วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

ว่าด้วยเรื่องของ Social Network กับการทำงานของพนักงานในองค์กร

จากการเติบโตของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้เกิดวิธีการทำงาน และการติดต่อสื่อสารกันในรูปแบบใหม่ๆ มากมาย เกิด Social Network ที่พนักงานแทบทุกคนจะต้องมีการใช้งานมัน ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Line, Whatsapp, Skype และอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกมากมายตามมาในอนาคต ซึ่งเรายังคิดไม่ออกว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง


จากการที่เกิดสิ่งต่างๆ เหล่านี้ขึ้น ก็เลยทำให้วิถีการใช้ชีวิตของคนเราเปลี่ยนแปลงไปมากมาย จากอดีตสักประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งโทรศัพท์มือถือยังมีเฉพาะกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น คนส่วนใหญ่ยังต้องอาศัยโทรศัพท์บ้าน และโทรศัพท์สาธารณะบ้าง และเรื่องของ Internet นั้นก็ยังไม่แพร่หลาย อย่างทุกวันนี้ แต่พอเวลาผ่านไปไม่นาน ทุกคนเริ่มมีโทรศัพท์มือถือ แม้กระทั่งเด็กเล็กๆ ก็มี บางคนมีมากกว่า 1 เครื่อง และทุกวันนี้ทุกคนสามารถติดต่อกันโดยเครือข่าย Internet กันได้ เรียกว่าเกือบทุกคนจะติด net กัน วันไหนไม่ได้เข้า หรือเข้าไม่ได้ จะเกิดความรู้สึกอึดอัด เหมือนชีวิตขาดอะไรไป

ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคปัจจุบัน เครื่องมือใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น tablet ซึ่งตอนนี้แทบทุกคนจะต้องมีอยู่ในมือ บางคนก็ใช้เพื่อทำงานประกอบอาชีพ บางคนก็ใช้เพื่อความเพลิดเพลิน แต่ที่ใช้เหมือนกันก็คือ การติดต่อสื่อสารกันกับเพื่อนๆ บอกเพื่อนๆ ให้รู้ว่าเราคิดอะไร หรือรู้สึกอย่างไร บางคนก็ใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการสร้างอาชีพเสริม โดยการขายของผ่าน net มากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ยังทำงานประจำกันอยู่

ผลก็คือ ทำให้คนเราสมัยนี้ เกือบทุกเวลาจะต้องหยิบเอาอุปกรณ์เหล่านี้ขึ้นมาดู มาตรวจเช็ค มาอ่าน มาตอบ มาระบาย ซึ่งก็ต้องไปเบียดบังเวลาการทำงานในบริษัท สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พนักงานที่มาทำงานนั้น ใช้เวลาทำงานจริงๆกันสักกี่ชั่วโมง และใช้เวลาไปกับการติดต่อสื่อสารใน Social Network กี่ชั่วโมง ทำให้ Productivity ในการทำงานของพนักงานลดลงไปเยอะมาก เมื่อเทียบกับการทำงานในยุคก่อน แต่จริงๆ ก็อาจจะเทียบกันไม่ได้ เพราะมีตัวช่วยเยอะ ก็เลยทำให้งานเสร็จได้เร็ว เวลาเหลือเยอะก็เลยมีเวลาทำอย่างอื่นได้มากขึ้น

