หน้าที่หนึ่งของผู้จัดการ หรือคนที่เป็นหัวหน้า ที่ต้องดูแลและบังคับบัญชาลูกน้อง ก็คือ การสร้างแรงจูงใจให้กับลูกน้องของตนเอง แต่จะว่าไป เรื่องของการสร้างแรงจูงใจนั้น ก็ยังคงมีปัญหาอยู่มาก สำหรับผู้จัดการแต่ละคน เนื่องจากการสร้างแรงจูงใจนั้น สิ่งที่สำคัญก็คือ ผู้จัดการเองจะต้องสร้างบรรยากาศในการทำงาน เพื่อให้เอื้อต่อแรงจูงใจของทีมงานด้วย และการที่จะสร้างบรรยากาศได้นั้น ตัวผู้จัดการเองจะต้องเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างมาก
ผมได้รวบรวมประสบการณ์จากทั้งของผมเอง และจากการที่ได้พูดคุยกับผู้จัดการทั้งหลายที่ได้เข้าหลักสูตรการพัฒนาทักษะ การบังคับบัญชา ในเรื่องของการสร้างแรงจูงใจที่ผิดพลาด โดยที่เหล่าบรรดาผู้จัดการนั้นไม่ได้ตั้งใจเลยสักนิด แต่กลับมีผลต่อแรงจูงใจของพนักงานอย่างมาก มีเรื่องอะไรบ้างลองมาดูกันครับ
- ผู้จัดส่วนใหญ่ลืมมองเรื่องบรรยากาศในการสร้างแรงจูงใจ มองแค่เพียงว่า การที่เราจะสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานได้นั้น จะต้องมีการศึกษาความต้องการของพนักงาน ต้องเอาทฤษฎีแรงจูงใจต่างๆ มาใช้ประกอบ แต่ในทางปฏิบัตินั้น วิธีการง่ายๆ (แต่ทำยากเหมือนกัน) ที่จะสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานได้ ก็คือ ผู้จัดการนี่แหละครับ จะต้องเป็นคนที่สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี เช่น เข้าบริษัทมาตอนเช้า ก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายพนักงานทุกคน พูดคุยสร้างความเป็นกันเองกันก่อนเลย แค่เริ่มต้นแค่นี้ พนักงานในทีมงานก็รู้สึกมีพลังในการทำงานได้แล้ว จากนั้นเราก็ค่อยเสริม หรือเติมประเด็นเรื่องของความต้องการพนักงานเข้าไปทีหลังได้ง่ายขึ้น
- พนักงานเก่งกลับไม่ค่อยได้ความใส่ใจจากหัวหน้า นี่ เป็นอีกเรื่องที่เป็นข้อผิดพลาดในการสร้างแรงงจูงใจให้กับพนักงาน กล่าวคือ ผู้จัดการส่วนใหญ่ เมื่อเห็นว่าพนักงานของตนเองคนไหนที่มีผลงานที่ดี มีความตั้งใจในการทำงานอยู่แล้ว ก็มักจะไม่ค่อยใส่ใจ หรือให้ความสนใจมากนัก เพราะคิดว่า พนักงานคนนี้สามารถที่จะทำงานได้ด้วยตนเองแล้ว แต่กลับไปให้ความสนใจและใส่ใจกับพนักงานที่มีปัญหาในการทำงานมากกว่า เช่นพนักงานที่มีผลงานไม่ดี ก็มักจะถูกเรียกไปคุย ซึ่งในการเรียกไปคุยนั้น บางทีหัวหน้าเองก็ซื้อกาแฟมาฝาก พร้อมกับให้ Feedback ไปด้วย มันก็เลยทำให้พนักงานที่มีผลงานที่ดีรู้สึกไม่ค่อยดี เพราะเขาทำงานดีมากมาย แต่หัวหน้ากลับไม่เคยคุย ไม่เคยบอกอะไร ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่เคยเลี้ยงกาแฟเลย จริงๆ แล้วเราควรจะให้ความสำคัญกับพนักงานที่มีผลงานที่ดีด้วย โดยการชมเชย และเรียกมาพูดคุย เพื่อให้เขารู้ว่า เรายังต้องการเขาอยู่ และเขามีคุณค่าต่อความสำเร็จของงานของเรา ส่วนพนักงานที่ผลงานไม่ค่อยดี ก็อาจจะเน้นไปในเรื่องของการสอนงาน และการทำให้เขาสร้างผลงานที่ดีให้ได้
