วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556

แนวโน้มเรื่องของ Work Life Balance ที่พบในผลการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ 2013


ในปัจจุบันนี้ เรื่องของนโยบาย Work-Life Balance นั้นเป็นที่นิยมมากขึ้นในการวางระบบบริหารทรัพยากรบุคคลของบริษัทต่างๆ มากขึ้น ทั้งนี้ก็เนื่องมากจากสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นการทำงานของพนักงาน รวมทั้งการแข่งขันกันทางธุรกิจก็มีมากขึ้น ยิ่งทำให้พนักงานที่ทำงานในองค์กรเกิดความเครียดมากขึ้น ซึ่งจะตามมาด้วยปัญหาทางด้านสุขภาพกาย และสุขภาพจิตกันมากขึ้น


หลายองค์กรเล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงมีนโยบายเรื่องของ work-life balance ออกมา เพื่อลดภาวะความตึงเครียดของพนักงานลงไปบ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถทำงานกับองค์กรอย่างมีความสุขนั่นเอง อีกทั้งความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะ Gen Y ที่ต้องการเรื่องของการใช้ชีวิตส่วนตัวมากขึ้น ไม่ใช่ชีวิตมีแต่การทำงานเหมือนคนรุ่นก่อนๆ ก็เลยยิ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้องค์กรต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญต่อเรื่องของ Work-Life Balance กันมากขึ้น เพราะถ้าไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ก็จะทำให้องค์กรดึงดูด และรักษาพนักงานกลุ่มนี้ได้ยากขึ้นไปอีก

