ต่อเนื่องจากเมื่อวานนี้ที่ได้เขียนเรื่องราวของ Pay Mix ไปในเรื่องของคำนิยาม และคุณลักษณะของมัน ว่าเป็นอย่างไรไปแล้ว วันนี้จะนำเอาผลการวิเคราะห์ Pay Mix ของธุรกิจส่วนใหญ่ในบ้านเรามาให้ดูกันว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง
สิ่งที่ผมวิเคราะห์ตัวเลข Pay Mix มานี้ มาจากผลการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการของ BMC (บริษัท การจัดการธุรกิจ จำกัด) ในปี 2556 โดยผมได้แยกตามกลุ่มงานดังต่อไปนี้
กลุ่มงานปฏิบัติการ
เป็นกลุ่มงานที่เป็นลักษณะงานปฏิบัติการในโรงงาน เช่นในสายการผลิตต่างๆ ซึ่งใช้การศึกษาไม่เกิน ปวส. งานส่วนใหญ่เน้นไปที่เรื่องของการลงมือปฏิบัติงานเพื่อสร้างผลงานออกมาในสาย การผลิต
ลักษณะของ Pay Mix ของพนักงานกลุ่มนี้ปรากฏดังภาพข้างล่างนี้
จากภาพจะเห็นว่า สัดส่วนที่เป็นเงินเดือนจะมีเปอร์เซ็นต์สูงที่สุด คือประมาณ 70% ค่าจ้างเสริมที่เป็นโบนัสตามผลงานอยู่ที่ 19% มีให้ค่าครองชีพประมาณ 5% และเบี้ยขยันประมาณ 2% นี่ก็คือ Pay Mix หลักๆ ของระดับปฏิบัติการส่วนใหญ่ของบ้านเรา
แต่แนวโน้มในอนาคตที่เริ่มเห็น ในกลุ่มปฏิบัติการนี้ก็คือ ค่าจ้างขั้นต่ำที่เริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งไปกว่านั้น ค่าจ้างขั้นต่ำที่พนักงานได้รับอยู่นั้น เป็นเครื่องมือที่ไม่สร้างแรงจูงใจในการสร้างผลงานของพนักงานในแต่ละวันเลย ก็เลยเริ่มมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างแรงจูงใจในการสร้างผลงานให้กับ พนักงานได้ดียิ่งขึ้นกว่านี้
คำตอบที่ได้ก็คือระบบค่าตอบแทนจูงใจตาม ผลงาน โดยผูกอัตราค่าตอบแทนตามผลผลิตที่ทำได้ในแต่ละวัน ยิ่งทำได้มาก ก็จะยิ่งได้รับเงินในส่วนนี้มากขึ้นตามลำดับ โดยวิธีการก็คือ ทำสัดส่วนของเงินเดือนมูลฐานให้เล็กลง หรือปรับสัดส่วนโบนัสตามผลงานให้เล็กลง และเพิ่มในส่วนของ Incentive โดยไปผูกกับผลผลิตที่พนักงานทำได้ในแต่วันก็ได้ ก็จะเป็นค่าจ้างที่เสริมแรงให้กับพนักงาน และทำให้บริษัทสามารถควบคุมอัตราค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับผลผลิตได้มากขึ้น และเรื่องของค่าจ้างเงินเดือนที่เป็น Fixed cost ก็จะสามารถควบคุมอัตราการโตได้ดีขึ้นกว่าเดิม
กลุ่มงานวิชาชีพ
พนักงาน กลุ่มนี้จัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกกว่าทำงานในเชิงวิชาชีพเฉพาะทาง และใช้ความรู้ขั้นต่ำระดับปริญญาตรีขึ้นไป สัดส่วนของค่าตอบแทนก็ปรากฏในกราฟที่แสดงด้านล่าง
จะสังเกตได้ชัดเจนว่าพนักงานในกลุ่มวิชาชีพนี้ จะมีสัดส่วนของเงินเดือนมูลฐานที่สูงกว่ากลุ่มปฏิบัติการกล่าวคือ อยู่ในสัดส่วนประมาณ 76% และตามมาด้วยโบนัสตามผลงานอีกประมาณ 16% ที่เหลือก็จะเป็นค่าครองชีพ และถ้าเป็นวิชาชีพการขาย ก็จะมีค่า Commission ให้
