เรื่องของการวางแผนทรัพยากรบุคคลของบริษัท ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะถือเป็นทรัพยากรหลักที่จะสร้างผลงานให้กับบริษัทเลยทีเดียว คำว่าวางแผนทรัพยากรบุคคล (Human Resources Planning) นั้น หลายๆ องค์กรมองว่าเป็นเรื่องของการวางแผนอัตรากำลังคนที่จะต้องใช้ในการทำงานของ บริษัท ซึ่งจริงๆ แล้วก็ถูกต้องเพียงส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็คือ จะต้องวางแผนในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารคนขององค์กรด้วย
อย่างที่ผู้อ่านทุกท่านที่อยู่ในวงการ HR กันมานานๆ ก็น่าจะพอเห็นและเข้าใจวัตถุประสงค์ของการบริหารทรัพยากรบุคคลเป็นอย่างดี ซึ่งวัตถุประสงค์ก็คือ การจัดหาคนให้มีเพียงพอกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท และพอหามาได้แล้ว สิ่งที่จะต้องทำต่อก็คือ การพัฒนาเพื่อให้คนที่หามาได้นั้นมีความรู้ทักษะ และความสามารถในการทำงานที่มากขึ้น จากนั้นก็ต้องวางแนวทางในการรักษาไว้ซึ่งพนักงานที่เราพัฒนานั้น ให้อยู่สร้างผลงานให้กับองค์กรอย่างต่อเนื่อง และทำงานด้วยความสุขและความพอใจ
เมื่อพูดถึงคำว่า “การวางแผนทรัพยากรบุคคล” นั่นก็ต้องพิจารณาว่า ทรัพยากรบุคคลของบริษัทที่มีอยู่นั้น มีเพียงพอที่จะนำพาบริษัทไปสู่เป้าหมายได้หรือไม่ ถ้าไม่พอก็ต้องหาเพิ่ม แต่เรื่องแผนกำลังคนนี้ ไม่ใช่เป็นแค่เพียงเรื่องของจำนวนเท่านั้นนะครับ สิ่งที่สำคัญมากกว่าจำนวนว่าพอไม่พอก็คือ เรื่องของคุณภาพของกำลังคนที่มีอยู่เดิม และคุณภาพของคนที่เรากำลังหาใหม่เข้ามาด้วย เราลองมาดูกันว่าแนวทางในการวางแผนทรัพยากรบุคคล หรือแผนกำลังคนขององค์กรนั้นโดยปกติเราต้องพิจารณาเรื่องอะไรบ้าง และต้องระวังเรื่องอะไรกันบ้าง
- เป้าหมาย และแผนงานขององค์กร ในการวางแผนกำลังคนขององค์กรนั้น ฝ่ายบุคคลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบเป้าหมายและแผนงานต่างๆ ขององค์กรอย่างชัดเจน บางองค์กรมีการจัดทำแผนกลยุทธ์ต่างๆ ออกมามากมายหลายๆ ด้าน แผนการเหล่านี้ ฝ่ายบุคคลจะต้องศึกษา และทำความเข้าใจเป็นอย่างดี เพื่อที่จะได้นำมากำหนดแผนทรัพยากรบุคคลได้อย่างสอดคล้องกับแผนของบริษัท
- กำลังคนปัจจุบัน กับผลงานที่ได้ หลัง จากที่เข้าใจเป้าหมายและแผนงานของบริษัทแล้ว ก็ต้องอย่าลืมหันกลับมาดูอัตรากำลังคนในปัจจุบันของบริษัท กับผลงานที่ออกมาว่าเป็นอย่างไร จำนวนคนที่ทำงานนั้นมีสภาพเป็นอย่างไรบ้าง เช่น เหนื่อยมาก ทำงานแทบไม่ได้หยุดเลย หรือ สบายเกินไป นั่งว่างๆ แบบไม่มีอะไรจะให้ทำมากนัก เราคงต้องหาสัดส่วน หรืออัตราส่วนของอัตรากำลังคน กับผลงานขององค์กร ซึ่งอาจจะแยกออกในแต่ละฝ่ายได้ โดยดูว่าผลงานของแต่ละฝ่ายที่ออกมานั้น ด้วยกำลังคนที่มีอยู่เป็นอย่างไร เพียงพอหรือไม่ เมื่อเทียบกับเวลาที่ใช้ไปในแต่ละปี ปกติก็จะวิเคราะห์กันทุกปี และเอาตัวเลขสัก 3 ปีย้อนหลังมานั่งพิจารณาดูเรื่องของอัตรากำลังกับผลงานรวมของบริษัทว่ามีแนว โน้มแบบใด