จากผลการสำรวจค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการของทางสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่ง ประเทศไทย ที่ผมเข้าไปช่วยดูแลเรื่องข้อมูล และจากผลการสำรวจค่าจ้างเงินเดือน และสวัสดิการของบริษัทผมเองคือ BMC นั้น มีการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่องที่มีผลต่อการสร้าง Work-Life Balance อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
  • เลิกทำงานวันเสาร์ กล่าว คือ จำนวนบริษัทที่เลิกทำงานวันเสาร์มีมากขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา บริษัทเหล่านี้กำหนดนโยบายใหม่เลยว่า เลิกทำงานวันเสาร์ไปเลย โดยที่มีส่วนหนึ่งเอาเวลาที่เลิกทำงานวันเสาร์มาเพิ่มให้กับวันทำงาน จันทร์-ศุกร์ให้มากขึ้น (ต้องได้รับการยินยอมจากพนักงาน) แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนเยอะกว่า ยกเลิกการทำงานวันเสาร์ไปเลย โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งนี้ก็เนื่องจากคนรุ่นใหม่ๆ ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานนั้น ไม่มีความคิดที่จะทำงานวันเสาร์อีกต่อไปแล้ว และถ้าองค์กรยังยืนที่จะทำงานวันเสาร์ ก็จะหาพนักงานมาร่วมงานได้ยากขึ้น
  • จำนวนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาลดลง มี จำนวนบริษัทถึง 40% ที่ลดจำนวนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาลงจากเดิม ซึ่งในกรณีนี้อาจจะเป็นผลมาจากเรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงขึ้นก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ดี การลดจำนวนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาลง ก็ส่งผลให้พนักงานมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น หรือสามารถเอาเวลาที่เพิ่มขึ้นนี้ ไปใช้ในการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดีขึ้นได้ ซึ่งก็สามารถส่งเสริม Work-Life Balance ของพนักงานได้เช่นกัน
  • จำนวนวันหยุดพักผ่อนประจำปีมีมากขึ้น จาก หลายๆ องค์กรที่มีการกำหนดวันพักร้อนเท่าที่กฎหมายกำหนดไว้คือปีละ 6 วัน แนวโน้มที่เห็นชัดเจนขึ้นก็คือ บริษัทเริ่มออกระเบียบใหม่ โดยให้วันหยุดพักร้อนแก่พนักงานด้วยจำนวนวันที่มากขึ้นในแต่ละปี อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้มีการสะสมวันหยุดพักร้อนได้ไม่เกิน 2 ปีอีกด้วย ซึ่งก็เป็นสัญญานบอกเราได้อย่างหนึ่งว่า องค์กรกลุ่มนี้พยายามที่จะสร้าง Work-Life Balance ให้เกิดขึ้นกับพนักงานของตนเอง ให้มีโอกาสหยุดพักผ่อนส่วนตัวมากขึ้น หรือพาครอบครัวไปเที่ยวพักผ่อนได้มากขึ้นกว่าเดิม
  • เปิดโอกาสให้ใช้สิทธิการลาที่ยืดหยุ่นมากขึ้น มี บริษัทประมาณ 10% ที่ให้สิทธิในการลาที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และเพิ่มสิทธิในการลารูปแบบต่างๆ ที่มากขึ้นกว่าเดิม เช่น ให้มีการลาแต่งงาน ลาภรรยาคลอดบุตร บางแห่งให้ลาคลอดเพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงลูกได้ใน 1 เดือนแรก นอกนั้นก็มีเรื่องของการลาเพื่อไปโรงเรียนลูก ลาเพื่อไปดูแลพ่อแม่ที่ไม่สบาย ฯลฯ ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดเจนว่า องค์กรเริ่มให้ความสำคัญต่อเรื่องของครอบครัวพนักงานมากขึ้นกว่าเดิม
  • นโยบายทำงานที่บ้าน เดิม บริษัทไทยๆ ไม่ค่อยมีบริษัทใดที่จัดนโยบายนี้ให้กับพนักงาน แต่จากผลการสำรวจปีล่าสุด บริษัทที่มีสภาพการทำงานที่สามารถทำงานที่บ้านได้นั้น ก็เริ่มกำหนดให้มีนโยบายนี้ขึ้น โดยให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้ สัปดาห์ละ 1 วัน เพื่อช่วยให้พนักงานไม่ต้องเดินทางมาทำงานฝ่าฟันรถติดมาทำงาน ก็สามารถที่จะนั่งทำงานที่บ้านได้เลย
  • มีเวลาเข้างานออกงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น บริษัท จำนวนถึง 30% ที่เริ่มมีนโยบายเรื่องของเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่มีการกำหนดเวลาตายตัว เปิดโอกาสให้พนักงานสามารถที่จะบริหารชีวิตของตนเองได้มากขึ้น ใครจะเข้าทำงานกี่โมง ก็เปิดโอกาสช่วงเวลาเข้างานออกงานที่มีการเหลื่อมกัน อีกทั้งบางบริษัทยังเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถกลับบ้านก่อนเวลาเลิกงานได้ ถ้าวันนั้นมีความจำเป็นในเรื่องของครอบครัวที่ต้องกลับไปรับผิดชอบ
  • เพิ่มวงเงินในการรักษาพยาบาล บริษัท จำนวนถึง 45% ได้มีการเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้อาจจะด้วยเหตุผลเรื่องของ Work-Life Balance ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็คือ เรื่องของค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้อัตราค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลต่างๆ ขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พนักงานรู้สึกว่าไม่เพียงพอต่อการดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง บางบริษัทเพิ่มบุคคลที่มีสิทธิเบิกนอกจากตัวพนักงานเอง ยังสามารถเอาลูก หรือพ่อแม่มาเบิกได้อีกด้วย
  • เพิ่มวงเงินคุ้มครองในการประกันชีวิต และอุบัติเหตุ เรื่อง นี้ก็มีองค์กรจำนวนถึง 25% ที่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายเรื่องของการประกันภัยต่างๆ โดยเพิ่มวงเงินคุ้มครองที่สูงขึ้นให้กับพนักงาน และยังเพิ่มความสะดวกสบายในการเบิกจ่ายค่าสินไหมต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องตรวจอะไรให้มันยุ่งยาก
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นประเด็น หลักๆ ที่องค์กรเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการบริหารจัดการ เพื่อที่ไปเพิ่มเรื่องของ Work-Life Balance ให้กับพนักงานของตนเอง

เมื่อเราเห็นแนวโน้มแบบนี้ HR ที่ดีก็คงต้องพิจารณาข้อมูลเหล่านี้ และอาจจะนำไปศึกษาเพื่อดูความเป็นไปได้ของบริษัทตนที่จะนำเอานโยบายเหล่านี้ มาใช้กับบริษัท เพื่อที่จะสร้างความสุขในการทำงานให้กับพนักงานของตนเองให้มากขึ้น

ยุคนี้ ถ้าพนักงานทำงานอย่างมีความสุขแล้ว ผลงานก็จะออกมาดีตามไปด้วยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น