ผมอยู่ในวงการบริหารทรัพยากรบุคคลมากว่า 20 ปี
และผ่านการเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรต่างๆ มากมาย ทั้งเล็กๆ และใหญ่ๆ
ทั้งเป็นองค์กรมหาชน และ SME
สามารถบอกได้เลยว่าในปัจจุบันแทบทุกองค์กรจะฝ่ายบุคคลขึ้นมา
เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารทรัพยากรบุคคลของบริษัท ดูแลเรื่องของการบริหารคน
ทั้งในด้านการสรรหาคัดเลือก การพัฒนาพนักงาน การบริหารค่าจ้างเงินเดือน
การบริหารแรงงานสัมพันธ์ ฯลฯ และยิ่งในอนาคต
ฝ่ายทรัพยากรบุคคลก็ยิ่งทวีความสำคัญต่อความสำเร็จต่อองค์กรมากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะเป็นฝ่ายที่เป็นด่านแรกที่ดูแลเรื่องของคนที่จะมาทำงานในองค์กรของเรา
แต่อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกองค์กรที่จะมีฝ่ายบุคคลที่ทำหน้าที่ได้ดี
พนักงานเองต่างก็มีความรู้สึกต่อฝ่ายบุคคลที่แตกต่างกันออกไป บางคนก็ชอบมาก
บางคนก็ชอบน้อย บางคนถึงกับเกลียดเลยก็มี คำถามก็คือ
แล้วลักษณะของฝ่ายบุคคลที่ดี ที่พนักงานพึงพอใจ ที่ผู้บริหารพึงพอใจ
ควรจะเป็นอย่างไรดี
ผมก็ได้รวบรวมข้อมูลที่ได้จากการทำวิจัยเล็กๆ
ของผมกับลูกค้าที่ผมทำงานด้วย โดยการสอบถามพนักงานในหน่วยงานต่างๆ
ระดับต่างๆ ถึงความรู้สึกที่มีต่อฝ่ายบุคคลในองค์กร ว่าถ้าชอบ ชอบเพราะอะไร
ถ้าไม่ชอบ ไม่ชอบเพราะอะไร และถ้าจะกด Like ให้ฝ่ายบุคคลจริงๆ
ฝ่ายบุคคลจะต้องเป็นอย่างไรบ้าง ลองมาดูกันนะครับ
- เป็นผู้ให้บริการที่ดี คำ
ตอบแรกสุดของพนักงานก็คือ
ต้องการให้พนักงานในฝ่ายบุคคลเป็นคนที่มีจิตใจให้บริการอย่างเต็มที่
เรียกกว่าต้องมองพนักงานในองค์กรเหมือนเป็นลูกค้าจริงๆ เลย
เวลาลูกค้าเข้ามาที่ฝ่ายก็ต้องให้การต้อนรับขับสู้อย่างดี
เรียกว่าเข้ามาใช้บริการอะไร ก็ต้องมีคนให้บริการอย่างเป็นขั้นตอน
จนกระทั่งพนักงานได้ในสิ่งที่ต้องการไปอย่างถูกต้อง พนักงานบางคน
(บางบริษัท) บอกว่า “ไม่
อยากเดินเข้าไปในฝ่ายบุคคลเลย เพราะเดินเข้าไปทีไรเหมือนเข้าไปในแดนสนธยา
เจอหน้าพนักงานในฝ่าย ก็มองเราเหมือนจะกินเลือดกินเนื้อ
และก็ไม่เคยได้ยินพนักงานฝ่ายบุคคลพูดจากับเราดีๆ เลย มีแต่ชักสีหน้ารำคาญ
และพูดจาเสียงดังเหมือนกับตะคอกใส่เราราวกับว่าเราไปทำอะไรให้เขารู้สึกแย่
ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ได้ทำอะไรเลย เข้ามาขอความช่วยเหลือจากเขามากกว่า” ถ้าพนักงานส่วนใหญ่ในองค์กรรู้สึกแบบพนักงานคนนี้ รับรองว่าฝ่ายบุคคลไม่มีทางได้ Like จากพนักงานแน่นอนครับ
