วันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556

แนวทางในการให้คำชมแก่พนักงานที่มีผลงานที่ดี

เรื่องของการให้รางวัลในการทำงานนั้น นอกจากเรื่องของเงินเดือน และโบนัสซึ่งถือว่าเป็นการให้รางวัลผลงานอย่างเป็นทางการที่องค์กรให้กับ พนักงานตามผลงาน แล้วเรายังสามารถให้รางวัลแก่พนักงานได้โดยใช้วิธีที่ไม่เป็นทางการได้ นั่นก็คือ การให้คำชมแก่พนักงานในกรณีที่พนักงานทำผลงานได้ดี


และจากงานวิจัยในเรื่องของการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานที่มีนักวิชาการหลาก หลายประเทศทำไว้ ก็ทำให้เรามั่นใจได้เลยว่า เรื่องของการให้คำชมแก่พนักงานนั้น เป็นเครื่องมือที่ให้ผลกระทบในเชิงบวกต่อการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน อย่างได้ผล เนื่องจากการขึ้นเงินเดือน และการให้โบนัสนั้น จะต้องรอให้ถึงเวลาก่อน จึงจะให้ได้ แต่เรื่องของคำชมนั้น เราสามารถให้ได้เลยในวันที่พนักงานทำผลงานได้ดี

แต่อย่างไรก็ดี การให้คำชมนั้น จะว่าง่ายมันก็ง่าย แต่ถ้าจะว่ายากมันก็ยากเหมือนกันนะครับ หัวหน้างานบางคนปากหนักมาก ไม่เคยชมพนักงานเลย เนื่องจากคิดว่า ถ้าชมไปแล้วจะทำให้พนักงานเหลิง และได้ใจ ซึ่งจะทำให้ยากต่อการควบคุมดูแล ซึ่งในปัจจุบันนี้ แนวคิดแบบนี้ถือว่าเป็นความคิดที่ล้าสมัยอย่างมาก หัวหน้างานที่ดี จะต้องใช้คำชมให้เป็น ซึ่งถ้าเราสามารถใช้คำชมได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ผลที่ได้นั้นจะได้ผลดีในการสร้างแรงจูงใจยิ่งกว่าการขึ้นเงินเดือนและการให้ โบนัสด้วยซ้ำไป

เราลองมาดูเทคนิคในการให้คำชมกันสักหน่อย เผื่อว่าจะเป็นแนวทางให้กับหัวหน้างานสมัยใหม่นำไปใช้กับลูกน้องของตนเองอย่างได้ผล
  • ให้คำชมทันทีที่พนักงานทำผลงานดี เวลาที่พนักงานทำงานได้ดี หรือทำได้ตามที่หัวหน้าคาดหวังไว้ สิ่งที่หัวหน้าจะต้องทำก็คือ รีบให้คำชมแก่พนักงานทันที อย่าเก็บไว้นาน เพราะผลกระทบในแง่บวกจะเริ่มลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ยิ่งเก็บไว้นานๆ แล้วค่อยมาชม จะยิ่งไม่ได้ผลในการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานเลย หรือในอีกรณีหนึ่งก็คือ ยิ่งเก็บไว้นาน พนักงานก็จะลืมว่าเคยทำอะไรไว้ อยู่ๆ หัวหน้าก็มาชม มันก็ทำให้พนักงานอาจจะงงๆ ว่ามาชมเรื่องอะไร
  • ชมให้เฉพาะเจาะจงชัดเจน เวลา ที่จะชมพนักงานจะต้องชมให้ชัดเจนว่า สิ่งที่เขาทำได้ดีนั้น มันคือเรื่องอะไร ไม่ใช่แค่บอกว่า “ทำได้ดีนะ” แต่ดีเรื่องอะไรกลับไม่บอก แบบนี้พูดไป พนักงานเองก็ไม่รู้ว่า สิ่งที่เขาทำได้ดีคืออะไร และก็จะไม่รู้ว่าอะไรที่เป็นสิ่งที่ดี ที่จะต้องรักษาไว้ในการทำงานต่อไป ดังนั้นถ้าจะชมจะต้องชัดเจนไปเลยครับ เช่น “เมื่อวานนี้ ลูกค้าโทรมาบอกกับผมว่า คุณให้คำปรึกษา และบอกแนวทางในการแก้ไขปัญหาในการใช้สินค้าได้อย่างดี ทำให้เขาเข้าใจได้ง่ายๆ” เป็นต้น
  • ให้เป็นเรื่องของตัวบุคคล เวลาชมจะต้องชมในลักษณะของตัวคนๆ นั้นเลย ไม่ใช่ชมแบบหว่านไปเรื่อยๆ โดยไม่เจาะจงว่าเป็นใคร หรือชมแบบกว้างๆ ว่าพวกเราทำได้ดีนะ แบบนี้ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ดังนั้นถ้าจะชม จะต้องเรียกพนักงานคนนั้นมาชมต่อหน้า หรืออาจจะชมต่อหน้าเพื่อนร่วมงานคนอื่นก็ได้ แต่ต้องชมเฉพาะตัวคนที่ทำดีคนนั้น หรือในกรณีที่ไม่มีโอกาสได้เจอพนักงานคนนั้น ก็อาจจะใช้วิธีการชม โดยผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ได้ครับเช่น Line, Whatsapp, เป็นต้น เพื่อให้เขาทราบว่าเราชมเขาอย่างเฉพาะเจาะจงนั่นเองครับ
  • ให้ความจริงใจ เวลา ที่จะชมพนักงาน จะต้องชมด้วยความจริงใจด้วยนะครับ ไม่ใช่แค่สักแต่ว่าชมๆ ไปให้เป็นพิธี เพราะพนักงานจะรับทราบจากน้ำเสียงที่ออกมา และจากภาษาร่างกายที่แสดงออกนั่นเองครับ และถ้าพนักงานรู้ว่าหัวหน้าชมเขาด้วยความไม่จริงใจแล้ว ผลเสียจะมีมากกว่าผลดีแน่นอนครับ
  • ชมก็คือชม อย่าต่อด้วย “แต่” เวลา ชมพนักงานจะต้องชมจริงๆ ชื่นชมด้วยความจริงใจ และที่สำคัญห้ามต่อด้วยคำว่า “แต่” อย่างเด็ดขาด เช่น “คุณทำงานโครงการนี้ได้ดีนะ แต่มีสิ่งที่คุณทำไม่ดีเช่นกัน” แบบนี้ไม่ใช่คำชมจริงๆ เพียงแต่เป็นการจะตำหนิพนักงาน โดยการชักแม่น้ำทั้งห้ามาก่อน พนักงานไม่ได้มองว่าคำพูดข้างต้นคือคำชมครับ เขาจะไปฟังคำพูดที่ต่อจากคำว่า “แต่” มากกว่าครับ แล้วสุดท้ายก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลยสำหรับคำชมที่ให้ไป
สิ่งเหล่านี้ก็คือแนวทางในการให้คำชมพนักงาน ไหนๆ จะชมพนักงานแล้ว ก็ชมให้ถูกต้อง และถูกวิธีไปเลยจะดีกว่า เพราะจะทำให้พนักงานเกิดแรงจูงใจในการทำงานที่ดีขึ้นอย่างได้ผลครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น