วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พนักงานที่เข้าข่ายเป็น Talent มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง


Talent Management ผมคิดว่าท่านผู้อ่านเกือบทุกคน คงจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้างนะครับ หลายๆ องค์กรในปัจจุบันพยายามที่จะสร้างระบบการบริหารคนที่เป็น Talent ขององค์กร ตั้งแต่ การพิจารณาคัดเลือก การบริหารจัดการคนกลุ่มนี้ ว่าจะมีวิธีการบริหารจัดการอย่างไร ที่จะทำให้คนกลุ่มนี้เป็นคนที่อยู่ทำงาน และสร้างผลงานให้กับองค์กรในระยะยาว แต่หาไปหามา ไม่ใช่ไม่เจอนะครับ แต่กลับเจอเยอะมาก จนถึงเยอะเกินไป เรียกได้ว่า พนักงานในองค์กรเกือบ 50% ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Talent หัวหน้าทุกคนต่างก็บอกว่า ลูกน้องของตนเองนั้นเก่งๆ ทั้งนั้น จนสุดท้าย คนเก่ง หรือ Talent ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจาก คนปกติที่ทำงานในองค์กรเลย ตกลงว่าคนที่เป็น Talent นั้นต้องเป็นอย่างไรกันแน่


เราลองมาดูคุณสมบัติของคนที่เป็น Talent ว่ามีอะไรกันบ้าง
  • มีทักษะและจุดแข็ง ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้ นั่นก็แปลง่ายๆ ว่า คนที่เป็น Talent นั้นจะต้องเป็นคนที่สร้างความแตกต่างในทางที่ดีให้กับองค์กร ซึ่งความแตกต่างที่สร้างนั้น ต้องเป็นความแตกต่างที่สร้างคุณค่าให้กับองค์กรอย่างสูงด้วย เช่น คิดค้นวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งในด้านสินค้า และบริการ มีความกระตือรือร้นที่อยากจะผลักดันให้องค์กรมีผลงานที่ดีขึ้น โดยการสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น หรือถ้าจะมองในมุมของผลงาน คนที่เป็น Talent นั้น จะเป็นคนที่สร้างผลงานได้เหนือกว่าเป้าหมายและมาตรฐานที่ตั้งไว้อย่างมากมาย
  • มีความสามารถที่จะเติบโตต่อไปได้ หรือ แปลให้ง่ายเข้าก็คือ มีความสามารถที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ อยู่ตลอดเวลา มีศักยภาพที่จะเติมทักษะและความรู้ใหม่ๆ เข้าไปได้ โดยปกติแล้วคนที่จะเข้าข่าย Talent นั้น จะเป็นคนที่ไม่ชอบที่จะทำงานแบบเดิมๆ อยู่ตลอดเวลา จะต้องพยายามที่จะทำให้งานของตนเองเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ โดยการคิดหาวิธีการทำงานใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเป็นวิธีการที่ไม่เหมือนเดิม ยากกว่าเดิม และต้องเรียนรู้อะไรบางอย่างมากขึ้นกว่าเดิม แต่เขาก็ยินดีและเต็มที่จะเปลี่ยนแปลงมัน
  • มีความเต็มใจที่จะเรียนรู้ และเปลี่ยนแปลง คนที่เป็น Talent จะต้องมีความเต็มใจที่อยากจะเปลี่ยนแปลงตนเองอยู่เสมอ โดยการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด ไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ รวมทั้งเปิดใจรับสิ่งใหม่ ที่เป็นประโยชน์ โดยไม่มีอาการต่อต้าน หรือปฏิเสธแบบหัวชนฝา แต่จะพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสีย และถ้าเห็นว่าดี เขาก็จะยินดีที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อให้ตนเองมีความรู้ทักษะใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
  • มีทัศนคติที่ดี คนที่เป็น Talent จะมีลักษณะที่เป็นคนมองโลกในแง่ดี เปิดใจรับฟังคนอื่นอย่างเต็มใจ แม้ว่าอาจจะไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ก็จะนำความเห็นนั้นมาพิจารณาถึงข้อดีของเสีย และเมื่อพิจารณาว่าดีแล้ว ก็จะเปลี่ยนมุมมองต่อสิ่งนั้น อีกทั้งยังพยายามทำให้คนอื่นเห็นชอบในสิ่งนั้น โดยการเปลี่ยนแปลงตนเองให้คนอื่นเห็นว่า เขาสามารถปรับตนเองได้อย่างดี ไม่ใช่ดีแต่พูด แต่ไม่เคยทำอะไรอย่างที่พูดไว้เลย
ถ้าเราพิจารณาจากคุณสมบัติที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า คนที่เป็น Talent ขององค์กรนั้น จะไม่ใช่คนที่ทำผลงานในเกณฑ์ปกติ ไม่ใช่คนที่ทำงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ หรือมีพฤติกรรมที่ดี ตรงตามที่คาดหวังไว้ แต่จะเป็นพนักงานที่สามารถสร้างผลงานที่โดดเด่นมากๆ และผลงานก็ต้องสร้างความแตกต่าง และสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับองค์กรได้อย่างยากที่จะคาดเดาได้ คนกลุ่มนี้ในองค์กรถ้าเฟ้นหากันจริงๆ มีไม่ถึง 5% หรอกครับ นี่แหละคือ Talent ตัวจริง

เกณฑ์ในการที่จะบอกว่าพนักงานคนไหนคือ Talent นั้นจะต้องให้ผู้จัดการหลายๆ คนช่วยกันพิจารณา ว่าพนักงานคนไหนที่เป็น Talent หัวหน้าคนเดียวดูไม่ค่อยออก และมักจะเข้าข้างลูกน้องตนเองอยู่เสมอ ก็เลยต้องอาศัยคนอื่นรอบข้างช่วยดูด้วย และอีกประเด็นที่ช่วยบอกเราได้อย่างชัดเจนก็คือ คนที่เป็น Talent ขององค์กรนั้น พนักงานส่วนใหญ่ ผู้บริหารส่วนใหญ่ มีเสียงไปในทางเดียวกันว่า คนๆ นี้แหละคือคนเก่งของเรา ที่เราต้องรักษาไว้

ถ้าองค์กรสามารถเฟ้นหา Talent ได้จริงๆ นโยบายที่จะใช้ในการบริหารจัดการกลุ่ม Talent ก็จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเรากำลังบริหารและรักษาคนเก่งจริงๆ ไว้ในองค์กร

มิฉะนั้น องค์กรจะต้องลงทุนมากมาย แต่กลับกลายเป็นว่า คนที่องค์กรลงทุนนั้น ก็คือพนักงานธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ Talent อะไรเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น