วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2556

Well-Being กับการสร้างความผูกพันของพนักงานในองค์กร

เมื่อ วานนี้ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องของ Well-Being กับชีวิตของเราเอง วันนี้จะเอาแนวคิดนี้มาเชื่อมโยงกับการสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร ว่าถ้าใช้ 5 ปัจจัยที่กล่าวไปเมื่อวานนี้ (อ่านซ้ำได้ที่นี่ครับ http://wp.me/pBmlU-171) เพื่อมาสร้างความผูกพันของพนักงานได้ต้องคิด และเชื่อมโยงแต่ละปัจจัยในเรื่องของอะไรบ้าง



ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็มีกล่าวไว้บ้างเหมือนกันเกี่ยวกับ 5 ปัจจัยทางด้าน Well-Being สำหรับการสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็เอามาประยุกต์ใช้กันได้ ซึ่งงานวิจัยที่ผู้เขียนได้ทำไว้นั้น ได้ผลออกมาอย่างชัดเจนว่าถ้าองค์กรสามารถสร้าง Well-Being ทั้ง 5 ด้านให้กับพนักงานได้ พนักงานก็จะรู้สึกผูกพันต่อองค์กรมากขึ้น ลองมาดูกันครับว่า 5 ปัจจัยที่กล่าวมานี้ มีอะไรบ้าง
  • Career Well-Being ปัจจัย แรก ก็คือ เรื่องของ Career มองได้ทั้งความรักความชอบในงานของพนักงาน ซึ่งแปลว่าองค์กรก็ต้องคัดเลือกพนักงานที่มีความชอบในงานที่ทำ และนอกจากนั้น ก็ยังต้องสามารถทำให้พนักงานเห็นถึงความเติบโตในสายอาชีพนั้นๆ ได้ด้วยว่า ถ้าทำงานนี้ในองค์กรไปนานๆ แล้วจะเติบโตไปทางไหนได้บ้าง และมีโอกาสสักแค่ไหนที่จะเติบโต รวมทั้งถ้าอยากจะเติบโต จะต้องทำอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้ถ้าองค์กรมีความชัดเจน พนักงานเองก็จะรู้สึกว่าทำงานที่นี่มีความมั่นคง และมีโอกาสเติบโตได้ ความทุ่มเทอยากสร้างผลงานก็จะเกิดขึ้น
  • Social Well-Being ปัจจัยที่สองก็คือเรื่องของสังคม เพื่อนพ้อง หัวหน้า องค์กรสามารถทำให้พนักงานรู้สึกถึงการมีสังคมที่ดีหรือไม่ มีเพื่อนร่วมงานที่ดี ทำงานกันเป็นทีม มีหัวหน้าที่ดี มีความเข้าใจลูกน้อง มีกิจกรรมร่วมกันสำหรับสร้างสังคม และทีมงานที่ดี สิ่งเหล่านี้จะทำให้พนักงานรู้สึกถึงความสุขใจ เพราะคนเราเป็นสัตว์สังคมอยู่แล้ว ดังนั้นย่อมต้องการเพื่อน ต้องการมีคนพูดคุย เห็นใจกัน ถ้าองคก์รสามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ พนักงานก็จะรู้สึกถึงความสุขในการทำงานที่นี่ การที่จะคิดลาออกก็จะต้องคิดแล้วคิดอีก เพราะเขาอาจจะไม่ได้เจอสังคมแบบนี้ในที่ทำงานอื่นก็เป็นได้
  • Financial Well-Being ปัจจัย ที่ 3 เป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ องค์กรจะต้องมีระบบการบริหารค่าตอบแทนที่แข่งขันได้ กล่าวคือ ไม่มาก หรือไม่น้อยเกินไป ทำให้พนักงานรู้สึกว่าทำงานแล้วไม่ต้องไปกังวลเรื่องของค่าตอบแทน เพราะองค์กรจ่ายในระดับที่แข่งขันได้อยู่แล้ว นอกจากค่าตอบแทนแล้ว ก็ยังมีเรื่องของสวัสดิการต่างๆ ด้วย ถ้าพนักงานรู้สึกว่า ค่าตอบแทนและสวัสดิการของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ที่แข่งขันได้ รวมทั้งระบบการให้รางวัลตอบแทนมีความเป็นธรรม เขาก็จะยินดีทุ่มเททำงานให้องค์กรมากขึ้น
  • Physical Well-Being ปัจจัย ที่ 4 ในเรื่องของสุขภาพกายและใจของพนักงานนั้น ในปัจจุบันถ้าจะประยุกต์แนวคิดนี้ไปใช้ในการสร้างความรู้สึกผูกพัน ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการสร้าง Work-Life Balance ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเวลาการทำงานที่มีความยืดหยุ่น การให้เวลากับพนักงานในการใช้ชีวิตส่วนตัวเพื่อพัฒนาสุขภาพกายและจิตใจ รวมทั้งเวลาสำหรับครอบครัว โดยสนับสนุนให้พนักงานสามารถทำงานและใช้ชีวิตส่วนตัวได้อย่างสมดุล
  • Community Well-Being ปัจจัย สุดท้ายก็คือ การสร้างสภาพแวดล้อมขององค์กรในด้านอื่นๆ อาทิ ความปลอดภัยในการทำงาน ทั้งร่างกายและจิตใจ วัฒนธรรมขององค์กร ภาวะผู้นำของตัวผู้นำองค์กร สิ่งเหล่านี้มีผลต่อความรู้สึกผูกพันของพนักงานทั้งสิ้น
จริงๆ ในเรื่องของการสร้างความผูกพันของพนักงานนั้นมีหลายแนวคิดมากครับ แต่ในแต่ละแนวคิด ก็จะมีความคล้ายคลึงกันอยู่พอสมควร จริงๆ แล้วอาจจะเหมือนกันด้วยซ้ำไป เพราะแนวคิดเหล่านี้ก็สร้างและศึกษามาจากความต้องการของคนเรา ซึ่งก็มีความต้องการที่ไม่ค่อยจะแตกต่างกันเท่าไหร่ ผลสุดท้ายปัจจัยในการสร้างความผูกพันก็ไม่ค่อยแตกต่างกันในแต่ละแนวคิดมากนัก

อย่างไรก็ดี องค์กรที่ต้องการจะสร้างความผูกพันของพนักงานนั้น ไม่ควรจะมาถกเถียงกันเรื่องของแนวคิดว่าของใครดี หรือไม่ดี จนลืมไปว่า จริงๆ แล้วต้องการสร้างความผูกพันให้กับพนักงานไม่ใช่ต้องการแนวคิดที่ดีเลิศ ผมเคยเห็นบางองค์กรรู้หมดเลยว่าแนวคิดใครเป็นอย่างไร ดีไม่ดีอย่างไร แต่กลับไม่สามารถนำเอาแนวคิดนั้นไปใช้ในการสร้างความผูกพันของพนักงานใน องค์กรได้ แบบนี้รู้ก็เหมือนไม่รู้จริงมั้ยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น