ในฐานะที่เป็นหัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้บริหารระดับสูง ไม่ว่าจะอยู่ในระดับใด ถ้ามีลูกน้องให้บริหารจัดการก็คือว่าเป็นหัวหน้า ซึ่งก็ต้องคอยสังเกต และให้คำปรึกษาหารือ แก่ลูกน้องของตนเอง โดยเฉพาะเรื่องของพฤติกรรมของพนักงานที่แสดงออกมาในการทำงานแต่ละวัน ซึ่งยิ่งใครที่มีลูกน้องจำนวนมากๆ ก็จะยิ่งวุ่นวายกับการดูแล และบริหารจัดการลูกน้องแต่ละคน ซึ่งลูกน้องแต่ละคนนั้นเวลาทำงานก็มีพฤติกรรมในการทำงานที่แตกต่างกันออกไป คำถามก็คือ ถ้าลูกน้องของท่านแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดี ไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องกับการทำงานในตำแหน่งงานของเขา ท่านในฐานะหัวหน้าของเขา ท่านจะจัดการอย่างไรกันบ้าง
- ปล่อยไว้อย่างนั้น เพราะไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรดี หัวหน้าส่วนหนึ่งมีปัญหาเรื่องนี้ ก็คือ ในการบริหารจัดการพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกน้องตนเอง เมื่อลูกน้องแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมาในระหว่างการทำงาน ตัวหัวหน้าเองก็ทราบดี ว่าลูกน้องมีพฤติกรรมไม่ค่อยจะดีนัก แต่ก็ไม่คิดที่จะทำอะไร ปล่อยไว้แบบนั้น ซึ่งจากการสอบถามหัวหน้างานก็พบว่าสาเหตุหลักที่ต้องปล่อยไว้แบบนั้นโดยไม่ มีวิธีการหรือมาตรการในการบริหารจัดการอะไรเลย ก็เนื่องจาก หัวหน้าไม่รู้วิธีการที่จะบริหารจัดการ ไม่รู้วิธีการในการ Feedback ลูกน้อง ยิ่งไปกว่านั้นบางคนกลัวลูกน้องยิ่งกว่ากลัวหัวหน้าตัวเองก็มี ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ งานของลูกน้องคนนั้นก็จะมีปัญหาตามมา ยิ่งไปกว่านั้นถ้าเป็นพฤติกรรมที่ไปเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นอีก ก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันมีปัญหามากขึ้นไปอีก
- เรียกพนักงานมาคุยเฉพาะคนที่อยากคุยด้วยเท่านั้น อีก วิธีที่หัวหน้างานมักจะใช้กันก็คือ เรียกคุยเฉพาะกับพนักงานที่คุยด้วยได้ รับฟัง และยอมทำตามแต่โดยดี แต่สำหรับพนักงานที่มีพฤติกรรมแย่มากๆ เรียกมาคุยแล้วก็ไม่ฟัง แถมยังเถียงข้างๆ คูๆ ทำตัวแบบเป็นพนักงานที่มีปัญหามากๆ หัวหน้าก็จะไม่สนใจ ไม่ใส่ใจที่จะเรียกมาคุย หรือ Feedback อะไร ก็เลยปล่อยไว้อย่างนั้น ไม่มีการตักเตือนใดๆ ปัญหาที่จะตามมาก็คือ พนักงานที่ถูกเรียกคุยนั้น จะรู้สึกว่า หัวหน้าเลือกปฏิบัติทันที คนที่ทำพฤติกรรมแย่กว่าเขา แต่กลับไม่ถูกเรียกคุย ซึ่งก็จะส่งผลต่อขวัญและกำลังใจในการทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยครับ
- เรียกคุยทุกคนที่มีปัญหาพฤติกรรมในการทำงาน หัว หน้างานอีกประเภท จะยึดเอาเป้าหมายในการทำงานเป็นตัวตั้ง ถ้าพนักงานคนไหนที่ทำงาน หรือแสดงพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายในการทำงาน ก็จะมีการเรียกเข้ามาพูดคุย ให้ Feedback อยู่เสมอ นอกจากนั้นยังอาจจะมีการให้คำแนะนำ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือพนักงานเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำ งานให้ดีขึ้นได้อีก
สิ่งที่สำคัญตามหลักการในการบริหารคน ก็คือ เมื่อไหร่ที่พนักงานมีผลงานที่ไม่ได้ตามเป้าหมาย หรือเมื่อไหร่ที่พนักงานแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดี ไม่ควร ไม่เหมาะสม ฯลฯ สิ่งที่หัวหน้างานจะต้องทำก็คือ การเรียกพนักงานคนนั้นมาพูดคุย ให้ Feedback ทั้งนี้ก็เพื่อให้พนักงานทราบ และมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น
หัวหน้าบางคนเข้าใจไปเองว่า พนักงานก็น่าจะรู้ได้ด้วยตนเอง เพราะโตๆ กันแล้ว แต่ในความเป็นจริงนั้น ไม่ค่อยมีพนักงานคนไหนที่จะรู้เองอยู่แล้วครับ ส่วนใหญ่ก็มักจะคิดเข้าข้างตัวเองว่า สิ่งที่ตนเองทำนั้น ดีแล้ว ถูกต้องแล้ว ไม่ต้องปรับปรุงอะไร ดังนั้นหัวหน้าจึงควรจะเป็นกระจกคอยส่องพฤติกรรมต่างๆ ให้กับลูกน้องของตนเองด้วย
การที่เราไม่เรียกพนักงานมาพูดคุย หรือบอกกล่าว หรือ Feedback ในสิ่งที่ไม่ดี ไม่ถูกต้องในการทำงานนั้น ตัวพนักงานจะคิดเอาเองง่ายๆ เลยว่า ที่หัวหน้าไม่เรียกเขาไปคุย หรือ Feedbackในเรื่องต่างๆ ที่เขาทำไว้นั้น แปลง่ายๆ ว่า สิ่งที่เขาทำอยู่นั้น ดีแล้ว โอเคแล้ว ไม่มีปัญหาอะไร ฯลฯ ผลก็คือ พฤติกรรมที่ไม่ดีเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ต่อไป ทำให้พนักงานคนอื่น รวมทั้งหัวหน้าเองรู้สึกระอาไปด้วย และจะไม่มีการวางแนวทางในการแก้ไขหรือปรับปรุงอะไรเลย
ถ้าท่านเป็นหัวหน้าที่ดี สิ่งที่จะต้องทำทันทีก็คือ
- เมื่อพนักงานทำผลงานไม่ดี หรือ แสดงพฤติกรรมไม่ดีในการทำงาน จะต้องเรียกมาพูดคุย แจ้งให้พนักงานทราบว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ดีอย่างไร และที่ดีจะต้องทำอย่างไร ทั้งนี้เป้าหมายก็คือ เพื่อเป็นการพัฒนาพนักงานให้ดีขึ้น ไม่ใช่เป็นการจัดผิด และการลงโทษเพื่อความสะใจของหัวหน้านะครับ
- เมื่อพนักงานทำผลงานได้ดี หรือแสดงพฤติกรรมที่ดี สิ่งที่หัวหน้าจะต้องทำก็คือ การให้คำชมเชย และการบอกกับพนักงานคนนั้นว่า เรารู้สึกดีแค่ไหนกับสิ่งที่เขาทำออกมา ทำให้พนักงานรู้สึกว่าหัวหน้าให้ความสำคัญ และรับทราบในสิ่งที่เขาทำอยู่ เพื่อเป็นการบอกเขาว่า ให้ทำดีๆ แบบนี้ต่อไปนั่นเองครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น