ระยะนี้มีหลายองค์กรที่เข้ามาหารือเรื่องของการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ในประเด็นว่า จะทำอย่างไรที่จะทำให้เราได้คนเก่ง และคนดี ที่เหมาะสมกับองค์กรเข้ามาร่วมงาน โดยพยายามที่จะปรับปรุงระบบบริหารเงินเดือน ปรับปรุงอัตราเงินเดือน และโครงสร้างเงินเดือนให้สามารถแข่งขันได้ เพื่อที่จะทำให้การดึงดูดรักษาคนสามารถทำได้อย่างเต็มที่
ในทางปฏิบัติแล้วเรื่องของค่าจ้างเงินเดือนมีส่วนช่วยในเรื่องนี้อยู่พอสมควร โดยเฉพาะพนักงานที่จะหางานใหม่ หรือกำลังตัดสินใจว่าจะตกลงทำงานกับบริษัทไหนดี ส่วนใหญ่มากกว่า 80% ก็ใช้ค่าตอบแทนที่แต่ละบริษัทเสนอให้มาเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจว่าจะ เลือกที่ไหนดี
ถ้าในตำแหน่งเดียวกับ หน้าที่และความรับผิดชอบที่ใกล้เคียงกัน บริษัทที่เสนอเงินเดือนให้สูงกว่าก็ย่อมจะได้เปรียบมากกว่าบริษัทที่เสนอ เงินเดือนที่ต่ำกว่า
แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีบางคนแย้งว่า เงินเดือนไม่ใช่ปัจจัยหลักสำหรับทุกคน แต่สุดท้ายแล้วเราก็ไม่สามารถหนีเรื่องนี้ได้พ้น จะบอกว่า บริษัทเรามีชื่อเสียงโด่งดัง มีสภาพการทำงานที่ดีใกล้รถไฟฟ้า ใกล้ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ แต่สุดท้ายเรื่องของค่าตอบแทนก็ยังเป็นเรื่องหลักในการตัดสินใจร่วมงานของ ผู้สมัครโดยเฉพาะผู้สมัครที่เป็นคนเก่ง คนดี มีฝีมือในการทำงานดี คนกลุ่มนี้มักจะเป็นที่ต้องการตัวของบริษัทต่าง กล่าวคือบริษัทส่วนใหญ่ที่ตั้งขึ้นมาล้วนต้องการคนเก่ง คนดีทั้งสิ้น คงไม่มีบริษัทไหนที่ต้องการรับพนักงานที่ไม่เก่ง ทำงานไม่เป็น หรือมีนิสัยที่แย่ๆ เข้ามาทำงานด้วยจริงมั้ยครับ
พอบริษัทบอกว่าต้อง การคนเก่งคนดี แต่ถ้าบริษัทไม่มีการลงทุนใดๆ เพื่อเป็นการดึงดูด และรักษาคนกลุ่มนี้ ทำยังไง ก็ไม่มีทางที่จะได้คนเก่งคนดีเข้ามาทำงานได้ดั่งใจเราแน่นอน อาจจะหาได้ แต่ก็จะยากหน่อย คำถามก็คือ แล้วต้องลงทุนในเรื่องอะไรบ้าง
- เรื่องค่าตอบแทน ประเด็นแรกที่จะต้องลงทุนกันสักหน่อย ก็คือ เรื่องของค่าตอบแทนที่องค์กรจ่ายให้กับพนักงาน บางองค์กรต้องการเด็กจบใหม่ระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ที่เก่งๆ เข้ามาร่วมงาน แต่กลับไม่มีการพิจารณาอัตราแรกจ้างพนักงานในวุฒินี้ใหม่เลย 10 ปีที่แล้วเคยจ้างที่ 12,000 ก็บอกว่า เราสามารถหาวิศวกรที่รับเงินเดือนที่ 12,000 บาทได้อยู่แล้ว (ผู้บริหารและเจ้าของบอกมา) พอ HR แจ้งว่าหาคนยากมาก และไม่มีใครที่จะรับอัตราเงินเดือนระดับนี้แล้ว ผู้บริหารเองก็ไม่เชื่อ และบอกว่าที่อื่นยังรับได้เลย (โดยที่ไม่สามารถบอก HR ได้ว่าที่ไหน) พอ HR เสนอว่าเงินเดือนจะต้องเป็นอย่างน้อย 18,000 บาทต่อเดือนแล้ว ผู้บริหารก็ตกใจและไม่อนุมัติอัตราที่เสนอมา เพราะมองว่ามันมากเกินไป ทำไม่ต้องจ่ายสูงขนาดนั้น ทั้งๆ ที่ 12,000 บาทต่อเดือน ก็น่าจะจ้างได้ สุดท้าย บริษัทก็ไม่มีใครมาสมัคร หรือมาก็ไม่เลือก เพราะค่าจ้างแข่งขันไม่ได้เลย หรือถ้าจะมีคนเลือกทำ ก็จะเป็นคนอีกแบบหนึ่งที่บริษัทไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเลือกพนักงาน คุณสมบัติแบบนี้ พอรับเข้ามา ก็ทำงานไม่ได้ สอนก็ยาก แถมยังเรื่องมากอีก พนักงานเองทำงานไปสักพักก็บ่นว่า “เงินเดือนแค่นี้จะใช้อะไรนักหนา” ถ้าเราอยากได้คนเก่ง คนดี จริงๆ เข้ามาร่วมงาน บริษัทก็ต้องลงทุนในเรื่องอัตราค่าจ้างเงินเดือนที่สามารถแข่งขันได้ และต้องมีการปรับปรุงอัตราเหล่านี้อยู่เสมอด้วย
