วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ถ้านายจ้างถูกบริหารโดยลูกจ้าง จะเป็นอย่างไร


เรื่องของบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น มีขึ้นเพื่อที่จะทำให้องค์กรสามารถที่จะสรรหา รักษาไว้ และพัฒนาพนักงานที่เหมาะสมในการทำงานให้บริษัท ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่มีระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อที่จะดูแลพนักงานให้ทำ งานกับองค์กรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ


ผมนั่งคิดเล่นๆ ดูว่า ถ้าวันดีคืนดี ระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลมันกลับตาลปัตรกันล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น กล่าวคือ พนักงานกลายมาเป็นฝ่ายที่จะต้องตั้งคำถามเพื่อถามนายจ้างว่า เป็นบริษัทที่เหมาะจะเป็นนายจ้างของเขาหรือเปล่า ถ้าไม่เหมาะก็จะไม่รับให้เป็นนายจ้าง
ลองดูอะไรที่มันกลับตาลปัตรกันสักหน่อยนะครับ
  • นายจ้างจะต้องเป็นฝ่ายกรอกใบสมัคร เพื่อ สมัครเป็นนายจ้างของพนักงาน โดยพนักงานแต่ละคนจะมีใบสมัครสำหรับนายจ้างไว้เป็นมาตรฐาน เพื่อให้บริษัทที่ต้องการจะมาเป็นนายจ้างของเขากรอก เพื่อให้พนักงานพิจารณาคุณสมบัติว่า บริษัทนี้เหมาะสมที่จะเป็นนายจ้างของเขาหรือไม่ ถ้าอ่านแล้วไม่เหมาะ พนักงานก็จะคัดใบสมัครใบนั้นออกไปจากการพิจารณา และจะไม่มีการเรียกนายจ้างมาสัมภาษณ์
  • นายจ้างเป็นฝ่ายถูกเรียกสัมภาษณ์จากพนักงาน โดยพนักงานแต่ละคนก็จะโทรศัพท์ติดต่อนายจ้างแต่ละรายเพื่อให้นายจ้างมา สัมภาษณ์ เพื่อดูคุณสมบัติของนายจ้าง มีการพิจารณาตรวจสอบประวัติการทำงานของนายจ้างแต่ละราย ตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ฯลฯ เพื่อจะพิจารณาว่า ถ้าพนักงานเข้าไปทำงานแล้ว จะได้ไม่เสียชื่อพนักงานคนนั้น
  • นายจ้างต้องเป็นฝ่ายทำแบบทดสอบต่างๆ ไม่ ว่าเป็นเป็นแบบทดสอบทัศนคติ แบบทดสอบความถนัดในด้านต่างๆ และพนักงานเองก็มีเกณฑ์ว่าจะต้องได้กี่คะแนนถึงผ่านเกณฑ์ว่าสามารถมาเป็นนาย จ้างของเขาได้
  • นายจ้างเป็นฝ่ายถูกพนักงานประเมินผลงานในแต่ละปี ว่าผลงานออกมาเป็นอย่างไร และอาศัยผลการประเมินนี้เป็นตัวตัดสินใจว่า ยังสมควรที่จะเป็นนายจ้างของตนต่อไปอีกหรือไม่
  • พนักงานเป็นผู้กำหนดแนวทางในการพัฒนานายจ้าง ว่าในแต่ละปีจะต้องพัฒนาเรื่องอะไรบ้าง ต้องถูกส่งไปฝึกอบรมเรื่องอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้เป็นนายจ้างที่ดี และเหมาะสม
  • พนักงานเป็นฝ่ายบอกเลิกให้จ้าง ด้วย เหตุที่ว่า บริษัทนี้ไม่เหมาะสม และขาดคุณสมบัติที่จะเป็นนายจ้างที่ดีสำหรับพนักงานได้ ก็จะทำการบอกนายจ้างว่า เขาไม่มีคุณสมบัติที่ดีที่จะเป็นนายจ้างได้
คิดไปคิดมา ก็นั่งสงสัยว่า มันจะมีความเป็นไปได้มากน้อยสักแค่ไหน เอาเข้าจริงๆ ก็คงเป็นไปได้ยากที่จะเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นจริงๆ แต่อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าแนวโน้มในอนาคตข้างหน้า พนักงานจะเป็นฝ่ายเลือกนายจ้างมากขึ้น เพราะมีทางให้เลือกมากขึ้นในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพส่วนตัว การรับจ้างแบบ Freelance หรือการประกอบอาชีพอิสระ เมื่อมีทางเลือกมากขึ้น บริษัทต่างๆ ก็จะหาพนักงานได้ยากขึ้น ก็อาจจะเป็นเหตุให้ พนักงานมีอำนาจต่อรองมากขึ้น เลือกมากขึ้นได้

บริษัทเองก็ต้องมีการ พัฒนาปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น เพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Employer of Choice ก็คือเป็นนายจ้างที่ดีที่พนักงานอยากเข้าไปทำงานด้วย ซึ่งในยุคนี้ ก็มีหลายบริษัทที่พยายามจะสร้างสิ่งนี้ขึ้น สิ่งที่พูดถึงนี้ก็คือ เรื่องของ Employer Branding นั่นเองครับ

พูดให้ง่ายก็คือ นายจ้างจะต้องสร้างจุดเด่นของตนเอง เพื่อให้พนักงานมาเลือกให้เขาเป็นนายจ้าง เพราะถ้าพนักงานมาทำงานที่นี่ก็จะได้รับสิ่งดีๆ กลับไปมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโอกาสเติบโตก้าวหน้าในการทำงาน ค่าตอบแทน สวัสดิการ ชื่อเสียงต่างๆ ฯลฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละองค์กรว่าจะสร้าง Brand ของตนเองในสายตาของประชาชนคนทั่วไปอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น