- เป็นผู้ที่เก็บความลับของพนักงานได้ อันดับ
สองที่เป็นความเห็นพนักงานว่าจะกด Like ให้กับฝ่ายบุคคลก็คือ
จะต้องเป็นหน่วยงานที่มีพนักงานที่เป็นคนที่สามารถเก็บความลับได้
เนื่องจากฝ่ายบุคคลจะรู้ความลับต่างๆ ของพนักงานแต่ละคนอยู่
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินเดือน ที่อยู่อาศัย หนี้สินต่างๆ
เรื่องของสุขภาพพนักงานที่อยู่ในประวัติพนักงานและจากผลการตรวจสุขภาพ
รวมทั้งอาจจะมีเรื่องราวที่พนักงานเข้ามาขอคำปรึกษา หรือมาระบายให้ฟัง ฯลฯ
ถ้าพนักงานในฝ่ายบุคคลนำเอาเรื่องส่วนตัวของพนักงานไปคุยกัน ไปนินทากัน
หรือไปบอกกับคนอื่นๆ อย่าสนุกปาก แบบนี้ก็คงจะไม่มีใครชอบฝ่ายนี้แน่นอน
พนักงานบางคนมาเล่าให้ฟังว่า “ตอน
นี้ทุกคนในบริษัทรู้กันหมดแล้วว่าหนูป่วยเป็นโรคอะไร
แถมยังมีหนี้สินเยอะไปหมด หนูอายมาก ไม่อยากเดินเข้ามาทำงานอีกเลย ทั้งๆ
ที่เรื่องราวของหนูนั้นไม่เคยเล่าให้ใครฟังเลยนอกจากพี่ที่ฝ่ายบุคคล
เพราะต้องการจะไปขอคำปรึกษา
เห็นว่าพี่เขาอยู่ฝ่ายบุคคลก็น่าจะพอช่วยอะไรหนูได้ แต่ที่ไหนได้
กลายเป็นทุกคนรู้เรื่องของหนูหมด ตอนนี้ไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหนแล้ว” และ
สุดท้ายพนักงานคนนี้ก็อยู่ทำงานที่บริษัทนี้ไม่ได้อีกต่อไป
เพราะแค่เพียงพนักงานในฝ่ายบุคคลเอาเรื่องราวของเธอไปคุยกันอย่างสนุกปาก
นั่นเอง
- ให้คำปรึกษาในเรื่องต่างๆ ของพนักงานได้ อันดับ
ที่ 3
ก็คือถ้าฝ่ายบุคคลสามารถให้ความช่วยเหลือพนักงานในเรื่องของการทำงานที่
เกี่ยวข้องได้ ก็จะรู้สึกดี เพราะพนักงานบางคนเล่าให้ฟังเช่นกันว่า
เวลาที่เขามีปัญหากับหัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงาน
ก็มักจะมาเล่าให้พี่ที่ฝ่ายบุคคลฟัง ซึ่งพี่คนนี้ก็ใจดีมาก
ฟังเขาด้วยความตั้งใจ และเต็มใจพร้อมทั้งให้คำปรึกษาที่ดีมากทุกครั้ง
ทำให้เขาเดินออกจากฝ่ายบุคคลด้วยจิตใจที่อิ่มเอิบและมีความสุข
พร้อมทั้งสามารถกลับไปทำงานได้อย่างสนุกสนานอีกครั้ง ผิดกับบางที่
นอกจากไม่สามารถให้คำปรึกษาแก่พนักงานในเรื่องของการทำงาน กฎระเบียบต่างๆ
ฯลฯ ที่ฝ่ายบุคคลต้องรู้อยู่แล้ว
ยังไม่เต็มใจที่จะให้พนักงานเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วยซ้ำไป เรียกได้ว่า
ไม่อยากให้พนักงานคนอื่นในองค์กรเดินเข้ามาในฝ่ายบุคคลเลย
เข้ามาเมื่อไหร่ก็จะมีสีหน้าแววตา และท่าทางที่บอกให้เรารู้ว่า “จงรีบออกไปจากที่นี่ให้เร็วที่สุด”
