วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557

แนวทางการบริหารทรัพยากรบุคคลในช่วง Shut down กรุงเทพ

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าบริหารองค์กรหลายๆ องค์กรต่างๆ ก็มีการพูดคุยกันในเรื่องของแนวทางในการรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 13 มกราคม 2557 ที่จะมีการ Shut down กรุงเทพของกลุ่มผู้ชุมนุม ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรกันดี เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ แม้ว่าจะไปได้ไม่เต็มที่เหมือนวันปกติก็ตาม


ผมเองก็ได้พูดคุยกับเพื่อนๆ ผู้ใหญ่ ผู้บริหารขององค์กรต่างๆ ว่ามีแนวทางและวิธีการในการบริหารธุรกิจ และบริหารทรัพยากรบุคคลในช่วงนี้อย่างไรกันบ้าง คำตอบส่วนใหญ่ก็คือ ยังคงจะเปิดทำการต่อไป แม้ว่าจะมีผลกระทบจากการชุมนุมก็ตาม เพราะธุรกิจจะต้องดำเนินการต่อไปให้ได้มิฉะนั้นจะเกิดผลเสียหายมากมายตามมา แต่การเปิดทำการนั้น อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน และวิธีการบริหารงานอยู่บ้าง ก็พอจะสรุปออกมาได้เป็นแนวทางดังต่อไปนี้
  • ย้ายสถานที่ทำงานชั่วคราว สำหรับบริษัทที่ตั้งอยู่ในย่านที่ใกล้กับการตั้งเวทีการชุมนุมในระยะรัศมี 5 กิโลเมตร ต่างก็หาสถานที่อื่นเพื่อใช้ในการทำงานชั่วคราว บางบริษัทมีโรงงานอยู่ชานเมือง ก็ประกาศขอความร่วมมือจากพนักงานให้ไปทำงานที่โรงงานเป็นการชั่วคราวก่อนใน ช่วงสัปดาห์นี้ โดยบริษัทจะจัดให้มีรถรับส่งพนักงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับพนักงานที่ต้องเดินทางไกลๆ บางบริษัทก็มีการเช่าสำนักงานที่ตั้งอยู่รอบนอก กทม. เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานชั่วคราวเพราะเดินทางเข้าไปยังบริษัทไม่สะดวก
  • อนุญาตให้พนักงานบางส่วนทำงานที่บ้านได้ กรณี นี้ก็คือ บริษัทยังคงเปิดทำงานเป็นปกติ แต่บริษัทอาจจะไม่ได้ตั้งอยู่ใกล้บริเวณชุมนุมมากนัก แต่พนักงานอาจจะมีผลกระทบเนื่องจากการเดินทางที่ไม่สะดวก และต้องใช้เวลานานมาก เพราะรถต้องติดอย่างแน่นอน บริษัทเองก็เลยกำหนดนโยบายขึ้นมาว่า ถ้าใครที่ได้รับผลกระทบจากการเดินทางผ่านจุดที่มีการชุมนุม และหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ให้มีการทำงานที่บ้านได้ โดยการบันทึกข้อมูลการทำงานต่างๆ ลงใน thumb drive เพื่อนำกลับไปทำงานที่บ้านชั่วคราวก่อน บางบริษัทที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าหน่อย พนักงานก็สามารถที่จะ login เข้ามายัง Sever ของบริษัท เพื่อทำงานได้ตามปกติ เพียงแต่ตัวพนักงานนั่งอยู่ที่บ้านแค่นั้น ในกรณีแบบนี้เกือบทุกที่จะให้พนักงานรายงานตัวกับหัวหน้า หรือไม่ก็อาศัยเทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบการ login เข้าทำงาน เพื่อเป็นการตรวจสอบการทำงานในเบื้องต้น บางแห่งก็มีการมอบหมายงานไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้พนักงานดำเนินการในวันที่ต้องทำงานที่บ้าน
  • อนุโลมเรื่องเวลาการเข้างาน-ออกจากงาน ใน ช่วงสัปดาห์ที่มีการ shut down กทม. นั้น บริษัทส่วนใหญ่ที่เปิดทำการต่อเนื่อง ก็มีการประกาศอนุโลมเรื่องเวลาการทำงานว่า อาจจะไม่พิจารณาในเรื่องของการเข้างานสาย เนื่องจากเหตุการณ์ไม่ปกติ ทำงานการเดินทางลำบาก และใช้เวลามากขึ้นกว่าปกติ จึงอนุโลมในเรื่องของเวลาเข้างาน และออกจากงานว่าอาจจะไม่ต้องตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ในระยะนี้
  • ตั้ง Virtual Office แบบ Online ขึ้นชั่วคราว บางบริษัทที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ชุมนุม และไม่มีออฟฟิศแห่งที่สอง หรือไม่มีโรงงาน แต่มีพนักงานไม่เยอะนัก ก็มีการเปิด group ขึ้นมาใน Google บ้าง หรือ Facebook บ้าง ฯลฯ เพื่อเป็นที่รวมศูนย์ของพนักงาน โดยประกาศให้พนักงานทุกคนทำงานที่บ้านได้ และมีการตั้งสายโทรศัพท์ที่จะโทรเข้าไปยังบริษัท ให้ถูกโอนไปยังพนักงานที่ทำหน้าที่รับโทรศัพท์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับพนักงานคนอื่น ส่วนพนักงานคนอื่นๆ ที่เหลือ ก็ต้อง login เข้ามายัง virtual office ทุกคน ตามเวลาทำงานของบริษัท และก็นั่งทำงานตามที่ได้รับมอบหมายอยู่ที่บ้านแทน
มีพนักงานบางคนก็มีคำถามว่า แล้วถ้าให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ในกรณีที่เดินทางไม่สะดวกจริงๆ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าพนักงานคนนั้นทำงานจริงๆ ไม่ได้ถือโอกาสออกไปเที่ยวเล่น คำตอบก็คือ เราคงไม่สามารถตรวจสอบได้ 100% อยู่แล้ว ด้วยสถานการณ์แบบนี้เราอาจจะต้องใช้ระบบ “เชื่อใจ” กัน แต่สิ่งที่จะต้องทำก็คือ การมอบหมายงานที่ชัดเจนว่าจะต้องส่งงานอะไรกลับมายังบริษัทบ้างในแต่ละวัน ที่อยู่ทำงานที่บ้าน เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการตรวจสอบผลงานของพนักงานได้ ส่วนเรื่องที่ว่าในวันนั้นพนักงานอาจจะไม่ได้อยู่ทำงานตลอดเวลาทำงาน ก็ปล่อยๆ ไปบ้างครับ แค่พนักงานส่งผลงานมาให้เราได้ครบถ้วนตามที่มอบหมายไปก็ถือว่าเขาทำงานแล้วครับ

