินใจ เพราะอาจจะมีเรื่องของทัศนคติ แนวคิด และวัฒนธรรมองค์กรเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องเหล่านี้เองก็เป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ เราลองมาดูกันว่า นโยบายเหล่านี้มีอะไรกันบ้าง

  • ให้ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ แต่รับผิดชอบแบบผู้จัดการ มีหลายองค์กรที่รับพนักงานในระดับผู้จัดการเข้ามาทำงาน แต่พอพิจารณาเรื่องของอายุตัวแล้วยังรู้สึกว่าน้อยเกินไป ก็เลยเสนอให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการไปก่อน เงินเดือนที่ให้ก็ให้ต่ำกว่าระดับผู้จัดการ ด้วยเหตุผลว่าเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ แต่งานที่ทำและรับผิดชอบนั้น กลับรับผิดชอบงานเหมือนผู้จัดการคนหนึ่งเลย เวลาทำงานก็ทำงานแบบผู้จัดการ เวลาคิด ตัดสินใจ ก็คิดแบบผู้จัดการ เวลามีปัญหาอะไรก็ต้องแก้ไขปัญหาในฐานะผู้จัดการ แต่ทำไมยังต้องให้ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ แค่เพียงเพราะอายุน้อยเกินกว่าผู้จัดการคนอื่นหรือ? คำถามคือนโยบายและการบริหารแบบนี้มีความเป็นธรรมหรือไม่
  • เลื่อนตำแหน่งเป็นระดับจัดการแต่ให้ทดลองงานก่อน หลายองค์กรที่เลื่อนตำแหน่งให้พนักงานขึ้นมาเป็นระดับผู้จัดการ หรือระดับผู้จัดการขึ้นไปเป็นผู้อำนวยการ ซึ่งก็คือระดับบริหารของบริษัท แต่ให้มีการทดลองงานก่อน 4 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง และพอทดลองงานไม่ผ่าน ก็ลดตำแหน่งกลับลงไปเหมือนเดิม นโยบายแบบนี้ดูเหมือนธรรมดานะครับ ก็คือ เมื่อมีการรับตำแหน่งใหม่ ก็ให้มีการทดลองงาน ซึ่งจะว่าไปมันก็ดูปกติ แต่ประเด็นคือ ระดับบริหารนี่สิครับ จำเป็นต้องทดลองงานจริงหรือ แล้วถ้าไม่ผ่านจริงๆ ลดตำแหน่งกลับลงมา พนักงานเองจะรู้สึกอย่างไร ที่สำคัญก็คือ เราควรจะเตรียมความพร้อมของพนักงานก่อนเลื่อนตำแหน่งจะดีกว่าหรือไม่ ซึ่งในการเตรียมความพร้อมนั้นก็คือ ให้มีการฝึกอบรม มอบหมายงานที่ต้องมีการบริหารจัดการคน และให้งานในบทบาทของผู้จัดการ แต่ยังได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากนายก่อน เพื่อให้มั่นใจว่า พนักงานคนนั้นมีศักยภาพในการทำงานในตำแหน่งผู้จัดการแล้วจริงๆ แล้วก็ไม่ต้องมีการทดลองงานอีก เรียกว่า คนที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งนั้นจะต้องพร้อมจริงๆ แต่พอขึ้นไปแล้ว ก็คงต้องได้รับการสอนงานและมีระบบพี่เลี้ยงคอยช่วยเพื่อให้พนักงานทำงานได้ จริงๆ
  • ขอลดเงินเดือนเริ่มจ้างลง และถ้าผ่านทดลองงานก็จะบวกเพิ่มให้ นโยบายนี้ก็อีกเช่นกัน ดูเหมือนจะไม่มีอะไรผิดปกติ แต่บางองค์กรกลับใช้ช่องว่างตรงนี้เพื่อเอาเปรียบพนักงาน และทำให้องค์กรได้เปรียบ ก็คือ พอใกล้ช่วงเวลาประเมินทดลองงาน ก็จะบอกกับพนักงานว่า ยังไม่ผ่านทดลองงาน ขอยืดเวลาทดลองงานออกไปก่อน เงินที่จะปรับก็ยืดออกไปก่อนเช่นกัน แต่ประเด็นก็คือ งานที่มอบหมายให้ทำนั้นกลับเป็นงานเต็มๆ ที่เหมือนกับพนักงานไม่ได้ทดลองงานเป็นคนทำ แต่กลับแจ้งว่ายังไม่ผ่านทดลองงาน ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะยังไม่ต้องจ่ายเงินเดือนในส่วนต่างนั้น เหมือนเป็นการชะลอเวลาในการจ่ายออกไปก่อน
  • พนักงานขอเงินเดือนต่ำกว่าอัตราที่กำหนดไว้ของบริษัท ก็ให้ตามที่ขอ อีก เรื่องเป็นนโยบายในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนที่เกิดขึ้นกับหลายบริษัท กล่าวคือ มีการกำหนดอัตราแรกจ้างไว้ เช่น ปริญญาตรีให้ 15,000 บาท แต่ถ้าพนักงานที่เรารับเข้ามา เขาขอเงินเดือนต่ำกว่า เช่นขอไว้ที่ 12,000 บาท บริษัทก็จะให้ตามที่พนักงานขอไว้ทันที โดยไม่ให้ตามอัตราที่บริษัทกำหนดไว้ แต่ถ้าขอมากกว่า จะให้ตามอัตราที่กำหนด แบบนี้จะเรียกว่าเป็นธรรมหรือไม่ และจะเกิดปัญหาตามมาอีกหรือไม่ ก็ต้องพิจารณากันให้ดีก่อนครับ
จากสิ่งที่ได้เขียนมาข้างต้น ท่านคิดว่าปกติจริงหรือ และถ้าเราทำแบบนั้นจริงๆ คิดว่าจะเกิดปัญหาอะไรตามมาบ้าง ก็น่าคิดนะครับ ในมุมของผมเองนั้น จะกำหนดนโยบายแบบไหนก็แล้วแต่ สิ่งที่จะต้องพิจารณาก็คือ ความเป็นธรรมของนโยบายนั้น ความเท่าเทียม และไม่เอาเปรียบทั้งพนักงาน และบริษัท

และถ้าเราทำได้จริงๆ พนักงานเองก็จะรู้สึกว่าบริษัทให้ความเป็นธรรมกับพนักงานอย่างดี มีหลักการที่ถูกต้องชัดเจน และน่าเชื่อถือ เวลาพนักงานทำงานก็จะทำงานอย่างเต็มที่ไม่ต้องมานั่งคิดมาก หรือกังวลกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องอีกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น