วันนี้ ขอแตะเรื่องของ Competency อีกสักวันนะครับ บทความที่ผ่านมาใน 2 วันที่แล้ว ก็น่าจะพอทำให้ท่านผู้อ่านเห็นและเข้าใจเรื่องราวของ Competency มากขึ้นบ้างนะครับ เพียงแต่ เรื่องนี้ก็ยังคงมีความยากลำบากในการใช้งานมันพอสมควร เรียกได้ว่า ผู้จัดการฝ่ายต่างๆ จะต้องมานั่งทำความเข้าใจกันอย่างจริงๆ จังๆ ว่า Competency แต่ละตัวนั้นมันหมายถึงอะไร และเห็นภาพอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น ผู้จัดการทุกคนจะต้องเห็นภาพพฤติกรรมของแต่ละ Competency ไปในทางเดียวกันให้ได้ มิฉะนั้น การใช้งาน Competency ก็จะไปกันคนละทาง
จากประสบการณ์ที่ได้เข้าไปแก้ไขระบบ Competency ของหลายๆ บริษัทที่ได้ทำกันไว้นั้น ปัญหาหลักๆ ก็คือ ผู้จัดการและหัวหน้างานแต่ละคนตีความ Competency แต่ละตัวไม่เหมือนกันเลย ทั้งๆ ที่ก็เขียนนิยามตัวเดียวกัน บางคนนั่งทำ Workshop ด้วยกัน ก็ยังมองพฤติกรรมกันไปคนละทางก็มี ทำไมถึงเป็นแบบนั้น
จากการวิเคราะห์ของตัวผมเอง (ซึ่งอาจจะผิดก็ได้) ผมเห็นว่า เกือบทุกบริษัท เขียนคำนิยามของ Competency แต่ละตัวด้วยภาษาเทพมากมาย เป็นภาษาไทย ที่อ่านจบแล้ว คนอ่านยังงงๆ อยู่ว่า จริงๆ แล้วมันแปลว่าอะไร แล้วพฤติกรรมที่ว่ามันเป็นยังไงกันแน่ ก็คือ แปลไทยเป็นไทยยังลำบากเลย ดังนั้น รับรองได้เลยว่า คนที่เอาไปใช้งานจริงๆ ก็คงคิดไปคนละทางแน่นอนครับ
ผมได้ลองสรุปวลีของภาษาเทพต่างๆ ที่มักจะเจอในนิยาม Competency ซึ่งอ่านแล้วดูเหมือนจะดี แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร
- “ต้องสามารถบูรณาการ......” วลีนี้เจอบ่อยครับ แล้วมันคืออะไร คำว่าบูรณาการ คนอ่าน อ่านจบก็งงกันไปหมด พนักงานที่มีความสามารถในการบูรณาการ ต้องเป็นยังไงกันน่า
- “มีจิตสาธารณะ” คำ นี้ก็เริ่มเห็นมากขึ้น มันคืออะไรที่ว่า พนักงานมีจิตสาธารณะ รับรองได้เลยว่า หัวหน้าและผู้จัดการแต่ละคนตีความกันไปต่างๆ นานา ไม่เหมือนกันแน่นอนครับ
- “มีสมรรถนะสูง” คำนี้ก็มักจะถูกนำมาใช้ในนิยามของ Competency บางตัว ซึ่งอ่านแล้วก็งงๆ ว่าอะไรคือการมีสมรรถนะสูง
- “สร้างคุณค่าให้กับคนที่เกี่ยวข้อง” อะไร คือการสร้างคุณค่า อ่านแล้วตีความกันไปมากมาย คงต้องถามกันอีกว่า พฤติกรรมแบบไหนที่เราจะมองว่า พนักงานสามารถสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าหรือคนที่เกี่ยวข้องได้
- “มีความเป็นธรรมาภิบาล” นี่ ก็อีกวลีหนึ่งที่เจอบ่อยกับองค์กรที่มี Competency ที่เน้นในเรื่องของความโปร่งใส อ่านจบแล้วก็ต้องมานั่งนึกกันต่อว่า ธรรมาภิบาล คืออะไร แปลว่าอะไร พนักงานต้องแสดงพฤติกรรมแบบไหนที่เรียกกว่ามีธรรมาภิบาล ฯลฯ
- “กล้าที่จะก้าวออกจากโซนความปลอดภัย” อ่านวลีนี้แล้วเป็นอย่างไรกันบ้างครับ
- “รักษาและดำเนินการตามพันธสัญญา” นี่ก็อีกวลีที่ชอบใช้กันเยอะ อ่านแล้วดูสวยงามแต่ ไม่รู้ว่ามันคือพฤติกรรมอะไรกันแน่
- “คิดไปข้างหน้า” อะไร คือการคิดไปข้างหน้า พฤติกรรมอะไรกันแน่ อ่านแล้วก็ตีความกันไปมากมาย บางคนบอกว่า ถ้าพนักงานคิดถึงงานเมื่อวานนี้ แสดงว่าไม่ได้คิดไปข้างหน้าใช่หรือไม่ นี่คือการคิดไปข้างหลังมากกว่า ได้ยินแล้วก็ฮาเลยครับ
- “ให้ผลสะท้อนกลับแก่ผู้อื่น” อะไร คือการให้ผลสะท้อนกลับ บางองค์กรเขียนว่า รับผลสะท้อนกลับ แล้วตกลงว่ามันคืออะไร พฤติกรรมอะไรที่ต้องแสดงออกบ้าง มองไม่เห็นเลยครับ
แต่ในความเห็นผมนั้น นิยามควรจะเขียนด้วยภาษาง่ายๆ อ่านแล้วเห็นภาพพฤติกรรมพนักงานที่แสดงออกกันเลย อาจจะมีการตีความบ้าง แต่ก็คงไม่ใช่เบลอๆ หรือมองไม่ออกแบบภาษาข้างต้น ถ้าเขียนแบบง่ายๆ คนใช้ก็จะง่าย เพราะอ่านปุ๊ปเข้าใจปั๊ป และสามารถมองหรือประเมินพนักงานของตนเองได้ง่ายขึ้นนั่นเองครับ
ลองอ่านนิยาม Competency ข้างล่างนี้ดูนะครับ
“มีจิตสาธารณะ และมีสมรรถนะสูง คิดไปข้างหน้า และเอาผลสะท้อนกลับมาบูรณาการให้เป็นไปตามพันธสัญญาที่กำหนดไว้ อีกทั้งยังกล้าที่จะก้าวออกจากโซนความปลอดภัย เพื่อสร้างคุณค่าให้กับคนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยึดถือความมีธรรมาภิบาลอย่างมั่นคง”
อ่านแล้วรู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ เจอนิยามแบบนี้ เก่งแค่ไหนก็ไปไม่ถูกแน่นอนครับ ภาษาวัยรุ่นหน่อยก็เรียกว่า “เงิบ” ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น