อีกเรื่องก็คือ บางคนมองว่าที่ต้องให้พนักงาน login เข้ามาเพื่อให้เราตรวจสอบได้นั้น ก็เป็นการคล้ายๆ จะจับผิดพนักงานหรือเปล่า จริงๆ ก็คงแล้วแต่มุมมองของแต่ละคน มีผู้บริหารอยู่ท่านหนึ่งตอบคำถามในกรณีนี้ได้อย่างชัดเจน ท่านตอบไว้ว่า สำหรับพนักงานที่ทำงานที่บ้านเนื่องจากเดินทางไม่สะดวกนั้น สิ่งที่จะต้องทำก็คือ การรายงานตัวให้ผู้บังคับบัญชาของท่านได้ทราบว่าขณะนี้ท่านทำงานอยู่ที่ไหน ยังอยู่ดีนะ ไม่ใช่เป็นการจับผิดว่านี่ต้องทำงานนะ แต่เป็นการตรวจสอบว่า ท่านยังคงอยู่ดี ไม่ได้เกิดปัญหาใดๆ หรือ ถ้าจะออกไปร่วมชุมนุมก็ขอให้แจ้ง เพื่อที่จะได้ตรวจสอบได้ว่าขณะนี้ทำอะไรอยู่ที่ไหน เพราะเราถือว่าวันนี้บริษัทยังคงทำงานปกติ เมื่อมอบหมายให้ท่านทำงานที่บ้าน ก็แปลว่าพนักงานจะต้องทำงาน อยู่ที่บ้านตามที่ได้รับมอบหมายไว้ จะได้ตรวจสอบได้มากกว่า ในกรณีที่เกิดเหตุร้ายขึ้นจะได้วางแผนในการรับมือได้ดียิ่งขึ้น

บริษัทของท่านผู้อ่านมีมาตรการทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างไรกันบ้างในช่วง Shutdown กทม. ก็แชร์กันมาได้นะครับ เผื่อจะได้เป็นแนวทางให้กับบริษัทอื่นๆ ได้นำไปใช้ต่อได้บ้างครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น