ใครที่ทำหน้าที่สรรหาคัดเลือกพนักงานใหม่เข้ามาทำงานในองค์กร ก็คงจะรู้ว่ามันมีความยากเย็นมากมาย กว่าที่เราจะสรรหาแหล่งที่ถูกต้อง ได้ใบสมัครจำนวนมากพอที่จะมาคัดเลือก และยังต้องใช้เวลาสำหรับการสัมภาษณ์อีกพอสมควร กว่าจะได้พนักงานเข้ามาทำงานสักคน แต่บางองค์กรกลับกลายเป็นเป็นว่า พนักงานใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงานนั้นลาออกไปก่อนถึงเวลาอันควร และอัตราการลาออกที่วิเคราะห์ออกมา ก็คือ พนักงานที่เพิ่งรับเข้ามา และยังทำงานไม่ถึง 3 ปีด้วยซ้ำไป ลาออกกันตลอด ส่วนพนักงานเก่าๆ ที่ทำงานกันมานานแล้ว กลับไม่คิดที่จะไปไหนเลย
ด้วยปัญหาแบบนี้ก็เลยทำให้เราต้องหาคนใหม่มาทดแทนคนทำงานที่ลาออกไปในตำแหน่ง เดิมๆ อยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ควรจะทำถ้าเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นก็คือ ต้องวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงว่าทำไมพนักงานใหม่ถึงลาออกก่อนถึงเวลาอันควร
สาเหตุหลักๆ น่าจะเกิดจาก
- เข้ามาทำงานแล้วรู้สึกเคว้งคว้างไร้ที่พึ่ง สาเหตุนี้เป็นสาเหตุแรกเลยที่ทำให้พนักงานใหม่ อยากลาออกทันที ปกติพนักงานที่เพิ่งเข้ามาทำงานก็ไม่รู้จักใครอยู่แล้วในบริษัท ถ้าเข้ามาแล้วไม่มีใครดูแล เป็นพี่เลี้ยง ไม่มีใครสอนงาน แนะนำงาน หรือแม้แต่การพาไปทานข้าว ทำให้พนักงานต้องอยู่ทำงานอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย มีปัญหาอะไรก็ไม่รู้จะไปคุยกับใคร แบบนี้คงอยู่ได้ไม่เกิน 2 วันหรอกครับ เผ่นแน่นอน
- เพื่อนร่วมงานไม่ต้อนรับ เข้า มาแล้วถ้าเพื่อนร่วมงานที่อยู่ในหน่วยงานเดียวกัน ไม่ให้การต้อนรับใดๆ แถมยังกีดกันไม่ให้เข้ามาอยู่ในกลุ่มด้วย จนต้องอดทนทำงานคนเดียว เพื่อนก็แทบจะไม่มีเลย แบบนี้ก็อยู่ได้ไม่นานเช่นกัน หรือถ้าหนักกว่านี้หน่อยก็คือ เพื่อนร่วมงานจ้องแต่จะทำร้ายกัน หรืออาจจะมีประเภทแทงข้างหลังกันอยู่บ้าง อิจฉาริษยา ใส่ร้ายกันไปมา ฯลฯ แบบนี้ก็ทำให้พนักงานใหม่ไม่อยากทำงานอีกต่อไป
- หัวหน้างานไม่เอาใจใส่ อีก สาเหตุหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักก็คือ เข้ามาทำงานแล้วหัวหน้างานโดยตรงไม่ให้การเอาใจใส่ดูแล ไม่มีการวางแผนการทำงานร่วมกัน ไม่มีการสอนงาน ให้คำแนะนำงาน ไม่มีการช่วยแก้ไขปัญหาในการทำงานในกรณีที่งานมีปัญหาขึ้นมา ยิ่งไปกว่านั้นยังมอบหมายงานที่ยากเกินกว่าที่พนักงานจะทำได้ สร้างความกดดันให้กับพนักงานใหม่มากจนเกินไป พนักงานเมื่อเริ่มรู้สึกว่า ไม่มีใครสนใจ แม้แต่หัวหน้าของตนเองยังไม่ให้ความสนใจอะไรเลย แบบนี้จะอยู่ทำงานต่อไปทำไม จริงมั้ยครับ