- พนักงานเก่งไม่ค่อยได้รับการ Coach เรื่อง ของการ Coaching เป็นสิ่งที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานได้เช่นกัน เพราะทำให้พนักงานรู้สึกว่า หัวหน้าให้ความสำคัญกับตน และอยากให้ตนทำงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็คือ พนักงานที่มีผลงานที่ดี ทำงานเก่ง มักจะไม่ค่อยได้รับการ Coaching จากนายเท่าไหร่ ด้วยเหตุผลที่ว่า เก่งอยู่แล้ว และมีความสามารถอยู่แล้ว จึงไม่ต้องสอนอะไรมากมาย ผิดกับพนักงานที่ผลงานแย่ๆ และทำงานไม่ค่อยจะเป็น ก็มักจะได้รับการสอน และให้คำแนะนำบ่อยๆ จนทำให้พนักงานที่เก่งรู้สึกว่า ตนไม่ได้รับความสำคัญจากหัวหน้าเลย แรงจูงใจก็น้อยลง จริงๆ แล้วคนเก่ง ก็ยังคงต้อง Coach ครับ โดยต้องกำหนดทักษะใหม่ๆ อะไรบ้างที่จำเป็นจะต้องมี หรืออาจจะ Coach ในสิ่งที่เป็นจุดแข็งของพนักงานคนนั้นก็ได้ ต่อยอดให้เก่งยิ่งขึ้นไปอีกได้
- พนักงานเก่งๆ ได้รับงานเยอะกว่า นี่ ก็เป็นอีกเรื่องที่อาจจะเป็นการสร้างแรงจูงใจผิดทางโดยที่ไม่รู้ตัว กล่าวคือ พนักงานที่ทำงานเก่ง ก็มักจะได้รับการมอบหมายงานจากหัวหน้าที่เยอะหน่อย มีงานอะไรที่ไม่รู้จะให้ใครทำดี หัวหน้าก็ให้พนักงานที่เก่ง เพราะเชื่อว่า พนักงานคนนี้จะสามารถทำผลงานให้ได้ ทั้งนี้ก็ด้วยความเชื่อใจที่มีให้พนักงานคนนั้นมากกว่า ในทางตรงกันข้าม พนักงานที่มีผลงานไม่ค่อยดี โดยมากก็มักจะไม่ค่อยได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้ามากนัก ดังนั้น ก็เลยสบาย ไม่ต้องมีงานอะไรให้ทำมากนัก งานก็ไม่ยาก สบายๆ วันๆ นั่งทำงานไป นั่งเล่นไป ชิวๆ ตรงข้ามกับพนักงานที่ผลงานดี ที่ต้องก้มหน้าก้มตาทำงานไปเรื่อย ซึ่งทำให้พนักงานที่เก่งรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม ยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้พนักงานที่ไม่เก่ง เรียนรู้ว่า ถ้าอยากสบาย ก็ไม่ต้องทำตัวเองให้เก่ง เพราะเก่งแล้วโดยใช้งานเยอะ ซึ่งนี่ก็คือ การสร้างแรงจูงใจในทางที่ผิด โดยที่ผู้จัดการไม่รู้ตัวเช่นกัน
แค่เพียงเพราะหัวหน้าให้ความสำคัญในสิ่งที่ไม่ถูกต้องแค่นั้นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น