- เรื่องการพัฒนาพนักงาน ประเด็น ที่สองที่ต้องลงทุนเพื่อที่จะทำให้คนเก่งอยากมาทำงานกับเรา ก็คือเรื่องของระบบการพัฒนาพนักงาน ถ้าพนักงานรู้ว่าทำงานที่นี่แล้วได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ได้มีโอกาสพัฒนาฝีมือของตนเอง และเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก็จะยิ่งทำให้เป็นการดึงดูดคนเก่งเข้ามาทำงานได้ ผิดกับบางองค์กรที่ไม่มีระบบการพัฒนาพนักงานอะไรเลย ไม่เคยมีการฝึกอบรมพนักงาน ไม่เคยจัดหลักสูตรเพื่อให้ความรู้อะไรแก่พนักงานเลย เรียกว่าไม่มีการคิดที่จะลงทุนในเรื่องนี้ ผลก็คือ พนักงานที่ทำงานอยู่ ก็ขาดความรู้ ขาดทักษะในการทำงานใหม่ๆ คนเก่งๆ ก็ไม่คิดอยากจะมาทำงานกับองค์กรแบบนี้อยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้ผลงานขององค์กรในภาพรวมแย่ลงเรื่อยๆ หรือไม่ก็เป็นภาระหนักอึ้งสำหรับผู้บริหาร หรือเจ้าของธุรกิจที่ต้องลงมือทำงานเองทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการคิด วางแผน ปฏิบัติตามแผน และดูผลที่ออกมา โดยที่พนักงานไม่ได้ทำอะไรเลย
ผมคิดว่าเอาแค่เรื่องค่า จ้างเงินเดือนให้ผ่านก่อนก็น่าจะดี ที่ผมเขียนแบบนี้ก็เนื่องจาก เวลาที่ไปวางระบบค่าจ้างเงินเดือนให้กับบริษัทต่างๆ ที่ต้องการปรับปรุงระบบและอัตราการจ่ายให้ดีขึ้น ผมจะมีการกำหนดอัตราแรกจ้างพนักงานใหม่ให้ เนื่องจากของเดิม อัตราที่บริษัทกำหนดไว้นั้นไม่สามารถแข่งขันได้แน่นอน
พอกำหนดอัตรา ใหม่ไปเสนอ เจ้าของธุรกิจเห็นก็ตกใจมาก และอึ้งไปพักใหญ่ พร้อมกับบอกว่า ต้องจ่ายขนาดนี้เลยหรือ บางคนขอต่อราคาลงก็มีนะครับ (ฮา) ว่ากำหนดให้ต่ำกว่านี้หน่อยได้หรือไม่ ผมก็มักจะถามกลับไปว่าเราต้องการคนแบบไหนมาทำงาน ถ้าคำตอบก็คือคนเก่ง คนดีที่อยู่ในแนวหน้า ผมก็ต้องยืนว่า คงต้องจ้างในอัตราที่เสนอ เพราะถ้าต่ำกว่านั้นจะหาคนแบบนั้นยากมาก สุดท้ายท่านก็หาวิธีในการปรับลดคุณสมบัติลงเองอยู่ดีหลังจากที่ผมเสนอไปแล้ว ผ่านไป 2-3 ปีก็เข้าไปสอบถามอีกครั้ง ปัญหาก็วนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ อยู่ดี ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย
ผิดกับอีกหลายบริษัทที่ผู้บริหารและเจ้า ของมองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ พอเสนออัตราใหม่ไป ก็ตัดสินใจว่าต้องปรับจริงๆ เพราะถ้าเราต้องการคนเก่งๆ อย่างนั้นจริงๆ ค่าตอบแทนของเราก็ต้องอยู่ในข่ายที่แข่งขันได้เช่นกัน ก็เลยมีการปรับอัตราเงินเดือนใหม่ให้กับพนักงานก่อน ที่จะรับคนใหม่เข้ามาในอัตราใหม่ที่กำหนดให้ ผลที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดก็คือ ผู้สมัครงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจะปฏิเสธเราน้อยลง และยังทำให้มีคนอยากมาสมัครงานกับบริษัทมากขึ้น ทำให้มีโอกาสเลือกมากขึ้น ผ่านไปสัก 2-3 ปี เรื่องค่าจ้างก็ลงตัว และบริษัทก็สามารถทำกำไรได้มากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากลงทุนจ้างพนักงานเก่งๆ เข้ามา ลงทุนสูงหน่อย แต่ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่คุ้มค่า
เมื่อเทียบกับบริษัทที่ไม่คิดจะลงทุน ผมคิดว่าบริษัทนั้นจะยิ่งเสียหายมากกว่าการตัดสินใจลงทุนในอัตราค่าตอบแทน ที่สูงขึ้น เพราะได้คนที่ไม่เก่ง ไม่เหมาะ ไม่ทำงาน
และคนที่เหนื่อยมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ ผู้บริหาร และเจ้าของธุรกิจนั่นเองครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น