วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

อย่าให้การพัฒนาพนักงานในองค์กร ไปเหมือนกับอันดับการศึกษาของประเทศไทย


จากที่ได้ยินข่าวการจัดอันดับเรื่องการศึกษาของประเทศไทยในภูมิภาคนี้ ที่ประเทศเราถูกจัดอันดับไว้ในอันดับที่ 8 ซึ่งถือว่าอยู่ในกลุ่มที่รั้งท้าย ก็ทำให้รู้สึกว่า ประเทศเราคงต้องมีการพัฒนา และปฏิรูปการศึกษากันอีกมากทีเดียว เพื่อที่จะให้คนไทยมีอ่านออกเขียนได้มากขึ้น และเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่เทียบเท่ากับประเทศชั้นนำในภูมิภาคเดียวกัน


มีผลการศึกษาวิจัยเรื่องของนโยบายการพัฒนาพนักงานที่ออกมาในปี 2013 นี้ ซึ่งเป็นการทำการสำรวจจากผู้เข้าร่วมจำนวนประมาณ 180 บริษัท ได้ทำการตอบข้อมูลแนวทางในการบริหารทรัพยากรบุคคลของบริษัทตนเอง และทาง PMAT ก็ได้รวบรวม และทำการวิเคราะห์ผลออกมา จริงๆ มีอยู่หลายเรื่องที่น่าสนใจ ซึ่งผมจะทยอยเอามาเขียนให้อ่านกันนะครับ

ผลการสำรวจในเรื่องของนโยบายการพัฒนาพนักงานออกมาสรุปได้ดังนี้
  • ทุกบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจ ต่างก็มีหน่วยงานฝึกอบรม ที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาพนักงานของตนเอง
  • 29% ของบริษัทที่เข้าร่วมการสำรวจ มีการจัดทำระบบ Competency เพื่อใช้ในการพัฒนาพนักงานของตนเองอย่างเป็นระบบ ซึ่งก็มีการแบ่งเป็น Core Competency, Managerial Competency และ Functional Competency ซึ่งประเด็นนี้ก็ถือได้ว่า บริษัทในบ้านเราเริ่มที่จะมีการนำเอาระบบการพัฒนาพนักงานสมัยใหม่มาใช้กัน มากขึ้น
  • 30% ของบริษัทที่เข้าร่วม ยังคงใช้ระบบการฝึกอบรมแบบเดิม ก็คือ ไม่มีการทำ Competency แต่ใช้วิธีการสำรวจความจำเป็นในการฝึกอบรมจากหน่วยงานต่างๆ และหัวหน้างานแต่ละคนที่มีต่อลูกน้องของตนเอง และนำเอามารวบรวมเป็นชุดหลักสูตรฝึกอบรมกันตามแนวทางพัฒนาพนักงานแบบเดิม
  • อีก 31% กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาระบบ Competency ซึ่งก็แสดงว่า ถ้ากลุ่มนี้พัฒนาระบบเสร็จแล้ว ก็จะมีบริษัทจำนวนถึง 60% ที่มีการนำเอาระบบ Competency มาใช้ในการพัฒนาบุคลากรของตนเองในบริษัท
  • ผลการสำรวจยังบอกอีกว่า จำนวน Core Competency ที่นิยมใช้กันมากที่สุดก็คือ 5 ตัว
  • บริษัทจำนวน 70% เข้าใจว่า การพัฒนาพนักงานก็คือ การส่งพนักงานไปฝึกอบรมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
  • จำนวนชั่วโมงเฉลี่ยที่ส่งพนักงานเข้ารับการฝึกอบรม ผลการสำรวจออกมาคือ 20 ชั่วโมงต่อปี
เมื่อเห็นผลจากการสำรวจที่ออกมา ก็ยังพอทำให้รู้สึกว่า เรื่องของการพัฒนาพนักงานขององค์กรในบ้านเรานั้น แต่ละองค์กรต่างก็ให้ความสำคัญในการพัฒนาคนมากขึ้น จากเดิมที่เคยมีชั่วโมงการฝึกอบรมเฉลี่ยแค่เพียง 6-7 ชั่วโมงต่อปีต่อคนเท่านั้น ตอนนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 20 ชั่วโมงต่อคนต่อปีแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่บอกเราได้ว่า องค์กรส่วนใหญ่เน้นเรื่องการพัฒนาคนมากขึ้นนั่นเอง

แต่ประเด็นที่อยาก จะย้ำอีกครั้งก็คือ แนวทางในการพัฒนาคนนั้น ไม่ใช่มีแต่เรื่องของการส่งไปฝึกอบรมอย่างเดียวเท่านั้น เรายังสามารถใช้วิธีการอื่นได้อีกมากมาย ยิ่งในสมัยนี้เทคโนโลยีพัฒนาไปไกลมาก เราก็สามารถพัฒนาพนักงานโดยอาศัยเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ เช่น การให้เรียนผ่านเว็บไซต์ต่างๆ การเรียนทางไกล หรือการศึกษาด้วยตนเอง ฯลฯ แนวทางเหล่านี้ ก็ล้วนแต่เป็นแนวทางในการพัฒนาพนักงานได้ทั้งสิ้น ไม่จำเป็นต้องมองแต่การฝึกอบรมเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ดี ก็ยังมีอีกหลายองค์กรที่มองเรื่องของการพัฒนาคนว่าเป็นเรื่องสิ้นเปลือง เสียเวลา เสียเงิน ทำให้องค์กรมีกำไรน้อยลง ผมเองก็ยังสงสัยอยู่ว่าทำไมเขาถึงมองการพัฒนาคนเป็นแบบนั้น เท่าที่พยายามหาคำตอบก็ได้ออกมาว่า ส่วนใหญ่องค์กรที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการพัฒนาพนักงานนั้น ผู้บริหารมักจะเป็นคนที่มองใกล้ ไม่ได้มองไกลเลย มองความสำเร็จแค่เพียงวันนี้ พรุ่งนี้เท่านั้น ไม่ได้มองไปอีก 3-5 ปีข้างหน้าเลย

เพราะถ้าเราต้องการให้องค์กรประสบความสำเร็จจริงๆ สิ่งที่ผู้บริหารจะต้องทำก็คือ จะต้องมองการณ์ไกล องค์กรจะพัฒนาได้ ก็เมื่อพนักงานได้รับการพัฒนาก่อน เพื่อเอาความรู้ ทักษะ ใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนาองค์กรให้ต่อยอดออกไปได้อีก ถ้าเราต้องการให้องค์กรประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ก็ต้องเน้นการพัฒนาคนให้มากขึ้น และตรงประเด็นมากขึ้น

อย่าให้การพัฒนาพนักงานขององค์กรในบ้านเราต้องไปอยู่ในอันดับท้ายๆ เหมือนกับระบบการศึกษาของเราเลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น