พอเขียนเรื่องของ competency มาสองวัน ก็มีผู้อ่านสอบถามมาว่า จริงๆ แล้วประโยชน์ของการทำระบบ Competency Based HRM and HRD นั้น มีอะไรบ้าง เพราะเท่าที่ทำมาของบริษัท ไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไรเลย มีแต่ความยุ่งยากที่เกิดขึ้นในการทำงานมากกว่า เป็นสิ่งที่ทำให้ Line Manager จะต้องมานั่งประเมินพนักงาน แถมแบบประเมินยังมีความซับซ้อน ต้องมาหา Gap มาวางแผนการพัฒนา มันมีอะไรที่สร้างความง่ายกว่านี้หรือไม่
สิ่งที่ผมเข้าใจ และคิดไปเองตั้งแต่ต้นก็คือ ผมคิดว่า ทุกท่านน่าจะพอเห็นประโยชน์ของ Competency อยู่บ้าง ก็เลยไม่ได้เขียนให้อ่านกันในส่วนนี้ เพราะไม่อยากฉายหนังซ้ำ แต่เห็นคำถามมา ก็คิดว่าคงต้องลงมือเขียนให้อ่านกันสักหน่อย ก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร ท่านที่พอรู้อยู่แล้ว ก็ถือเป็นการทบทวนความรู้อีกสักครั้งนะครับ
ประโยชน์ของ Competency นั้น มีมากมายครับ ถ้าเราออกแบบระบบ และใช้งานมันให้ถูกทาง จะเกิดประโยชน์ในการบริหารคนอย่างมากทีเดียวครับ ลองมาดูกันว่ามีเรื่องอะไรบ้าง
- ประโยชน์ในการสรรหาคัดเลือกพนักงาน ประโยชน์ของ Competency ที่เห็นได้ชัดเจนอันแรกก็คือ เอามาใช้ในการสรรหาคัดเลือกพนักงาน เพื่อให้ได้พนักงานที่ตรงตามสิ่งที่เราอยากได้ โดยเฉพาะเรื่องของ Core Competency ซึ่งเป็นสิ่งที่พนักงานทุกคนจะต้องมีนั้น บางตัวพัฒนายากมาก ดังนั้นการหาคนที่มี Competency ตัวนั้นก็น่าจะเป็นสิ่งที่ง่ายกว่า และเอามาพัฒนาต่อยอดได้เร็วกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเรารู้ว่าเราต้องการคนที่มี Competency แบบไหน มีเขียนชุดพฤติกรรมที่ชัดเจน ก็จะทำให้เราสามารถที่จะออกแบบวิธีการคัดเลือกพนักงานได้ชัดเจนมากขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นแบบทดสอบ คำถามที่จะใช้ในการสัมภาษณ์ เกณฑ์ในการพิจารณา ฯลฯ ประเด็นก็คือ หลายบริษัทที่มีการใช้งาน Competency แล้ว แต่ก็ไม่ได้เอามาใช้ในเรื่องของการหาคนเลยก็มี เรียกได้ว่า มองสองงานนี้แยกออกจากกันไปเลย ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันเอามาใช้งานด้วยกันได้อย่างแยกกันไม่ออก
- ประโยชน์ในการพัฒนาพนักงาน เรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์โดยตรงของระบบ Competency เพราะเครื่องมือนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้พัฒนาพนักงานอยู่แล้ว ดังนั้นบริษัทที่มี Competency ชัดเจน ก็จะสามารถพัฒนาพนักงานได้ตรงจุดมากกว่าการพัฒนาพนักงานแบบเดิมๆ ที่ทำ Training Needs Survey แล้วก็มากำหนดหลักสูตรต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นการพัฒนาที่ไม่ตรงจุดสักเท่าไหร่ แต่ถ้าองค์กรเรามี Competency ว่าพนักงานจะต้องมี Competency อะไรบ้าง แค่ไหน ก็จะทำให้หัวหน้างานสามารถที่จะวางแผนในการพัฒนาพนักงานได้อย่างตรงจุด