วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2557

ความท้าทายที่จะเกิดขึ้นกับงาน HR ในอีก 10 ปีข้างหน้า


องค์กรปัจจุบันที่มีการบริหารงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ หรือขนาดเล็กก็ตาม ต่างก็เริ่มให้ความสำคัญกับการบริหารทรัพยากรบุคคลมากขึ้นกว่าในอดีตมาก ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรเริ่มที่จะมองเห็นความสำคัญของคำว่า “ทรัพยากรบุคคล” มากขึ้นว่าจะมีผลต่อความสำเร็จขององค์กรอย่างไร ถ้าเราสามารถที่จะบริหารให้ดี ไม่ว่าจะเป็นการสรรหาคัดเลือก การพัฒนาพนักงาน การบริหารผลงาน การบริหารค่าตอบแทน และการสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร


แค่ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ถ้าใครที่ทำงานอยู่ในแวดวง HR จะสังเกตได้อย่างชัดเจนว่า มีการพัฒนาขึ้นกว่าในอดีตอย่างก้าวกระโดด องค์กรต่างๆ เริ่มมีการออกแบบระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างจริงจัง เริ่มที่จะให้ HR เข้ามามีส่วนในการตัดสินใจ และร่วมกำหนดทิศทางขององค์กรในอนาคตร่วมกับฝ่ายงานหลักขององค์กรมากขึ้น ผลก็คือ ระบบงาน HR ของบริษัทต่างๆ ก็ได้รับการต่อยอดและพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเริ่มที่จะพิสูจน์ได้ว่า ถ้าระบบ HR ดีๆ ก็จะมีผลต่อความสำเร็จขององค์กรได้มากขึ้น ก็เลยยิ่งทำให้องค์กรอื่นๆ เริ่มมองเห็นความสำคัญมากขึ้นไปอีก และเริ่มที่จะทำระบบ HR ของตนให้แข็งแกร่งมากขึ้น

คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วในอนาคตจากนี้ต่อไปอีก 10 ข้างหน้า ระบบ HR จะมีความท้าทายอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกบ้าง ผมได้ไปค้นเจองานวิจัยชิ้นหนึ่งของ Society For Human Resource Management (SHRM) ซึ่งเป็นคล้ายๆ สมาคมทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ใหญ่มากของสหรัฐอเมริกา ได้ทำวิจัยชิ้นหนึ่งไว้ เกี่ยวกับเรื่องของ ความท้าทายในงาน HR ในช่วงอีก 10 ปีข้างนี้ว่าจะมีเรื่องอะไรบ้างที่ชาว HR จะต้องให้ความสำคัญมากขึ้น ผมได้สรุปผลการวิจัยมาเป็นอันดับว่า เรื่องอะไรบ้างที่จะเป็นความท้าทายใน 3 อันดับแรกของงาน HR ในอนาคต
  • ความท้าทายอันดับที่ 1 คือ การเก็บรักษาและการให้รางวัลTatentในองค์กร เรื่องนี้ได้รับการโหวตมาเป็นอันดับที่ 1 เลยว่า งานที่ท้าทายที่สุดที่ HR จะต้องทำและดำเนินการให้ได้ก็คือ การวางระบบการบริหารจัดการคนเก่งในองค์กร โดยเน้นไปที่วิธีการที่จะเก็บรักษา (Retain) และวิธีการที่จะให้รางวัล (Reward) คนเก่งในองค์กรของเรา เนื่องจากในอนาคตคนเก่งจะเริ่มขาดแคลนมากขึ้น และเป็นที่ต้องการตัวของตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ องค์กรที่มีการสรรหา และสร้างคนเก่งขึ้นมาได้ ก็ต้องเริ่มหาวิธีการที่จะเก็บรักษา และบริหารค่าตอบแทนของคนกลุ่มนี้ที่เรียกได้ว่า มีความแตกต่างออกไปจากพนักงานที่ทำงานแบบมาตรฐานปกติทั่วไป มิฉะนั้น คนเก่งในองค์กรของเราก็จะถูกซื้อตัวไปอย่างแน่นอน
  • ความท้าทายอันดับที่ 2 คือ การพัฒนาผู้นำองค์กรในรุ่นถัดไป เรื่อง นี้ได้รับการโหวตเป็นอันดับที่สองว่าเป็นสิ่งที่ HR จะต้องวางแผน และหาวิธีการในการที่จะสร้างและพัฒนาผู้นำขององค์กรรุ่นถัดๆ ไป เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ หลายๆ องค์กรผู้นำเกษียณอายุไปแล้วโดยไม่มีการสร้างทายาทในการบริหารขึ้นมาเลย ก็เลยทำให้องค์กรขาดผู้นำที่ดี หรืออาจจะต้องไปหาผู้นำจากภายนอกเข้ามา ซึ่งก็ต่อภาพจากคนเก่าได้ยาก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว นี่คือความท้าทายของงาน HR ว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่จะสร้างทายาทรุ่นถัดไปของผู้นำในระดับต่างๆ ในองค์กร ดังนั้นระบบการพัฒนาพนักงานด้วยเครื่องมือต่างๆ ก็ต้องเริ่มนำมาใช้กันมากขึ้น ระบบการพัฒนาความก้าวหน้าทางสายอาชีพ ระบบ Succession Planning และการวางแผนพัฒนาผู้นำต้องเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น เพื่อที่จะได้มีผู้สืบทอดได้ทันเวลา
  • ความท้าทายอันดับที่ 3 คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สามารถที่จะดึงดูดคนเก่งคนดีให้เข้ามาทำงานกับองค์กรของเราได้ เนื่อง จากในอนาคตเรื่องของการแข่งขันในการบริหารค่าตอบแทน อาจจะไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมากนัก องค์กรก็เลยต้องมีการสร้างแรงดึงดูดใหม่ เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยดึงดูดพนักงานให้เข้ามาสมัครงานกับองค์กรมาก ขึ้น สิ่งที่ต้องสร้างให้ได้ก็คือ วัฒนธรรมองค์กรที่มีความโดดเด่น เมื่อพูดถึงชื่อบริษัทเรา ก็สามารถทำให้คนทั่วไปรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ และน่าทำงาน ซึ่งในยุคปัจจุบันเราเรียกสิ่งนี้ว่า Employer Branding ถ้า HR สามารถวางระบบและสร้างสิ่งนี้ได้ การหาคน การดึงดูดคนภายนอกให้เข้ามาทำงานกับเรา ก็ทำได้ง่ายขึ้นมาก ไม่ต้องไปโฆษณาชวนเชื่อในเรื่องอื่นๆ เลย เนื่องจากตัวองค์กรสามารถสร้างมุมมองที่ดีต่อคนทั่วไปได้อยู่แล้ว
นี่คือความท้าทายในอนาคตที่ SHRM ได้ทำวิจัยไว้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งผมลองนั่งคิดดูแล้ว ก็คิดว่าคงไม่แตกต่างกันประเทศไทยมากนัก เนื่องจากในยุคปัจจุบันระบบ HR เริ่มได้รับการยอมรับ และได้รับความสำคัญมากขึ้นในบ้านเราเป็นอย่างมาก ทุกองค์กรพยายามที่จะหาวิธีการในการบริหารคนที่ดี และทำอย่างเป็นระบบมากขึ้นกว่าในอดีต และเมื่อระบบ HR เราเริ่มนิ่งแล้ว มันก็ยังไม่จบนะครับ สิ่งที่ต้องคิดต่อ ก็คือจะต้องทำอะไรต่อไปบ้างที่จะทำให้องค์กรของเราเติบโตอย่างยั่งยืนจริงๆ ซึ่งผมก็เชื่อว่า ความท้าทาย 3 ข้อข้างต้น ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบ HR ขององค์กร เพื่อให้องค์กรของเราเติบโตอย่างต่อเนื่อง

แต่อย่างไรก็ดี HR ก็คงต้องพิจารณาถึงระบบ และสิ่งที่จะต้องพัฒนาต่อไปในองค์กร ให้มีความสอดคล้อง และเหมาะสมกับเป้าหมายในอนาคตขององค์กรเราเองด้วย ไม่ควรที่จะเลียนแบบคนอื่น แบบว่าเขามี เราก็ต้องมีบ้าง โดยที่ผู้บริหาร ผู้จัดการ และพนักงานของเราเองยังไม่พร้อม

มิฉะนั้น ระบบที่พยายามเอามาใช้นั้นไม่เพียงจะไม่ช่วยให้องค์กรดีขึ้นแล้ว แต่จะยิ่งทำให้พนักงานในองค์กรรู้สึกแย่ลงไปกว่าเดิม ซึ่งส่งผลโดยตรงกับขวัญกำลังใจของพนักงาน และต่อผลงานขององค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น