วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

ทัศนคติ หรือทักษะและความสามารถ อะไรควรมาก่อนเวลาเลือกพนักงานเข้าทำงาน


เรื่องของการสรรหาคัดเลือกพนักงาน ก็ยังคงเป็นประเด็นที่สำคัญในการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรต่างๆ บางองค์กรลงทุนในการสร้าง และซื้อเครื่องมือทดสอบด้านต่างๆ เพื่อที่จะคัดกรองผู้สมัครให้ได้ตามคุณสมบัติที่เราต้องการ พนักงานบางคนผ่านการทดสอบด้วยเครื่องมือทุกชนิดมาแล้ว แต่สุดท้าย ก็กลายเป็นพนักงานที่เป็นตัวปัญหา ไม่สร้างผลงาน มีแต่สร้างปัญหา และความขัดแย้งภายในองค์กร ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น


เท่าที่เคยสัมผัสกับระบบการสรรหาคัดเลือกพนักงานขององค์กรต่างๆ นั้น ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่เรื่องของการดูความรู้ ทักษะ เป็นหลัก กล่าวคือ พิจารณาจากคุณสมบัติที่เขียนไว้ในใบพรรณนาหน้าที่งาน ว่าจะต้องจบวุฒิอะไร สาขาอะไร มีประสบการณ์ด้านไหน มาเป็นเวลาสักเท่าไหร่ เมื่อไหร่ที่เจอคนที่มีคุณสมบัติที่ตรงกับที่กำหนดไว้ ก็จะพิจารณารับเข้าทำงาน

ด้วยแนวทางการคัดเลือกพนักงานข้างต้นนั้น ทำให้เราได้พนักงานที่มีความรู้ มีทักษะ และมีความสามารถในการทำงาน แต่เราจะไม่ได้พนักงานที่มีใจรักในการทำงาน ดังนั้นการคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานนั้น อีกเรื่องหนึ่งที่เราลืมไม่ได้เลยก็คือ เรื่องของทัศนคติของคนๆ นั้นที่มีต่องานที่เขาทำ
เคยเจอกับเหตุการณ์ต่อไปนี้บ้างหรือไม่ครับ
  • สินค้า ที่ซื้อมามีปัญหา และต้องการให้พนักงานช่วยแก้ไข และช่วยสอนวิธีแก้ไขให้ พอไปถึงบริษัท ก็ติดต่อเจ้าหน้าที่บริการลูกค้า ซึ่งต้องคอยตอบคำถามลูกค้า เราถามไปว่าสินค้าที่ซื้อไปมีปัญหาจะให้ทำอย่างไรดี คำตอบที่ได้มาคือ “เราไม่มีนโยบายในการคืนสินค้าที่ได้ซื้อไปแล้วนะคะ”  พูดด้วยสีหน้าบึ้งตึง เหมือนกับว่าเราต้องมาขออะไรเขากิน ทั้งๆ ที่เราเข้ามาเพื่อขอคำปรึกษาแนะนำ ไม่ได้จะมาขอเปลี่ยนสินค้าเลย
  • พนักงาน ขาย ที่เข้ามาต้อนรับลูกค้าแบบขอไปที ตอบคำถามลูกค้าในลักษณะท่องจำมา ไม่มีอารมณ์ที่อยากจะขาย และบริการลูกค้าใดๆ ทำท่ารำคาญลูกค้า พอลูกค้าบอกว่าจะไปซื้อที่อื่น ก็ตอบว่า “เชิญค่ะ"
  • อาจารย์ ตามโรงเรียนที่สอนนักเรียน แบบตามหน้าที่ พูดไปตามบท ตามหลักสูตรที่เขียนไว้เป๊ะๆ เวลาที่นักเรียนถาม ก็ไม่อยากตอบ หรือบางครั้งก็ให้คำตอบแบบผิดๆ กรณีมีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้น ก็ไม่เคยติดตามไม่เคยอัพเดทความรู้ใหม่ๆ นั้นเลย ยังคงสอนด้วยความรู้แบบเดิมๆ
  • เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในโรง งาน ทำงานโดยไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย แต่ไปเตือนคนอื่นให้ใส่ ทำงานไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่มีจิตใจที่แสดงให้เห็นถึงว่าตนเองรักความปลอดภัยแต่อย่างใด
เหตุการณ์ข้างต้น ไม่ใช่พนักงานคนนั้นไม่เก่ง หรือไม่มีทักษะในการทำงานนะครับ แต่ประเด็นก็คือ พนักงานคนนั้นขาด “ใจ” และ ขาด “ทัศนคติ” ที่ดีต่อการทำงานในอาชีพของตนเองมากกว่า ซึ่งส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงต่อผลงานของตนเอง และผลงานขององค์กรด้วย

ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงทำให้เรื่องของการสรรหาคัดเลือกพนักงานควรจะพิจารณาถึงทัศนคติของคนๆ นั้นที่มีต่อการทำงานด้วย ไม่ใช่พิจารณาแค่เพียง ความรู้ว่าจบอะไรมา หรือมีประสบการณ์ผ่านงานอะไรมาบ้างเท่านั้น แต่จะต้องคุย และสัมภาษณ์ ให้เห็นถึงมุมมองและแนวคิดที่มีต่องานที่เขากำลังจะทำด้วย
  • ถ้าต้องการพนักงานที่ให้บริการลูกค้าได้ดี ให้จ้างคนที่มีจิตใจให้บริการ ยิ้มเก่ง เอาใจเก่ง
  • ถ้าต้องการพนักงานที่มาทำงานเรื่องความปลอดภัย ก็ต้องหาคนที่มีจิตสำนึกในเรื่องความปลอดภัย
  • ถ้าต้องการพนักงานขาย ก็ต้องหาพนักงานที่รู้สึกดี ต่อการขาย และรักการขายเป็นชีวิตจิตใจ
  • ถ้าต้องการพนักงานที่สามารถทำงานเป็นทีม ก็ต้องหาคนที่ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดี และมีทัศนคติในการทำงานเป็นทีม ไม่ใช่ชอบทำงานคนเดียว
  • ฯลฯ
ถ้าเราสามารถคัดเลือกพนักงานที่มีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพที่จะทำแล้ว ผลงานก็จะดีด้วย และจะส่งผลต่อผลงานขององค์กรอีกด้วย นอกจากนั้น พนักงานเองก็จะทำงานอย่างมีความสุข เพราะเขาได้งานตรงกับสิ่งที่ตัวเขาเป็นจริงๆ

ดังนั้นเวลาคัดเลือกพนักงานจึงควรพิจารณาถึงทัศนคติต่องาน เพิ่มเติมจากความรู้และทักษะด้วยนะครับ เพื่อที่จะได้พนักงานที่ทั้งดี และทั้งเก่งครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น