- เข้าหาพนักงานบ้าง ความ
เห็นถัดมาของพนักงานก็คือ ถ้าพนักงานฝ่ายบุคคลเดินไปเยี่ยมเยียนพนักงานบ้าง
ก็จะดี โดยเฉพาะบริษัทที่มีโรงงานในการผลิต พนักงานบางคนบอกว่า
นอกจากจะไม่อยากให้เราเข้าไปหาในฝ่ายแล้ว
ยังไม่อยากออกมาดูแลงานนอกฝ่ายอีกด้วย ทั้งๆ
ที่เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของฝ่ายบุคคล
พนักงานที่รู้สึกดีกับฝ่ายบุคคลในองค์กรก็ให้ความเห็นว่า
ที่บริษัทจะมีพี่ฝ่ายบุคคลที่คอยเดินเข้ามาในสายการผลิต
เพื่อที่จะเข้ามาสอบถามทุกข์สุขต่างๆ ในการทำงาน มาทักทาย
บางครั้งก็เอาของเล็กๆ น้อยๆ มาฝาก ซึ่งทำให้เขากับเพื่อนร่วมงานมองว่า
ฝ่ายบุคคลที่นี่ให้ความใส่ใจกับพนักงานมาก ไม่ต้องให้พนักงานเดินเข้าไปหา
แต่เดินออกมาหาพนักงานเองเลย
และก็ไม่ใช่เป็นการเดินออกมาเพื่อจับผิดพนักงานด้วย
นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พนักงานกด like ให้ฝ่ายบุคคล
- ปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างแก่พนักงาน
อันดับที่ 5 ที่พนักงานให้ความเห็นมาก็คือ ฝ่ายบุคคลที่ดี
จะต้องเป็นคนที่สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของบริษัท
โดยต้องทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่พนักงาน ให้พนักงานได้เห็น
ไม่ใช่เป็นคนเขียนกฎ คุมกฎ แต่ไม่ปฏิบัติตามกฎซะเอง
แบบนี้พนักงานก็ไม่ชอบเช่นกัน มีพนักงานเล่าให้ฟังว่า “ที่บริษัทจะมีกฎว่าห้ามเล่น line
ในระหว่างทำงาน ถ้าจับได้จะถูกใบเตือนเพื่อเป็นการลงโทษ
แต่สิ่งที่พนักงานเห็นก็คือ เวลาเข้าไปที่ฝ่ายบุคคลที่ไร
ก็จะเห็นพนักงานในฝ่ายบุคคลเล่น line กัน
พนักงานบางคนที่กล้าพูดหน่อยก็พูดในเชิงตักเตือนไปว่าทำไมฝ่ายบุคคลเล่นได้
ล่ะ ก็ถูกตอกกลับมาว่า ไม่ได้เล่น แต่ใช้ในการทำงาน” สุดท้ายพนักงานก็เลยหมดความเชื่อถือฝ่ายบุคคล
จริงๆ
ยังมีอีกหลายเหตุผลที่พนักงานบอกมานะครับ แต่จะเป็นเหตุผลยิบย่อยแล้ว เช่น
อยากให้ฝ่ายบุคคลทำงานมากกว่านี้
เพราะที่เห็นดูเหมือนกับว่าไม่ได้ทำงานอะไรเลย นั่งกันสบายใจ หรือ
อยากให้ฝ่ายบุคคลเป็นฝ่ายที่ให้ความเห็นทางด้านการบริหารคนของบริษัทได้
ไม่ใช่แค่ทำแต่งาน Admin ไปวันๆ ฯลฯ
ดังนั้นถ้าฝ่ายบุคคลอยากได้ Like จากพนักงานมากๆ
ก็คงต้องมีการปรับปรุงลักษณะการทำงานให้สอดคล้องกับความเห็นของพนักงานที่ผม
ได้รวบรวมมาข้างต้น มิฉะนั้นพนักงานคงจะ Unlike หมด หรือถ้าหนักหน่อยให้
Hate ได้คงให้ไปแล้วครับ