วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

สรุปประเด็นสำคัญจากผลการสำรวจค่าตอบแทนและสวัสดิการปี 2558-2559

paymix

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (13 พฤศจิกายน 2558) ทางสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย ก็ได้จัดสัมมนาสรุปผลการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการของปี 2558-2559 ที่โรงแรมดิเอ็มเมอรัล ให้กับผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจฯ และผู้ที่ซื้อรายงานผลการสำรวจ เพื่อให้เห็นภาพรวมและแนวโน้มของการบริหารค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการในปี ถัดไปว่าเป็นอย่างไร แนวโน้มเรื่องอะไรที่สำคัญบ้าง


บทความในวันนี้ก็เลยขอสรุปประเด็นสำคัญๆ มาให้อ่านกันครับ
  • ช่วงเศรษฐกิจไม่ค่อยดีแบบนี้ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะทำการตรวจสอบระบบการจ่ายค่าตอบแทนของบริษัท ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับแผนกลยุทธ์ขององค์กร เนื่องจากระบบค่าตอบแทนขององค์กรส่วนใหญ่นั้น ไม่ค่อยจะไปมีส่วนเชื่อมโยงกับแผนกลยุทธ์ขององค์กรสักเท่าไหร่ องค์กรวางแผนไว้ชัดเจนว่าอยากบรรลุเป้าหมายในอนาคตมากมาย แต่ระบบค่าตอบแทนที่จะใช้ในการดึงดูด รักษา และจูงใจคนที่จะมาทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายนั้นกลับไม่มีการทำอะไร ดังนั้นถ้าช่วงนี้เป็นช่วงแห่งการทบทวนและตรวจสอบเป้าหมาย และแผนงานขององค์กร ก็ควรจะตรวจสอบระบบค่าตอบแทนขององค์กรให้ชัดเจนด้วยเช่นกัน
  • สิ่งที่จะต้องตรวจสอบก็คือ ระบบค่าตอบแทนของบริษัทนั้น สามารถทำให้แผนกลยุทธ์ขององค์กรที่กำหนดไว้นั้นไปได้ตามนั้นจริงๆ หรือไม่ ลองไล่ถามไปตามลำดับต่อไปนี้ (1) เป้าหมายขององค์กรคืออะไร (2) มีแผนงานอะไรบ้างที่จะทำให้องค์กรไปสู่เป้าหมายนั้นได้ และ (3)การบรรลุเป้าหมายนั้น องค์กรต้องการคนอย่างไร แบบไหน คุณสมบัติต้องเป็นอย่างไร มีอะไรที่แตกต่างไปจากคุณสมบัติเดิมๆ ที่เรามีอยู่ (4) เราแข่งขันในการว่าจ้างคนแบบนี้กับธุรกิจใดบ้าง (5) ธุรกิจเหล่านี้เขามีนโยบายในการจ่ายอย่างไร (6) แล้วเราเองจะต้องกำหนดนโยบายในการจ่ายอย่างไร เพื่อที่จะสามารถดึงดูด รักษา และจูงใจคนกลุ่มนี้ให้ทำงานให้เราได้ จากนั้นก็ลองดูว่าระบบค่าตอบแทนปัจจุบันที่เราใช้อยู่นั้นมันแตกต่างอย่างไร กับสิ่งที่เราตอบคำถามไป แล้วจึงวางแผนในการสร้างระบบค่าตอบแทนใหม่ขึ้นมา เพื่อที่จะได้สอดคล้องกับเป้าหมายและแผนงานขององค์กร
  • อัตราแรกจ้างตามวุฒิการศึกษา จากผลการสำรวจปี 2558 ค่อนข้างไปในทางเดียวกันว่า อัตราแรกจ้างตามวุฒิการศึกษาไม่ว่าจะเป็นวุฒิการศึกษาปวช. ปวส. ปริญญาตรี ปริญญาโท ในแต่ละสาขาวิชาชีพนั้น ตัวอัตราแรกจ้างแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากปีที่ผ่านมาเลย และแนวโน้มในปีถัดไปก็ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากเช่นกัน ดังนั้น องค์กรใดที่มีการกำหนดอัตราแรกจ้างที่แข่งขันได้อยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องปรับอัตราแรกจ้างตามวุฒิการศึกษาใหม่แต่อย่างใด ยกเว้นว่าองค์กรของท่านเริ่มมีปัญหาในการดึงดูดคนเข้ามาทำงาน ก็อาจจะต้องพิจารณาอัตราแรกจ้างของตนเองก่อนว่าแข่งขันได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็คงต้องมีการปรับกันใหม่
