วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

องค์กรมี Career Path แต่ทำไมพนักงานไม่อยากโตในองค์กร

CAREER
เรื่องของการเติบโตของพนักงานในองค์กรนั้น เป็นสิ่งสำคัญมากในการบริหารทรัพยากรบุคคลในยุคปัจจุบัน เนื่องจากพนักงานแทบทุกคนที่เข้ามาทำงานกับองค์กร ต่างก็ต้องการการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ตำแหน่งหน้าที่การงาน เงินเดือนค่าจ้าง ความท้าทายในการทำงาน ฯลฯ องค์กรส่วนใหญ่ ก็มีการออกแบบเส้นทางความก้าวหน้าทางสายอาชีพ เพื่อรองรับความต้องการของพนักงานที่ต้องการเติบโต จะได้มีเส้นทางในการเติบโตอย่างมีระบบ


แต่ปัญหาก็คือ ทำไมพนักงานบางคนโดยเฉพาะคนเก่งๆ ขององค์กรจึงไม่ต้องการที่จะเติบโตในองค์กร แต่กลับอยากเติบโตโดยการเปลี่ยนไปทำงานกับองค์กรอื่นๆ ภายนอก เพื่อทำให้ตนเองเติบโตก้าวหน้าในการทำงาน ลองมาดูสาเหตุกัน
  • เส้นทางการเติบโตในองค์กรไม่ตอบสนองความต้องการของพนักงาน ประเด็นนี้เป็นสาเหตุหลักที่เจอมากที่สุด ก็คือ career path ขององค์กรไม่ตรงกับความต้องการเติบโตของพนักงานคนนั้น พนักงานบางคนต้องการเข้ามาทำงานกับองค์กรเพื่อที่จะหาประสบการณ์ในการทำงาน ที่ดี บางคนต้องการทำงานกับองค์กรใหญ่ๆ เพื่อที่จะได้เรียนรู้ระบบการทำงานที่ดี เพื่อที่จะนำเอาประสบการณ์ที่ได้นี้ไปต่อยอดในสิ่งที่ตนเองต้องการมากกว่า ที่จะโตในองค์กรนั้นๆ
  • ระยะเวลาที่ใช้ในการเติบโต อีกประเด็นที่มักจะทำให้คนเก่งต้องไปจากองค์กรแม้ว่าองค์กรนั้นจะมี career path ที่ดีก็คือ เรื่องของระยะเวลาในการเติบโตไปยังตำแหน่งที่พนักงานต้องการนั้น ใช้เวลานานเกินไป หรือ นานเกินไปกว่าแผนการเติบโตของพนักงานคนนั้นที่ตั้งใจไว้ โดยเฉพาะพนักงานที่มีความเก่งกาจสามารถ ทำผลงานได้ดี ก็ต้องการที่จะเติบโตเร็วๆ แต่พอมาดูระบบ career path ของบริษัทแล้วต้องใช้เวลานานกว่าที่ตั้งใจไว้มาก ก็เลยหันไปหาวิธีการโตจากภายนอกองค์กรมากกว่า ด้วยเหตุนี้ ก็เลยมีหลายองค์กรที่ใช้ระบบ fast track สำหรับพนักงานที่เป็นพวก star โดยกำหนดระยะเวลาในการเติบโตที่เร็วกว่าปกติค่อนข้างมาก แต่ประเด็นก็คือ จะต้องมีเกณฑ์ที่ชัดเจนว่า คนที่เป็น star นั้นจะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง มิฉะนั้นแล้ว พนักงานทุกคนก็จะกลายเป็น star ในชั่วข้ามคืนอย่างแน่นอนครับ
  • เกณฑ์ในการเติบโตยากเกินไป พนักงาน บางคนก็รู้สึกว่า เกณฑ์ในการเติบโตของบริษัทตามสายอาชีพนั้นมันยากเกินไป บางบริษัทกำหนดไว้อย่างค่อนข้างโหด เพื่อที่จะได้คนที่เหมาะสมจริงๆ ในการทำงานที่ยากขึ้น เช่น ต้องมีผลงาน A ติดกัน และต้องผ่านการฝึกอบรมในเรื่องอะไรมาบ้าง อีกทั้งยังต้องเคยผ่านการโอนย้ายงานไปดูแลงานสายอื่นเพิ่มเติม ซึ่งจริงๆ เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้วในการทำ career path แต่บางแห่งทำแบบค่อนข้างโหด พนักงานธรรมดาพอมาอ่านเกณฑ์เหล่านี้เข้า ก็รู้ตัวเองว่า ตนเองไม่สามารถเติบโตไปตามสิ่งที่เขียนไว้ได้อย่างแน่นอน สุดท้ายก็เลยใช้การเปลี่ยนงานเป็นเส้นทางในการเติบโตของตนเอง
  • คิวยาวเกินไป อีกประเด็นหนึ่งที่มักจะเป็นปัญหาก็คือ ระบบ career path ของบางองค์กรที่ทำไว้นั้น จะมีการกำหนดโควต้าไว้ด้วย และยิ่งไปกว่านั้น ถ้ารุ่นพี่ของเรายังไม่ได้ไปไหน เราเองก็ต้องรอไปก่อน เพราะด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นอยู่ก็คือ ต้องขึ้นไปตามลำดับอาวุโส ซึ่งเด็กรุ่นใหม่สมัยนี้เขาไม่รอแล้ว ผลสุดท้ายก็คือ เปลี่ยนงานเพื่อให้ตนเองเติบโตอีกเช่นกัน
  • วัฒนธรรมการทำงานและบรรยากาศในการทำงาน อีก เรื่องที่มักจะทำให้พนักงานเก่งๆ บางคนไม่อยากที่จะเติบโตในองค์กร ก็คือ พนักงานเรียนรู้วัฒนธรรมในการทำงานมาค่อนข้างชัดเจน อีกทั้งรู้ว่าองค์กรนี้มีข้อจำกัดในการบริหารจัดการเรื่องอะไรบ้าง พอถึงเวลาที่จะเติบโต พนักงานบางคนกลับมองว่า ไม่อยากโต เพราะรู้ตัวว่าถ้าโตขึ้นไปได้รับตำแหน่งที่สูงขึ้น ยังไงก็ไม่สามารถที่จะสร้างผลงานตามที่ตนเองต้องการได้ เพราะมีข้อกำจัดในการบริหารจัดการอยู่ หรืออาจจะมีเรื่องของการเล่นการเมืองในองค์กรด้วยกลุ่มผู้มีอิทธิพลบางคน ก็เลยทำให้พนักงานคิดหนักว่าจะโตขึ้นไปดีหรือไม่ สุดท้ายก็ไม่เอาดีกว่า
จริงๆ แล้วเรื่องของ career path เป็นสิ่งที่ดีนะครับ องค์กรเองก็พยายามที่จะออกแบบเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อที่จะเป็นเครื่องมือในการเก็บรักษาคนเก่งขององค์กรไว้ ให้เขามีโอกาสเติบโตไปพร้อมกับองค์กร แต่ก็ต้องอย่าลืมว่า มันมีข้อจำกัดอีกมากที่ทำให้พนักงานไม่อยากเติบโตไปกับองค์กรด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเรื่องของความต้องการส่วนตัว เป้าหมายในชีวิตของพนักงานเองที่ไม่ตรงกับสิ่งที่องค์กรเสนอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น