- ถูกโกหกทั้งเรื่องงานและค่าตอบแทน บาง องค์กรไม่ค่อยชอบที่จะบอกเงื่อนไขในการทำงานให้กับผู้สมัครงานได้ทราบ เวลาผู้สมัครถามรายละเอียดเกี่ยวกับการทำงาน ก็มักจะตอบว่า ไม่มีปัญหาอะไร งานไม่มียากอะไรเลย เงินเดือนสวัสดิการก็อยู่ในระดับที่ดี แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดอะไรเลย สุดท้ายพอพนักงานเข้ามาทำงาน กลับค่อยๆ เผยสิ่งที่ต่างๆ ออกมา ไม่ว่าจะเป็นงานที่ไม่ตรงกับที่ตกลงกันไว้ และเงินเดือนค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม สวัสดิการบางอย่างบอกว่ามี แต่สุดท้ายก็ไม่มี พอพนักงานถามเข้า ก็ตอบว่า ไม่เคยพูดอะไรแบบนั้น เมื่อไหร่ที่พนักงานรู้สึกว่าถูกโกหกแบบนี้ เขาก็อยู่ทำงานด้วยไม่ได้อย่างแน่นอนครับ
ดังนั้นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นก็น่าจะมีดังต่อไปนี้
- ให้ความสำคัญกับพนักงานใหม่ให้มากกว่าเดิม อย่าคิดว่า ก็แค่พนักงานใหม่คนนึง ยังใหม่อยู่ ก็เลยยังไม่ต้องทำอะไรมากก็ได้ แต่หารู้ไม่ว่า พนักงานใหม่เองก็อยากทำงานให้เต็มที่ตั้งแต่วันแรกเช่นกัน
- ให้การต้อนรับที่อบอุ่น โดย หัวหน้าต้องให้การต้อนรับก่อน และทำหน้าที่ในการแนะนำและสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับทีมงานของตนเอง และหัวหน้าอาจจะต้องเป็นพี่เลี้ยงในช่วงเดือนแรกของการทำงาน เพื่อให้พนักงานใหม่รู้สึกคุ้นเคยและไม่ถูกทอดทิ้ง
- แจ้งพนักงานถึงความสำคัญของงาน วัน แรกที่เข้ามาทำงานหัวหน้างานควรจะแจ้งหน้าที่และความรับผิดชอบที่ชัดเจน รวมทั้งบอกด้วยว่า งานที่พนักงานใหม่ต้องทำนั้น มีความสำคัญอย่างไรต่อความสำเร็จของหน่วยงาน และต่อองค์กร ให้เขารู้ว่า เขามีความสำคัญ และมีส่วนในการสร้างความสำเร็จให้กับองค์กรได้ ถ้าผลงานของพนักงานออกมาดี
- ให้มีระบบ Recognition ที่ดี กล่าว คือ เมื่อพนักงานทำงานได้ดี ก็ต้องมีคำชมให้ทันที เพื่อให้เขาทราบว่า เราให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาทำจริงๆ หรือในกรณีที่พนักงานทำงานผิดพลาด สิ่งที่หัวหน้าจะต้องทำก็คือ การให้คำแนะนำและสอนงานในสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าการตำหนิตั้งแต่วันแรกๆ ที่เข้ามาทำงานเลย เพราะกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำงาน
- ฝึกหัวหน้างานให้สามารถบริหารคนได้ดี ประเด็น สำคัญก็คือ การทำให้หัวหน้างานแต่ละคนที่ต้องดูแลพนักงาน เป็นหัวหน้าที่ให้ความสำคัญกับการบริหารคนจริงๆ ให้ความเอาใจใส่ ดูแล และให้ความเป็นกันเองกับลูกน้องทุกคนทั้งลูกน้องใหม่ และลูกน้องเก่า ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง และไม่มองว่าพนักงานใหม่เป็นแค่ “มือใหม่หัดขับ” ดังนั้นไม่ต้องให้ความสำคัญอะไรมากนัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น