วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556

เมื่อ Yahoo ประกาศเลิกนโยบายทำงานที่บ้าน


ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาถ้าได้อ่านหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารของประเทศอเมริกา จะมีข่าวเรื่องของบริษัท Yahoo ที่CEO ได้ประกาศยกเลิกนโยบายการทำงานที่บ้าน (Work from home) ซึ่งเป็นข่าวคราวที่คึกโครมมาก และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมาย ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย


เดิมทีที่ Yahoo ใช้นโยบายการทำงานที่บ้านนั้น ทางบริษัทมีแนวคิดว่า จะบริหารจากผลงานของพนักงานแต่ละคน ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมานั่งทำงานที่บริษัท พนักงานก็สามารถที่จะนั่งทำงานที่ไหนก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ จะต้องสร้างผลงานให้ได้ตามที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด อีกทั้งเป็นบริษัททางด้านไอที ก็เลยคิดว่า นี่น่าจะเป็นการสร้างความยืดหยุ่นในการทำงานให้กับพนักงานได้เป็นอย่างดี

จากนโยบาย การทำงานที่บ้าน จึงทำให้พนักงานของ Yahoo ไม่จำเป็นต้องเข้าบริษัท เพียงแค่ใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยก็สามารถสร้างงาน สร้างผลงานให้กับบริษัทได้

แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ผลงานของ Yahoo เริ่มถอยหลังลงเรื่อยๆ จากเคยเป็นบริษัทอันดับหนึ่ง ก็เริ่มถดถอย และเสียตำแหน่งทางธุรกิจให้กับบริษัทอื่น อย่าง Google จากนั้นก็มีการเปลี่ยน CEO มาอีกหลายคน จนกระทั่งมาถึงคนปัจจุบันที่เป็น CEO ผู้หญิง

และเมื่อดำรงตำแหน่งได้ไม่นานนัก ก็ประกาศเลิกนโยบายการทำงานที่บ้านของพนักงาน ให้พนักงานทุกคนต้องเข้ามาทำงานในบริษัท ซึ่งก็ทำให้เกิดผลตามมามากมาย มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ทั้งดี และไม่ดี แต่ CEO ของ Yahoo ให้เหตุผลว่า

การทำงานที่บ้านนั้น ทำให้พนักงานขาดทักษะในการทำงานหลายอย่าง เช่น
  • ขาดทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น การทำงานที่บ้านนั้นทำให้พนักงานไม่ต้องพูดคุยอะไรกะใครมากนัก นั่งทำงานคนเดียว ผลก็คือ เวลาที่ต้องการความร่วมมือในการทำงานบางอย่าง ก็จะมีปัญหาในการทำงานเข้ากับคนอื่น ซึ่งก็จะส่งผลต่อการทำงานเป็นทีม หรืองานโครงการบางอย่าง ซึ่งทำให้ผลงานในภาพรวมขององค์กรแย่ลงเช่นกัน
  • ขาดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ การ ทำงานที่บ้านนั้น ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดความคิดใหม่ๆ เพราะการที่จะคิดอะไรได้ใหม่ๆ นั้นจะต้องมีการพูดคุยกัน การให้ความเห็นการโต้เถียงกัน การต่อยอดซึ่งกันและกัน ซึ่งถ้านั่งทำงานที่บ้านคนเดียวนั้น ทำให้พนักงานคิดอะไรใหม่ๆ ไม่ค่อยออก ความคิดตีบตัน นี่ก็เป็นผลที่ทำให้ Yahoo ไม่มีอะไรใหม่ๆ ออกมานานมากแล้วเมื่อเทียบกับ Google
ด้วยนโยบายของ CEO คนใหม่ ต้องการที่จะให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในงานมากขึ้น เพื่อให้องค์กรอยู่รอด ก็เลยต้องประกาศเลิกนโยบายการทำงานที่บ้านลง เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีโอกาสคุยกัน ทำงานร่วมกัน และมีการคิดต่อยอดซึ่งกันและกัน ส่งผลทำให้เกิด Innovation มากขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง

อ่านจากข้อเขียน และเหตุผลที่ CEO ให้มา ก็น่าคิดนะครับ ธุรกิจที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ หรือความคิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนนั้น จำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีการทำงานร่วมกันของพนักงาน มิฉะนั้นคงยากที่จะเกิดความคิดใหม่ๆ ได้

ส่วนในมุมของผู้ไม่เห็นด้วย ส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่า CEO คนใหม่นี้ไม่มีความเชื่อถือพนักงาน เพราะการทำงานที่บ้านนั้นแปลว่าเราจะต้องเชื่อมั่นพนักงานมาก โดยไม่สนใจว่าพนักงานจะทำงานที่ไหนหรืออย่างไร แต่เราจะวัดผลงานกันที่ ผลลัพธ์ที่ออกมาเท่านั้น พอประกาศเลิกนโยบายนี้ ก็เลยมีคนเชื่อว่า CEO ไม่เชื่อใจพนักงาน ต้องการเห็นพนักงานนั่งทำงานในบริษัท

แต่อย่างที่กล่าวมานะครับว่า การเลิกนโยบายนี้อาจจะส่งผลต่อความรู้สึกพนักงานอยู่บ้าง พนักงานเองอาจจะไม่ชอบ และถูกวิจารณ์อย่างหนัก

แต่ถ้าผลประกอบการในอนาคตออกมาดีจริงๆ ผมว่าตอนนั้น ก็คงจะมีแต่คนชื่นชมว่า ดีแล้วที่เลิกนโยบายการทำงานที่บ้าน ก็เป็นได้นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น