เมื่อวานผมเขียนเรื่องของ Career Path ในประเด็นที่ว่า บริษัทมีระบบ career path ที่ดี ชัดเจน แต่พนักงานบางคนโดยเฉพาะคนที่เป็นคนเก่งขององค์กรกับเลือกที่จะใช้วิธีการ เติบโตแบบการเปลี่ยนงานไปตามองค์กรต่างๆ เพื่อให้ตำแหน่งงานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็มีท่านผู้อ่านเขียนมาคุยว่า แล้วถ้าพนักงานในองค์กรไม่อยากโตเลยล่ะ เป็นไปได้หรือไม่ และถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ องค์กรควรจะทำอย่างไรดี
ประเด็นคือ พนักงานส่วนใหญ่ในองค์กรมักจะอยากเติบโตไปตามเส้นทางสายอาชีพที่องค์กรได้ ออกแบบไว้ มันทำให้พนักงานเองรู้สึกถึงความก้าวหน้าในการทำงานกับองค์กร แต่กลับมีพนักงานบางกลุ่มที่ยืนกรานกับผู้บังคับบัญชาว่า เขาไม่ต้องการที่จะเติบโต career อะไรที่ว่านี่ ไม่ต้องมาคุยกับเขาเลย เพราะเขาต้องการทำงานแบบที่เป็นอยู่นี้แหละพอแล้ว ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรกับกรณีนี้บ้างครับ
ผมเองก็เคยสอบถามพนักงานที่ ไม่ต้องการเติบโตอะไรในองค์กรเลย อยากแค่ทำงานแบบนี้ก็พอแล้ว ว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนี้ ลองมาดูคำตอบกันนะครับ
- รู้สึกถึงความลำบากในการเติบโต พนักงานกลุ่มนี้เวลาเห็นเส้นทางการเติบโต และเกณฑ์ในการเติบโตที่องค์กรกำหนดไว้แล้วนั้นรู้สึกถึงความยุ่งยากในชีวิต ของตนเองขึ้นมาทันที เพราะต้องทำผลงานไม่ต่ำกว่า B บ้าง หรือ C บ้าง และมีการกำหนดจำนวนปีในแต่ละผลงานอีก นอกจากนั้นยังต้องมีการผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ มากมาย แค่อ่านเกณฑ์ก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว ก็เลยไม่ต้องการที่จะเติบโตอะไร
- กลัวที่จะต้องถูกโอนย้าย อีก ประเด็นก็คือ ส่วนใหญ่การเติบโตตามสายอาชีพนั้น มักจะมีการกำหนดเกณฑ์อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ต้องผ่านการโอนย้ายไปทำงานในหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามจำนวนปีที่กำหนดไว้ และยิ่งไปกว่านั้น ผลงานที่อยู่ระหว่างการโอนย้ายไปก็ต้องไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้อีกด้วย พนักงานเองก็เกิดความกลัว โดยเฉพาะพนักงานที่ทำงานมานานๆ และเคยชินกับการทำงานแบบเดิมๆ หน้าที่แบบเดิม ที่เขาเรียกกว่า silo ก็คือรู้แค่งานของตนเอง แต่ไม่อยากไปรู้งานของคนอื่น แต่การเติบโตในองค์กรโดยเฉพาะการโตไปในเส้นทางของผู้บริหารระดับสูงนั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับการโอนย้าย เปลี่ยนงานไปดูแลงานอื่นๆ ให้กว้างมากขึ้นกว่าเดิม พอพูดถึงเรื่องการโอนย้าย พนักงานบางคนกลัวมาก ก็เลยตัดสินใจทันทีว่า ไม่ต้องมายุ่งกับชีวิตของเขา เขาอยากทำงานแค่นี้ ไม่อยากเติบโตไปไหนแล้ว เพราะไม่อยากถูกโอนย้ายนั่นเอง
ประเด็น ถัดมาก็คือ แล้วถ้าพนักงานยืนกรานว่า ไม่อยากโตจริงๆ ไม่ต้องมายุ่งอะไรกับเขาเลย แล้วองค์กรจะบริหารจัดการพนักงานคนนี้อย่างไรดี
คำตอบก็คือ องค์กรคงต้องเอาเรื่องของการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ในมุมของค่างานเข้ามาจับ กล่าวคือ ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบในการทำงาน โดยยังคงทำงานแบบเดิม รับผิดชอบแบบเดิม เมื่อถึงวันหนึ่งที่เงินเดือนชนเพดานของโครงสร้างเงินเดือนในระดับงานของ ตำแหน่งงานนั้นๆ ก็ต้องบอกพนักงานว่า เขาจะไม่ได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนอีกต่อไปนั่นเอง เพราะงานทำเหมือนเดิมทุกอย่างแล้ว ไม่มีมูลค่าเพิ่มอะไรให้กับบริษัท ก็ต้องหยุดเรื่องของเงินเดือนเช่นกัน
อีกเรื่องก็คือ ต้องเอาเรื่องของการบริหารผลงานเข้ามาช่วยอีกแรง การที่พนักงานทำงานเหมือนเดิมผลงานแบบเดิมทุกปี ไม่ได้แปลว่าผลงานดีทุกปีนะครับ เพราะถ้าเขาไม่ต้องการพัฒนาตนเองเลย นั่นแปลว่า ในมุมของพฤติกรรมของพนักงานคนนั้นไม่ดีตามมาตรฐานขององค์กร ดังนั้น ผลงานในภาพรวมของพนักงานคนนี้ก็จะลดลงทุกปี แม้ว่างานจะออกมาเหมือนเดิม เพราะคนอื่นเขาแซงหน้าไปกันหมดแล้วนั่นเองครับ
และถ้าเราชี้แจงพนักงานด้วยเหตุผลแบบที่ว่าไปแล้ว พนักงานยังคงยืนกรานว่ายังไงก็ไม่อยากโตไปไหน เราก็จะได้ปล่อยให้เขาทำงานในแบบที่เขาต้องการจนถึงวันหนึ่ง เงินเดือนของเขาก็จะตัน ตามที่เราได้แจ้งไว้นั่นเองครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น