แนวโน้มของสัดส่วนค่าจ้างของพนักงานกลุ่มนี้ก็จะเป็นในลักษณะที่ จะปรับสัดส่วนของเงินเดือนมูลฐานให้ลดน้อยลงกว่าเดิม และจากนั้นก็ไปเพิ่มในส่วนของ โบนัสตามผลงาน และ เรื่องของ Incentive ตามผลงานมากขึ้น เพื่อที่จะจูงใจให้พนักงานสร้างผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง และยิ่งทำผลงานได้ดีมากเท่าไหร่ ก็จะได้ค่าตอบแทนในส่วนนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งระบบนี้ก็มักจะใช้กับกลุ่มวิชาชีพที่ทำงานในด้านการสร้างรายได้ให้กับ บริษัท อาทิ ผู้แทนขายเฉพาะทาง เช่น ขายยา Sales Engineer เป็นต้น พนักงานกลุ่มนี้ บางองค์กรไม่ได้มีการจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้ แต่จะให้เงินเดือนที่สูงหน่อย และเสริมด้วยเงิน Incentive เมื่อทำงานได้เกินกว่าเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ และเติมต่อด้วยผลงานขององค์กรได้เกินเป้าหมายไปอีก ก็จะได้รับโบนัสตามผลงานของบริษัทเพิ่มเติมเข้ามาอีก
ส่วนพนักงาน อีกกลุ่มที่พอจะออกแบบ Incentive ได้ก็คือ กลุ่มวิศวกรการผลิต หรือ วิศวกรในโรงงาน โดยปรับสัดส่วนของเงินเดือนลง และไปเพิ่มในส่วนของ Incentive ที่เชื่อมโยงไปยังผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตที่ลดลงได้
กลุ่มวิชาชีพอีกกลุ่มหนึ่งที่ Pay Mix ออกมาเป็นที่น่าสนใจมากก็คือ
วิชาชีพล่าม
ดูจากองค์ประกอบของค่าจ้างเงินเดือนทั้งหมด จะเห็นว่าคนที่เป็นล่ามที่ได้ค่าตอบแทนสูงนั้น องค์ประกอบของค่าตอบแทนภายในจะประกอบไปด้วยเงินเดือนมูลฐานประมาณ 47% มีให้ค่าวิชาชีพอีกประมาณ 25% ถัดมาเป็นเป็น โบนัสประมาณ 23% และค่าครองชีพอีกประมาณ 3%
ที่เกิดลักษณะของ Pay Mix ดังกล่าวก็เนื่องมากจาก ค่างานของล่ามเมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่นๆ เช่น นักบัญชี เจ้าหน้าที่การเงิน ฯลฯ ซึ่งจบปริญญาตรี และรับผิดชอบงานในวิชาชีพที่ตนเรียนมา แต่ที่ทำให้อัตราค่าจ้างสูงกว่าวิชาชีพอื่นๆ ก็เนื่องจาก ความต้องการในตลาดของวิชาชีพนี้มีมากกว่า อัตราเด็กที่จบมา ก็เลยทำให้ต้องไปเพิ่มในส่วนของค่าวิชาชีพเข้าไป เนื่องจากเมื่อถึงวันหนึ่งที่ Demand กับ Supply ของวิชาชีพนี้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ค่าจ้างในส่วนของค่าวิชาชีพก็จะค่อยๆ หายไป และผันไปเป็นเงินเดือนเต็มรูปแบบแทน
พรุ่งนี้ผมจะมาต่อ Pay Mix ในส่วนพนักงานขายกันบ้างว่าจะมีองค์ประกอบอย่างไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น