แต่อย่างไรก็ดี เวลาทำงานก็คือเวลาทำงาน ถ้าพนักงานเอาเวลางานมาทำ หรือเล่น Social Network ที่เป็นส่วนตัว ก็ถือว่าผิดระเบียบบริษัท แม้ว่าจะไม่ร้ายแรงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ตาม ดังนั้นระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรในยุคปัจจุบัน จึงต้องคิดถึงเรื่องเหล่านี้ไวด้วย ผมเองได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารหลายๆ องค์กร ในเรื่องของวิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ก็เลยลองเอามาเล่าสู่กันฟังสักหน่อย
  • จัดทำระเบียบข้อบังคับในเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา เดิมทีไม่เคยมีระเบียบการใช้ Internet การใช้ social network เกิดขึ้นในองค์กร แต่ตอนนี้ก็ต้องเขียนมันขึ้นมา เพื่อเป็นการป้องกัน และใช้เป็นระเบียบปฏิบัติสำหรับพนักงานในเรื่องเหล่านี้ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้การทำงานเป็นการทำงานจริงๆ บางองค์กรถึงกับให้ฝ่าย IT บล็อกระบบ ไม่ให้พนักงานเข้าระบบ Social Network ได้ในระบบของบริษัท แต่อย่าลืมว่าปัจจุบันโทรศัพท์มือถือก็มี พนักงานเข้าในบริษัทไม่ได้ ก็เข้าด้วยเครื่องมือของตนเอง ซึ่งระเบียบก็ต้องครอบคลุมสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไว้ด้วยเช่นกัน ล่าสุดที่ได้อ่านเจอ ก็คือ คำพิพากษาฎีกา ว่าด้วยเรื่องนี้ว่า พนักงานที่ใช้เวลาของบริษัทไปกับการเล่น Social Network ที่เป็นเรื่องส่วนตัว และขายสินค้าส่วนตัวผ่านช่องทางนี้โดยใช้เวลาในการทำงาน ซึ่งพนักงานก็ได้รับการตักเตือนแล้ว และถูกเลิกจ้างได้โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นี่ก็เป็นสิ่งที่พนักงานในองค์กรพึงระวังไว้ด้วยเช่นกัน
  • ปรับวิธีการทำงาน โดยนำเอา Social Network มาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน บาง องค์กรและบางหน่วยงานก็คิดนำเอา Social Network เขามาใช้ในการทำงานด้วยเลย ผู้บริหารบางท่านก็คิดว่า พนักงานอยากเล่นนัก ก็เลยมอบหมายให้ไปคิดต่อว่า จะเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้ในการทำงานได้อย่างไรบ้าง และทำให้การเข้า Social Network เป็นเรื่องของการทำงานตามเวลาปกติทั่วไป แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังคงต้องมีระเบียบปฏิบัติเขียนไว้ให้ดีด้วย เพราะการทำแบบนี้เท่ากับว่าพนักงานสามารถใช้เวลาของบริษัทมาทำอะไรส่วนตัว ได้มากขึ้นอีกเช่นกัน
  • ดูกันที่ผลงานสุดท้ายจริงๆ บางองค์กรไม่อยากคิดมาก หรือต้องมายุ่งยากในเรื่องเหล่านี้ ก็มีนโยบายปล่อยอิสรเสรีให้กับพนักงาน ใครอยากทำอะไรก็ทำไป จะใช้เวลาอย่างไรก็ให้บริหารกันเอาเอง แต่สิ่งเดียวที่จะต้องทำให้ได้ก็คือ ผลงานที่คาดหวังจากองค์กร กล่าวคือ วัดกันที่ผลงานจริงๆ โดยไม่สนใจว่า พนักงานจะใช้เวลาไปกับอะไรเท่าไหร่ มากน้อยแค่ไหนแต่ขอให้งานออกมาได้ตามปริมาณและคุณภาพที่กำหนดไว้เป็นใช้ได้
อย่างไรก็ดี เรื่องราวเหล่านี้ เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย เพราะมันเป็นชีวิตประจำวันของคนเราเกือบทุกคนไปแล้ว ดังนั้นองค์กรเองก็ควรจะมีแนวทาง หรือมาตรการในการป้องกันพฤติกรรมบางอย่างของพนักงานที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นใน การทำงานไว้ให้ดี

นอกจากการลงโทษแล้ว สิ่งที่จะต้องส่งเสริมก็คือ เรื่องของการสร้างจิตสำนึกในเรื่องของความสำเร็จขององค์กรร่วมกัน และการสร้างความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของบริษัท หรือเจ้าของงานนั้นๆ เพื่อที่จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าจะต้องทำงานนั้นให้สำเร็จให้ได้ เพราะมันคือความรับผิดชอบ และคือความสำเร็จที่เราจะต้องสร้างมันขึ้นมาให้ได้

ด้วยการสร้าง จิตสำนึกในลักษณะนี้ จะทำให้พนักงานรู้สึกถึงความรับผิดชอบในงานของตนมากขึ้น และจะพยายามใช้เวลาที่มีในการสร้างผลงาน เพื่อให้งานของตนเองประสบความสำเร็จมากขึ้นนั่นเอง แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นแบบนี้นะครับ เพียงแต่ขอให้พนักงานส่วนใหญ่คิดและทำแบบนี้ ด้วยสภาพสังคมภายในองค์กรก็จะไปทำให้พนักงานที่ทำตนไม่ถูกต้องต้องปรับปรุง ตัวใหม่ ให้สอดคล้องกับค่านิยมและบรรทัดฐานส่วนใหญ่ขององค์กร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น