- หาแนวโน้มของอัตรากำลังในอนาคต พอ ถึงขั้นตอนนี้ เราก็พอจะคำนวณหาอัตรากำลังสำหรับแผนงานในปีถัดไปได้คร่าวๆ แล้วว่า ถ้าเป้าหมายและแผนงานขององค์กรเพิ่มขึ้นในลักษณะนี้ เมื่อเทียบกับผลงานในปีที่ผ่านมา ขึ้นสักกี่ % จากนั้นก็เอามาคำนวณหาอัตรากำลังคนที่จะต้องเพิ่มขึ้นเพื่อมารองรับแผนงาน ใหม่ในอนาคตได้ อย่างไรก็ดีอัตรากำลังที่คำนวณได้นี้ เป็นเพียงแค่กรอบตัวเลขเท่านั้น ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบ
- พิจารณาอัตราการลาออกของพนักงานในบริษัท ถัด ไปที่จะต้องพิจารณาก็คืออัตราการลาออกของพนักงานว่า แนวโน้มจากอดีตที่ผ่านมานั้น บริษัทเรามีอัตราการลาออกอยู่ที่เฉลี่ยสักเท่าไหร่ในแต่ละปี เพื่อที่จะได้เอาตัวเลขนี้มาใช้ในการปรับแต่งแผนกำลังคนที่คำนวณได้มาจากข้อ ที่แล้ว จะได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น
- พิจารณาจำนวนพนักงานที่จะเกษียณอายุ และพนักงานที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง นอก จากอัตราการลาออกของพนักงานแล้ว สิ่งที่เราจะต้องพิจารณาอีกก็คือ จะมีพนักงานอีกสักกี่คนที่จะเกษียณอายุในปีถัดไป และจะมีพนักงานสักกี่คนที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นมา เพื่อที่จะได้ดูว่าเราจะต้องหาพนักงานเพิ่มเพื่อเข้ามาทดแทนสักกี่คน จากนั้นก็เอาไปรวมกับแผนอัตรากำลังคนที่ได้คำนวณไว้แล้ว ก็จะได้แผนกำลังคนในปีถัดไป ซึ่งก็สามารถที่จะแยกเป็นฝ่ายๆ ได้เช่นกัน
- พิจารณาความรู้และทักษะของพนักงาน อีก เรื่องหนึ่งที่เวลาเราวางแผนทรัพยากรบุคคลแล้วมักจะลืมคำนึงถึงก็คือ เรื่องของความรู้และทักษะของพนักงานปัจจุบันที่ทำงานอยู่ เทียบกับแผนงานในอนาคตที่วางไว้ เพื่อดูว่า ทักษะของพนักงานที่มีอยู่นั้นสามารถที่จะสร้างผลงานได้ตามที่คาดหวังได้หรือ ไม่ ถ้าไม่ได้ก็จะกลายเป็นแผนการพัฒนาคน และแผนการหาคนที่มีความรู้ และทักษะนั้นๆ เข้ามาเสริมทัพของบริษัท ก็จะกลายเป็นอัตรากำลังเพิ่มเติมบวกเข้าไปในแผนอัตรากำลังที่วางไว้อีกเช่น กัน
- พนักงานมีความสุข และมีแรงจูงใจในการทำงานสักแค่ไหน เรื่อง สุดท้ายที่จะต้องพิจารณาให้ดีก็คือ บรรยากาศในการทำงานของพนักงานในองค์กร ว่าพนักงานมีความสุขในการทำงานมากน้อยสักแค่ไหน หรือในบางองค์กรเรียกว่า ความผูกพันของพนักงาน องค์กรที่พนักงานทำงานด้วยความสุขและความพอใจ หรือมีความผูกพันต่อองค์กรในระดับที่สูง พนักงานจะทำงานสร้างผลงานที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งองค์กรลักษณะนี้จะใช้กำลังคนน้อยกว่าองค์กรอื่นโดยเฉลี่ย เนื่องจากพนักงานหนึ่งคน จะสามารถสร้างผลงานได้มากกว่าปกติ เนื่องจากเขามีความสุขที่จะทำงานนั่นเอง ผิดกับพนักงานที่ไม่มีความสุขในการทำงาน แรงจูงใจก็น้อย ดังนั้นหนึ่งคน ก็จะสร้างผลงานที่น้อยลง ผลก็คือ อาจจะต้องมีการคำนวณอัตรากำลังเผื่อไว้ด้วยเช่นกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น