ตรงประเด็นกับที่บริษัทต้องการ ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยในการวิเคราะห์หาแนวทางในการพัฒนาพนักงานได้อีกด้วย ก็คือ ไม่ใช่แค่การฝึกอบรมแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว Competency บางตัวต้องใช้การสอนงาน การไปดูงาน และการให้ทำงานโครงการอื่นๆ เพิ่มเติม ผลก็คือ พนักงานจะได้รับการพัฒนาที่ตรงจุดกับที่องค์กรต้องการให้เขาเป็น งบประมาณในการพัฒนาพนักงานก็จะถูกใช้อย่างคุ้มค่ามากขึ้นด้วย
- ประโยชน์ในการกำหนดค่าจ้างแบบ Skill Based Compensation บาง องค์กรต้องการจ่ายค่าจ้างตามทักษะของพนักงาน ดังนั้นระบบที่สามารถประเมินทักษะของพนักงานได้ชัดเจนมากก็คือ ระบบ Competency นี้ เราสามารถกำหนดระดับของทักษะ ความรู้ และพฤติกรรมได้ และสามารถนำเอาสิ่งเหล่านี้ไปเชื่อมโยงกับระบบบริหารค่าจ้างเงินเดือนของ บริษัท โดยเฉพาะในส่วนของการ Reward ในด้านพฤติกรรม ทักษะ และความรู้ของพนักงาน
- ประโยชน์ในการบริหารเส้นทางสายอาชีพ (Career Path) ประโยชน์ อีกด้านหนึ่งของระบบ Competency ก็คือ เอาไปผูกกับเรื่องของการพัฒนาพนักงานตามสายอาชีพได้อย่างดี บริษัทที่มี Competency ดีๆ ชัดเจน หัวหน้ากับลูกน้องจะมีการวางแผนเส้นทางสายอาชีพกัน ว่าอีก 3-5 ปีข้างหน้าพนักงานจะเติบโตไปอย่างไร และการเติบโตนั้นจะต้องได้รับการพัฒนาในเรื่องอะไร โดยพิจารณาจากตำแหน่งงานที่พนักงานจะโตขึ้นไป ว่าต้องการ Competency อะไรบ้าง และปัจจุบันพนักงานมีอะไร และยังขาดอะไร ก็จะวางแผนเพื่อเติมทักษะและความรู้เหล่านั้นเข้าไป เพื่อให้ถึงวันหนึ่งพนักงานจะได้เติบโตตามสายอาชีพที่กำหนดไว้ได้อย่าง ภาคภูมิใจ องค์กรเองก็รู้สึกดี เพราะพนักงานเก่งขึ้น ทำงานได้มากขึ้น มีศักยภาพสูงขึ้น พนักงานเองก็รู้สึกเพราะเขารู้สึกประสบความสำเร็จ และรู้สึกได้ว่า องค์กรให้ความสำคัญกับเขา อีกทั้งค่าจ้างเงินเดือนก็สูงขึ้นตามค่างาน และความสามารถที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
ดังนั้นถ้าเราทำ โดยเริ่มจากการออกแบบให้ง่ายๆ ก่อน และส่งเสริมให้ผู้จัดการนำเอา Competency ไปใช้งาน เพื่อวางแผนการพัฒนาร่วมกับพนักงาน ก็จะทำให้ระยะยาว องค์กรจะมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพราะเรากำลังสร้างคนให้เป็นแบบที่องค์กรต้องการ พัฒนาคนอย่างต่อเนื่อง จนพนักงานสามารถทำงานที่ยากขึ้นได้ ฯลฯ
เพียงแต่ตอนเริ่มต้นมันอาจจะ ยากหน่อย แต่ขอให้อดทน และทำมันต่อไปอย่างต่อเนื่อง และถูกต้อง แล้วพนักงานของบริษัทท่านจะเก่งขึ้นจริงๆ มีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับ core value ของบริษัท
ก็ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทมองความสำเร็จในระยะสั้นๆ หรือมองกันยาวๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น