เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสคุยกับลูกค้ารายหนึ่ง ซึ่งเริ่มนำนโยบายการทำงานจากที่บ้านมาใช้ในบริษัท โดยเริ่มจากให้พนักงานสามารถที่จะทำงานที่บ้านได้ 1 วันในสัปดาห์ และมาทำงานที่บริษัท 4 วัน ซึ่งสอบถามผู้บริหารบริษัทไปว่าผลเป็นอย่างไร คำตอบที่ได้ก็คือ ความพึงพอใจของพนักงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่พอทำไปสักพัก สิ่งที่ผู้บริหารสังเกตเห็น และวัดได้อย่างชัดเจนก็คือ ผลผลิตต่อหน่วย หรือ Productivity ในภาพรวมกลับลดลง เมื่อเทียบกับก่อนใช้นโยบายนี้
แล้วสาเหตุมาจากไหนกัน
ถ้าพูดถึงเรื่องของ Work-Life Balance นั้นนโยบายแรกๆ ที่เป็นที่นิยมก็คือ เรื่องของการกำหนดเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้นเช่น มีการเข้างาน-เลิกงานแบบยืดหยุ่น แล้วแต่ว่าพนักงานจะชอบแบบไหน ก็เข้างานแบบนั้นได้ อีกนโยบายหนึ่งที่เป็นที่นิยมก็คือ การให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าบริษัทจะกำหนดให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้กี่วันต่อ สัปดาห์ เท่าที่ผมพบในประเทศไทย ก็มี 1-2 วันต่อสัปดาห์เป็นส่วนใหญ่ และธุรกิจที่นิยมเอานโยบายลักษณะนี้ไปใช้ก็คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา Software และธุรกิจที่ปรึกษา Consultant
จากปัญหาของบริษัทที่ผมกล่าวถึงข้างต้นที่ผู้บริหารสามารถพิสูจน์ได้จากตัวเลข ผลงานของบริษัทภาพรวม เนื่องจากผู้บริหารของบริษัทนั้นต้องการที่จะพิสูจน์ว่า ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงนโยบายให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้นั้น ผลผลิตที่ออกมาจะแตกต่างไปจากเดิมหรือไม่
ซึ่งผลที่ออกมาก็คือ แตกต่างไปจากเดิมค่อนข้างมากด้วย โดยที่ต่างในลักษณะที่ผลงานในภาพรวม หรือ Productivity ของการทำงานลดลงไปเมื่อเทียบกับก่อนใช้นโยบายนี้ แต่สิ่งที่ได้มาก็คือ พนักงานรู้สึกมีความสุขที่ได้หยุดเพิ่มอีกวัน ย้ำนะครับ “ได้หยุดเพิ่มอีกหนึ่งวัน”
จริงๆ แล้วนโยบายนี้ ผู้บริหารของบริษัทยังคงต้องการให้พนักงานทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พนักงานคิดว่านโยบายนี้คือการให้หยุดได้เพิ่มอีก 1 วัน ซึ่งเข้าใจกันไปคนละทางเลยครับ ผลก็คือ ผลผลิตในภาพรวมลดลงแน่นอน ทั้งๆ ที่นโยบายนี้ควรจะทำให้พนักงานมีผลผลิตในการทำงานมากขึ้นด้วยซ้ำไป เพราะไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง และสามารถทำงานได้ตลอดเวลา สมาธิในการทำงานก็น่าจะมีมากขึ้นเพราะที่บ้านก็ไม่น่าจะมีการรบกวนจากเพื่อน ร่วมงาน หรือจากคนอื่นๆ ในบริษัท แล้วทำไมผลถึงออกมาตรงกันข้ามกันหมด
การที่จะใช้นโยบายการทำงานที่บ้านได้นั้น ต้องมีข้อควรคำนึงดังต่อไปนี้
- ผู้บริหารต้องมีความชัดเจนในนโยบาย และต้องสื่อความอย่างชัดเจนว่า วันที่ให้ทำงานที่บ้านนั้น ไม่ใช่วันหยุด ถ้าไม่มีความชัดเจนตรงนี้แล้ว สักพัก พนักงานจะคิดว่าวันนี้เป็นวันหยุดอีกวันหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องทำงานอะไร
- ต้องมีระบบการตรวจสอบผลงาน การให้พนักงานทำงานที่บ้านได้นั้น บริษัทจะต้องมีระบบในการตรวจสอบว่าพนักงานอยู่บ้านทำงานจริงๆ หรือไม่จริง ซึ่งจริงๆ แล้ววัตถุประสงค์ก็ไม่ได้ต้องการจับผิดอะไรมากมาย แต่สิ่งที่ต้องการก็คือ ผลงานที่จะต้องออกมาให้เห็นมากกว่า ดังนั้น บริษัทจะต้องมีการวางระบบตรวจสอบผลงานของพนักงานด้วย โดยอาจจะมีการมอบหมายงาน และจะต้องส่งงานที่มอบหมายภายในวันนั้นๆ เป็นต้น เพื่อไม่ให้ Productivity ของพนักงานลดน้อยลงกว่าเดิมนั่นเอง
- พนักงานจะต้องมีความรับผิดชอบ นโยบายการทำงานที่บ้านแบบนี้ สิ่งที่จะต้องมั่นใจก็คือ คุณสมบัติของพนักงานจะต้องเรียกว่า มีความรับผิดชอบที่สูงมาก มีความมุ่งมั่นในการทำงาน มีความรู้สึกที่เป็นเข้าของงานที่เขาทำ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้พนักงานต้องการใช้เวลาที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่ สุด เพื่อทำให้งานของตนเองออกมาได้ตามแผนงานและเป้าหมายที่กำหนดไว้นั่นเอง
เพราะสุดท้ายแล้ว ผลผลิตในภาพรวมขององค์กรจะลดลงทันทีครับ เพราะพนักงานจะเอาวันที่ต้องทำงานที่บ้านนั้น เป็นวันหยุดอีกหนึ่งวัน และจะไม่ทำงานด้วย เพราะคิดว่างานไว้ไปทำที่บริษัทก็ได้ ก็เลยลั้ลลา กันไป และปล่อยงานไว้ก่อน เราเรื่องบันเทิงของตนเองเป็นหลัก
ดังนั้นก่อนที่จะเอานโยบายการทำงานที่บ้านมาใช้จริงๆ ควรจะศึกษาให้ดีก่อนนะครับ ว่าใช้แล้วจะไม่ทำให้ Productivity ของบริษัทลดลง แต่ก็อย่ามองใช้ไม่ได้เลย เพราะในทางปฏิบัติก็มีหลายองค์กรที่นำไปใช้แล้วทำให้ผลผลิตในภาพรวมดีขึ้น มากกว่าเดิมก็มีครับ เพียงแต่องค์กรที่ทำสำเร็จนั้น เขามีพนักงานที่มีคุณลักษณะที่พร้อมที่จะทำงาน มีความรับผิดชอบ และมีวินัยในตนเองมากกว่านั่นเองครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น