    pay-gender
  • อัตราการขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงาน ผลของต้นปี 2558 ที่ผ่านมา ขึ้นกันไปเฉลี่ยที่ 45% ซึ่งในปีนี้อัตราค่าครองชีพก็ติดลบมาทุกเดือนตั้งแต่ต้นปี และภาวะเศรษฐกิจบ้านเราเองก็ยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แนวโน้มปีหน้า 2559 เองก็ยังไม่ค่อยเห็นทางสว่างมากนัก นายจ้างเองก็ต้องรัดเข็มขัดอยู่พอสมควร การจะหารายได้เพิ่มในปีหน้าก็ยังอาจจะมองไม่ค่อยเห็นแนวทางที่ชัดเจน ก็เลยทำให้อัตราการขึ้นเงินเดือนโดยเฉลี่ยของปี 2559 ที่กำลังจะถึงนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ช่วง 4.5-5.5% บวบลบ ก็อยู่ที่ความสามารถในการจ่ายขององค์กรเราเองส่วนหนึ่งด้วย และอีกประการหนึ่งก็คือ อยู่ที่ระดับการจ่ายค่าจ้างของบริษัทเมื่อเทียบกับตลาดด้วยเช่นกัน ถ้าเรามีอัตราค่าจ้างที่สูงกว่าตลาดอยู่แล้ว อัตราการขึ้นเงินเดือนก็อาจจะไม่มากนักได้ แต่ถ้าเรามีอัตราค่าจ้างที่ต่ำกว่าตลาด ก็อาจจะต้องพิจารณางบประมาณที่สูงกว่าที่ประมาณการไว้ได้
  • อัตราโบนัสเฉลี่ย ปลาย ปีนี้ องค์กรมีการกำหนดอัตราโบนัสเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3 เดือน ซึ่งในแต่ละกลุ่มธุรกิจก็แตกต่างกันออกไปอีกเช่นกัน กลุ่มที่ยังคงโดดเด่นเรื่องของโบนัสก็คือกลุ่มธุรกิจยานยนต์ แม้ว่าอาจจะมีอัตราลดลงไปบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ
  • อัตราการขึ้นเงินเดือนกรณีเลื่อนตำแหน่ง ในกรณีที่พนักงานได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น อัตราการปรับเงินเดือนจะอยู่ที่ 10% จากเงินเดือนเดิม หรือจาก mid-point ก็ได้ ขึ้นอยู่กับระบบการขึ้นเงินเดือนของบริษัท
  • เกณฑ์ในการพิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปี ก็จะประกอบไปด้วยผลงานตาม KPI ที่ทำได้ Competency ที่ประเมินได้ และ Potential ก็คือ ศักยภาพที่จะสร้างผลงานให้กับองค์กรในอนาคตว่ามีมากแค่ไหน
  • เกณฑ์ในการพิจารณาโบนัส จาก ผลการสำรวจ องค์กรส่วนใหญ่พิจารณาโบนัสให้พนักงานจาก KPI เป็นหลัก โดยที่ไม่มี Competency หรือ Potential เนื่องจากโบนัสมากจากผลกำไร และผลประกอบการของบริษัท ซึ่ง ปกติ ก็จะผูก KPI ไว้อย่างตรงไปตรงมาอยู่แล้ว
หลักๆ จากผลการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการของปี 2558-2559 ของทาง PMAT ก็มีสาระสำคัญประมาณนี้นะครับ ที่เหลือก็จะเป็นข้อมูลค่าจ้างเงินเดือนรายตำแหน่งซึ่งก็คงต้องนำไปใช้ในการ วางโครงสร้างเงินเดือน หรือใช้สำหรับเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างของบริษัทกับตลาดปีนี้ว่าเป็นอย่างไร บ้าง ซึ่งก็เป็นหน้าที่ที่สำคัญอีกข้อหนึ่งของคนที่ทำหน้าที่บริหารค่าจ้างเงิน เดือนขององค์กรครับ

เห็นแบบนี้แล้ว บริษัทของท่านจะมีแนวโน้ม และมีแนวทางในการปรับระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือนอย่างไรกันบ้างครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น